อยากทำธุรกิจให้ก้าวหน้า ลูกน้องไม่เสียขวัญ อย่าเป็นผู้นำ “เจ้าอารมณ์”

TEXT : อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา



Main Idea

 
  • ใครกันจะชอบหัวหน้างานเกรี้ยวกราด ฉุนเฉียวง่าย ควบคุมอารมณ์ตนเองไม่ได้ เพราะต่อให้เงินเดือนดีสวัสดิการเด่นแค่ไหน แต่พนักงานก็พาลจะลาออกได้ง่ายๆ เพราะทนหัวหน้าไม่ไหว
 
  • กัลลัพ (Gallup) บริษัทที่ปรึกษายักษ์ใหญ่ระดับโลก ทำวิจัยพบว่ามี 12 ปัจจัย ที่ส่งผลให้พนักงานมีความผูกพันและอยากอยู่กับองค์กรต่อไป ซึ่งมีอย่างน้อย 9 ข้อ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมและการวางตัวของหัวหน้างาน 
 
  • องค์กรไหนที่เริ่มมีพนักงานลาออกเยอะๆ จนผิดสังเกต ลองหันกลับมาดูที่หัวหน้างานว่ามีพฤติกรรมขับไสไล่ส่งพนักงานหรือไม่  หรือลองลงทุนพัฒนาหัวหน้างานดูบ้าง บางทีต้นเหตุของปัญหาอาจอยู่ไม่ไกล เพียงแต่มองไม่เห็นเท่านั้น




     วันก่อนมีโอกาสคุยกับอ้วนซึ่งเป็นเพื่อนรุ่นน้องสมัยที่เรียนหนังสือด้วยกัน เป็นเพราะความที่ไม่ได้เจอกันนาน และพอมีเวลาทั้งคู่ หลังจากทักทายถามไถ่สารทุกข์สุกดิบกันพอสมควร ก็เปลี่ยนมาคุยเรื่องงาน


     อ้วนเป็นหัวหน้าระดับกลางของบริษัทขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง เขาเป็นคนรักองค์กรมาก จากที่ได้คุยกัน อ้วนพูดถึงบริษัทในแง่ดีตลอดแถมยังตบท้ายด้วยว่า ถ้าไม่มีอะไรมาบีบคั้นมากเกินไป ก็ตั้งใจจะเกษียณที่นี่


     ผมสะกิดใจเลยถามว่าแล้วอะไรที่สามารถบีบคั้นให้ออกได้ เขาบอกว่า อย่างแรกคือ “สุขภาพ” อีกอย่างคือ “หัวหน้างาน”


     หัวหน้างานเหรอ!...ผมสะดุดกับคำนี้มาก เลยถามต่อ





     อ้วนเล่าให้ฟังว่า หัวหน้าของเขาเป็นผู้บริหารระดับสูง เป็นคนดีเกือบทุกประการ คอยสอนงานให้โดยไม่หวงวิชา รักและหมั่นคอยดูแลเอาใจใส่เรื่องความเป็นอยู่ของลูกน้องโดยเฉพาะผลตอบแทนและสวัสดิการ นัยว่าเพื่อเป็นการบำรุงขวัญและกำลังใจ นอกจากนั้น เวลาลูกน้องเดือดร้อนอยากให้ช่วยอะไร ก็ยินดีช่วยอย่างสุดความสามารถ ฟังดูแล้วนับว่าเป็นหัวหน้าในฝันของหลายๆ คนเลยทีเดียว 


     แต่มีปัญหา 2 อย่างคือ เป็นคนเจ้าอารมณ์ ขี้หงุดหงิด ฉุนเฉียวง่ายและเป็นห่วงภาพพจน์ของตัวเองมาก ชนิดเสียหัวไม่ว่าเสียหน้าไม่ได้ ประมาณนั้นเลย


     “อารมณ์ฉุนเฉียวขนาดไหน” ผมถาม





     ขนาดคุมอารมณ์ไม่ได้ เวลาโมโหจะคำรามด้วยเสียง 8 หลอด สิงสาราสัตว์ชนิดต่างๆ ถูกเรียกออกมาแบบไม่ขาดสาย นอกเหนือจากการระบายออกทางคำพูดแล้ว บางครั้งก็ระบายออกทางการกระทำหรือกับสิ่งของด้วย เช่น ทุบโต๊ะ ชกประตู ฟาดแฟ้มเอกสาร ขว้างที่เย็บกระดาษ เป็นต้น 


     “กังวลเรื่องภาพพจน์ขนาดไหน” ผมถามต่อ


     ขนาดให้ลูกน้องเตรียมเอกสารจำนวนมหาศาลก่อนการประชุมล่วงหน้าเป็นเวลาหลายสัปดาห์จนแทบไม่ต้องทำงานอื่น ซ้อมแล้วซ้อมเล่าเป็นสิบๆ รอบ หากต้องนำเสนอ ใครพูดจาดูแคลนนิดหน่อย จะโกรธเป็นฟืนเป็นไฟและต้องเอาชนะให้ได้


      บางคนรู้แกว ก็แหย่ๆ แกไป อยากได้ตัวเลขดีๆ แค่แกล้งพูดจาดูถูกสักนิดหน่อย ด้วยความอยากเอาชนะ เสียหน้าไม่ได้ แกจะกลับมาบี้ลูกน้องจนแบนแต๊ดแต๋ รีดผลงานออกมา เพื่อเอาไปอวดคนที่ปรามาสแกว่า “เอ็งดูข้าผิดไป” 
ใครทำงานด้วย ถ้าตั้งสติไม่ดีมีโอกาสวิปลาส ผมถามอ้วนว่าแล้วจัดการอย่างไรกับหัวหน้าแบบนี้ เขาบอกว่าก็ทนๆ ไป หลีกได้ก็หลีก หลบได้ก็หลบ เวลาแกของขึ้น คล้ายคนบ้า ต้องรีบหลบลี้หนีหน้า


      ฟังแล้วก็ได้แต่ยกมือขึ้นสวดภาวนา ขอให้ฟ้าปกป้องเขา ผมไม่แปลกใจเลย ทำไมเขาจึงบอกว่าถ้าจะลาออก ก็เพราะทนหัวหน้าไม่ได้






     กัลลัพ
 (Gallup) บริษัทที่ปรึกษายักษ์ใหญ่ระดับโลก เคยทำงานวิจัยแล้วพบว่ามีเพียง 12 ปัจจัยเท่านั้นที่ส่งผลให้พนักงานมีความผูกพันและอยากอยู่กับองค์กรต่อไป


     เชื่อหรือไม่ว่าใน 12 ปัจจัยนั้น มีอย่างน้อย 9 ข้อ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมและการวางตัวของหัวหน้างาน (สนใจรายละเอียดเรื่องนี้เพิ่มเติม ค้นหาคำว่า Q12 ของ Gallup ในกูเกิล)


      ดังนั้น จะพบว่าการกระทำของหัวหน้ามีอิทธิพลอย่างมากต่อการที่พนักงานจะอยู่ต่อหรือจากไป ปีเตอร์ ดรักเกอร์ กูรูด้านการบริหารจัดการที่มีชื่อเสียงผู้ล่วงลับ เคยกล่าวไว้ว่า “พนักงานเข้าทำงานเพราะองค์กร แต่ลาออกเพราะหัวหน้า (People join organization but leave their bosses)” ยังคงเป็นความจริง แม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนไปสักเพียงใดก็ตาม


     กรณีของอ้วน สามารถนำมาเป็นอุทาหรณ์ให้กับผู้บริหารหลายๆ คนได้เป็นอย่างดี จริงอยู่เงินทองและผลตอบแทนเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับคนทำงาน แต่อย่ามองข้ามพฤติกรรมของหัวหน้างานในทุกๆ ระดับไป เพราะพวกเขาใกล้ชิดกับพนักงานมากกว่าผู้บริหารและหน่วยงาน HR หากหัวหน้าไม่ดี แม้องค์กรจะใหญ่โตและมีชื่อเสียงขนาดไหน จ่ายค่าจ้างงดงามสักเพียงใด ก็ยากที่จะฉุดรั้งคนทำงานที่เก่งๆ ดีๆ มีความสามารถ ไว้กับองค์กรได้ เพราะคนเหล่านี้มีทางไป อย่าลืมนะ โบราณว่า คับที่อยู่ได้ คับใจอยู่ยาก


     เพราะฉะนั้นจากนี้ไป เมื่อมีพนักงานลาออกเยอะๆ จนผิดสังเกต ลองหันกลับมาดูที่หัวหน้างานก่อน พวกเขามีพฤติกรรมอะไรที่ช่วยขับไสไล่ส่งพนักงานให้ออกจากองค์กรไปหรือไม่ ในทางกลับกัน หากอยากแก้ปัญหาพนักงานลาออกบ่อย (High Turnover Rate) ลองลงทุนพัฒนาหัวหน้างานดูบ้าง บางทีต้นเหตุของปัญหาอาจอยู่ไม่ไกล เพียงแต่มองไม่เห็นเท่านั้น


     หลายๆ องค์กร เสียดายเงินทองที่ต้องเสียไปกับการอบรมพัฒนาที่ดูเหมือนว่าจะวัดผลความสำเร็จได้ยาก แต่กลับยอมเสียเงินเสียเวลาจำนวนมหาศาลไปกับการสรรหาและว่าจ้างพนักงานใหม่เพื่อมาทดแทนคนเก่าที่ลาออกไปอย่างไม่รู้จบสิ้น ชนิดไม่คิดเสียดายแม้แต่น้อย เข้าข่าย เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย


      คนเราก็แปลกดีนะ นี่แหละหนาที่เขาเรียกว่า “คน”
 




www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: MANAGEMENT

เขียนสัญญาเช่ายังไงให้รัดกุม ธุรกิจไม่เสียเปรียบ

สัญญาเช่า เรื่องใกล้ตัวผู้ประกอบการหลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่รู้ไหมการมีสัญญาเช่าที่ดีและรัดกุม สามารถป้องกันปัญหาและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้มากมาย

ทำงานให้ได้งาน 4 เทคนิคบริหารเวลา เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน

ทำไมบางคนงานท่วมหัว ทำงานยุ่งอยู่ตลอดเวลา แต่งานกลับไม่หมดซะที แถมยังส่งงานไม่ทันกำหนด เราเลยมีเทคนิค เช่น Eisenhower Matrix, Eat that frog, Pomodoro และ กฎ 80/20  ซึ่งจะช่วยให้บริหารเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพและชีวิตการทำงานไม่เครียดอีกต่อไป

ประชุมยังไงให้ได้งาน เทคนิคจาก 4 คนดังที่ประสบความสำเร็จ 

การประชุมที่มีประสิทธิภาพนำไปสู่ความสำเร็จ มักจะมีปัจจัยหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง เราจึงมีเคล็ดลับการประชุมที่แตกต่างกันของคนดังที่ประสบความสำเร็จ  พร้อมแนะนำเทคนิคที่จะช่วยให้การประชุมมีประสิทธิภาพมาฝาก