Main Idea
- องค์กรทั่วโลกกำลังมุ่งหน้าปฏิรูปธุรกิจด้วยดิจิทัล หรือ Digital Transformation เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์และบริการ โดยมุ่งเน้นไปที่ Cloud Computing, Big Data, and Information Security
- การปรับธุรกิจให้ก้าวสู่องค์กรดิจิทัลได้นั้น ต้องการบุคลากรไอทีที่มีทักษะ แต่ปัจจุบันตลาดแรงงานทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางด้านนี้
- หน่วยงานภาครัฐและเอกชนของไทยกำลังตื่นตัวในการเพิ่มพูนทักษะด้านไอทีและดิจิทัลให้พร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงานต่อไป
การทรานฟอร์มองค์กรเป็นสิ่งที่หลายหน่วยงานกำลังทำอยู่ในปัจจุบัน เพื่อปรับใช้เทคโนโลยีและใช้พลังของเทคโนโลยีเพื่อเอาชนะปัญหาความท้าทายและสร้างโอกาสใหม่ๆ สำหรับการขยายธุรกิจ ซึ่งฟันเฟืองสำคัญในการปรับธุรกิจให้ก้าวเป็นองค์กรดิจิทัลได้นั้น คือทักษะของบุคคลในองค์กรที่จำเป็นต้องถูกพัฒนาให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง
ตลาดแรงงานโลกขาดแคลนบุคลากรไอที
บริษัทวิจัยชั้นนำระดับโลกอย่างไอดีซี (IDC) สำรวจการเติบโตของตลาดไอทีทั่วโลก จากปี 2561 - 2565 เติบโต 25.8 เปอร์เซ็นต์ ยกตัวอย่างในสหรัฐอเมริกาพบการจ้างงานในตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับสายงานไอทีมีแนวโน้มโตขึ้น 13 เปอร์เซ็นต์ จากปี 2559 - 2569 เพิ่มขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยของทุกอาชีพ คาดการณ์ว่าในปี 2566 ทั่วโลกจะเผชิญกับปัญหาขาดแคลนบุคลากรไอทีกว่า 2 ล้านตำแหน่งเลยทีเดียว โดยความต้องการของตลาดแรงงานสำหรับสายงานไอที จะมุ่งเน้นไปที่ Cloud Computing, Big Data, and Information Security
ในขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศไทย ภายในปี 2565 เติบโต 61 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี โดยเงินลงทุนในเทคโนโลยีจะถูกนำไปใช้กับเทคโนโลยีพื้นฐานอย่าง Cloud, Mobile, Social and Big Data Analytics ส่งผลให้อัตราการจ้างงานด้านไอทีเติบโตควบคู่ไปด้วย เห็นได้จากผลสำรวจของ JobThai ที่พบว่าไตรมาสแรกของปี 2562 ตำแหน่งงานเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์และไอที เป็น 1 ใน 3 ของประเภทงานที่ต้องการและเป็นแรงงานเติบโตมากที่สุด ขณะเดียวกันก็เป็นที่มาของปัญหาการขาดแคลนบุคลากรของตลาดไอทีในปัจจุบัน
เตรียมทักษะให้นักศึกษาก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน
สิ่งสำคัญคือทักษะของบุคคลในองค์กรที่จำเป็นต้องถูกพัฒนาให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง โดยจากรายงานของ World Economic Forum: The Future of Jobs Report 2018 เปิดเผยว่า ในภาพรวมแล้ว ประมาณ 49 เปอร์เซ็นต์ของการฝึกงานของนิสิตนักศึกษาเกิดขึ้นภายในองค์กร และเป็นโอกาสที่ดีที่นักศึกษาจะได้เรียนรู้จากการทำงานจริง และจากผู้เชี่ยวชาญในสายงานนั้น ๆ เพื่อเพิ่มทักษะก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงานในอนาคต
นาถ ลิ่วเจริญ ประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัท ซีดีจี ผู้ให้บริการด้านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศแบบครบวงจร แก่องค์กรภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน กล่าวว่า “ทักษะด้านไอทีและดิจิทัลมีส่วนสำคัญต่อการนำเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้กับระบบการทำงานเพื่อการยกระดับประสิทธิภาพธุรกิจ ความต้องการบุคลากรด้านไอทีจึงมีเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังเป็นอาชีพที่ขาดแคลนในตลาดแรงงานอย่างมาก การเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร หนึ่งในความท้าทายต่อการผลักดันประเทศไทยสู่เศรษฐกิจดิจิทัล และเพื่อให้บุคลากรด้านไอทีที่มีประสิทธิภาพเพียงพอและตรงกับความต้องการของตลาดอย่างแท้จริง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และยกระดับเศรษฐกิจประเทศให้ก้าวทัดเทียมนานาประเทศ”
รัฐ+เอกชนร่วมมือพัฒนาบุคลากรไอทีป้อนตลาด
ทั้งนี้ ภาครัฐและเอกชนไทยให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาขาดแคลนบุคลากรไอที พัฒนาโปรแกรมเมอร์ฝีมือดีออกสู่ตลาด เพื่อแก้ปัญหาโปรแกรมเมอร์หายาก การพัฒนาโปรแกรมเมอร์จากนิสิต นักศึกษาที่กำลังจะจบการศึกษาและจะเข้าสู่ตลาดแรงงานให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
ซีดีจีจึงดำเนินโครงการ iCODER เพื่อบ่มเพาะโปรแกรมเมอร์มืออาชีพ มุ่งสนับสนุนเส้นทางการเรียนรู้ด้านไอที เป็นปีที่ 8 มีนิสิตและนักศึกษาสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการแล้วทั้งสิ้น 1,359 คน และได้ส่งบุคลากรไอทีคุณภาพกว่า 10 เปอร์เซ็นต์เข้าสู่ตลาดแรงงานแล้ว เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร หนึ่งในความท้าทายต่อการผลักดันประเทศไทยสู่เศรษฐกิจดิจิทัล
ที่มา : CDG Group
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี