เก่งแล้วไง! จุดบอดของคนเก่งที่องค์กรต้องรู้ก่อนเลือกพนักงาน

TEXT: อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา






Main Idea
 
  • เวลาที่องค์กรต่างๆ เลือกรับพนักงานจบใหม่ หลายคนอาจดูจากเกรด เฟ้นหาพนักงานหัวกระทิที่ได้เกียรตินิยม โดยหวังว่า “คนเก่ง” เหล่านี้จะเข้ามาช่วยพัฒนาองค์กรให้ดีขึ้นได้
 
  • แต่ความจริงคนเก่งก็มีจุดบอดและข้อบกพร่องบางอย่าง ที่อาจทำให้คุณรู้สึกว่า เก่งไปก็เท่านั้นแหละ
 
  • เพราะในโลกของการทำงานที่แท้จริง มีอีกหลายปัจจัยที่ผลักดันให้พนักงานกลายเป็นคนเก่ง ไม่ใช่แค่เกรดเฉลี่ยเพียงอย่างเดียว คนที่เคยเก่งตอนเรียนอาจก้าวหน้าช้ากว่าคนที่เคยบ๊วยในห้องก็เป็นได้ มันเป็นเพราะอะไรกันนะ?





     บ่อยครั้งที่องค์กรจำนวนมาก ตัดสินใจรับเด็กจบใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์เข้ามาทำงาน โดยดูจากคะแนนตอนเรียนหนังสือเป็นสำคัญ คัดเฉพาะเด็กที่เรียนดี มีเกรดเฉลี่ยสูง เป็นหัวกะทิของโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย ในขณะเดียวกัน ตัวเด็กเองก็มีความมั่นใจและภูมิใจในความสามารถของตัวเองด้วยเช่นกัน


     แต่พอเวลาผ่านไปได้ไม่กี่ปี เด็กเหล่านี้กลับพบว่า แม้ตนเองจะฉลาดและเรียนเก่งกว่าเพื่อนคนอื่นๆ แต่ความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน กลับช้ากว่าบางคนที่เรียนไม่เก่งเสียด้วยซ้ำ


     เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น


     ลองพิจารณาข้อบกพร่องที่คนเก่งมักมองข้าม 5 อย่างต่อไปนี้ แล้วสังเกตตัวเองด้วยใจเป็นกลางว่า เป็นแบบนี้บ้างไหม?




     1. คนเก่งมักมองข้ามความสามารถด้านการสร้างสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ไป-ความฉลาดเป็นเรื่องของไอคิว (Intelligent Quotient) ส่วนความสามารถด้านการสร้างสัมพันธ์ เป็นเรื่องของอีคิว (Emotional Quotient) คนเก่งจำนวนไม่น้อยคิดว่าการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่น ไม่ใช่สิ่งจำเป็น เพียงแค่ทำหน้าที่ของตนให้สำเร็จลุล่วงได้ก็เพียงพอแล้ว 
แต่ในชีวิตจริง ความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ต้องอาศัยคนอื่นๆ ช่วยสนับสนุนด้วย อย่างน้อยที่สุดก็ต้องให้ นายดึง ลูกน้องดัน และเพื่อนร่วมงานสนับสนุน ถ้าจะไปคนเดียว รับรองไปได้ไม่ไกล


     สาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนเก่งมักเป็นเช่นนี้ มาจากประสบการณ์ที่พวกเขามีในวัยเด็ก คนพวกนี้เติบโตมาพร้อมกับคำป้อยอของผู้ใหญ่ว่าเป็นเด็กฉลาด อนาคตไกล กอปรกับประสบการณ์ในการเรียนหนังสือที่สามารถทำคะแนนสอบได้ดี มีคนยกย่องสรรเสริญ เป็นที่รักและภูมิใจของทุกๆ คน จึงส่งผลให้จิตใจจดจ่ออยู่กับความฉลาดของตนเอง ความคิดแบบนี้ติดตัวมาจนถึงวัยทำงานด้วย


     วิธีแก้ไข : ใช้จุดแข็งที่มี เอาชนะจุดอ่อนของตนเอง เช่นหากเป็นคนเรียนรู้เร็ว ก็ให้ตั้งใจเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ที่ขาดหายไป ไม่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนบุคลิกทุกอย่างที่เป็นเพียงแค่รู้จักวางแผนและเปิดใจ โดยอาจเริ่มต้นจากการพิจารณาว่า พฤติกรรมใดจะช่วยพัฒนาเรื่องการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีได้บ้าง


     2. คนเก่งมักคิดว่าการทำงานเป็นทีม ชักช้าน่ารำคาญ-เมื่อคนคนหนึ่งสามารถเข้าใจทุกอย่างได้อย่างรวดเร็วและลงมือทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ต้องมาพบกับใครอีกคนหรือหลายคนที่ต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจและลงมือทำ สิ่งที่ตามมาคือ ความหงุดหงิดรำคาญใจเป็นธรรมดา


     ความรู้สึกแบบนี้อาจเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยวัยเด็ก เมื่อต้องทำงานกลุ่มร่วมกับคนอื่นๆ ที่อาจรู้สึกว่าฉลาดน้อยกว่าและชักช้าไม่ทันใจ สุดท้ายหลายคนจบลงด้วยการคว้างานกลุ่มกลับมาทำเองคนเดียว เพราะได้ดังใจและไม่ต้องเสียเวลา พฤติกรรมแบบนี้จึงติดตัวมา ทำให้คนเก่งหลายคนไม่อยากกระจายงานให้คนอื่นทำเพราะคิดว่าทำเองได้คุณภาพดีกว่า และนี่คือปัญหาใหญ่สำหรับคนที่ต้องการความสมบูรณ์แบบ


     วิธีแก้ไข : พยายามทำความเข้าใจกับความรู้สึกของตนเอง และทบทวนดูว่าความรู้สึกเหล่านั้นมาจากไหน ที่สำคัญเรียนรู้ที่จะนำความคิดเห็นที่แตกต่างของทีมมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด




     3. คนเก่งส่วนใหญ่ ไม่ยอมพึ่งพาหรือขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น-การยึดติดกับความฉลาดมากเกินไป จะทำให้พยายามหลีกหนีจากสถานการณ์ที่ตนเองไม่รู้ เพราะรู้สึกว่า ความไม่รู้นั้นเป็นสิ่งที่รับไม่ได้ ในขณะเดียวกันก็จะไม่ยอมขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น เพราะลึกๆ คิดว่าการขอความช่วยเหลือเป็นสัญลักษณ์แห่งการยอมแพ้ จึงดึงดันเพื่อจะพิสูจน์ว่า ฉันทำได้ ส่งผลให้เกิดความผิดพลาดหลายประการ และกระทบต่อความก้าวหน้าในอาชีพการงานด้วย


     วิธีแก้ไข : ตั้งเป้าหมายให้ตนเองในการเรียนรู้จากคนที่อาจเก่งกว่าในเรื่องอื่น พาตัวเองไปอยู่ท่ามกลางคนฉลาดด้วยกัน คนเหล่านั้นจะช่วยนำทางไปในทิศที่ถูกต้อง เหมือนคำโบราณว่า คบบัณฑิต บัณฑิตพาไปหาผล อย่าลืมว่าการจะเจียระไนเพชรให้สวยงามก็ต้องใช้เพชรด้วยกันในการเจียระไน จงพัฒนาความสัมพันธ์กับผู้ที่คิดว่าจะสามารถให้ข้อมูลป้อนกลับ (Feedback) ได้อย่างสร้างสรรค์ เปิดใจรับฟังและนำกลับมาพิจารณาทบทวน


     4. คนเก่งมักเบื่อง่าย-คนฉลาดมักช่างสงสัยและชอบเรียนรู้ ดังนั้น เมื่อทำอะไรซ้ำๆ ไปสักระยะก็อาจรู้สึกเบื่อหน่าย ไม่อยากทำต่อ บางคนเป็นเอามากขนาดคนรอบข้างรู้สึกว่าเป็นคนเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ เริ่มทำอะไรไปสักพักก็เลิก เปลี่ยนไปทำอย่างอื่น


     หัวใจสำคัญของเรื่องนี้อยู่ที่ต้องทำความเข้าใจว่า ความสำเร็จบางอย่างอาจเกิดมาจากการได้ทดลองทำสิ่งใหม่ๆ ที่ได้คิดสร้างสรรค์ แต่ความสำเร็จหลายอย่าง เกิดจากการทำซ้ำๆ จนเกิดเป็นความชำนาญและกลายเป็นความเชี่ยวชาญในที่สุด


     วิธีแก้ไข : แทนที่จะหลีกหนีจากความน่าเบื่อเหล่านั้น จงใช้เวลาสั้นๆ กับความน่าเบื่อบางอย่างให้เต็มที่และสุดความสามารถ ลงมือทำจนเกิดความคล่องแคล่วเชี่ยวชาญ หลังจากนั้นถ้าจะเลิก ก็ไม่ว่ากัน




     5. คนเก่งมักคิดว่า แนวทางของตนคือหนทางสำเร็จในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น-คนเก่งมักประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาต่างๆ ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ความสำเร็จนี้ค่อยๆ ทำให้ความมั่นใจในตนเองสูงขึ้นจนเกินขนาด กลายสภาพมาเป็นอัตตา (Ego) ที่ยากจะทุบทำลายทิ้งได้ เลยทำให้บ่อยครั้งคนเหล่านี้ มักมองข้ามแนวทางในการแก้ปัญหาที่อาจมีประสิทธิผลมากกว่าหรือข้อเสนอแนะดีๆ ไปอย่างน่าเสียดาย 


     วิธีแก้ไข : พยายามพูดและแสดงความคิดเห็นให้น้อยลง ถามและฟังให้มากขึ้น ข้อเสนอแนะหรือแนวทางในการแก้ปัญหาใดที่ไม่คุ้นเคยหรือคิดว่าอาจจะไม่ได้ผล แต่ถ้าไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรง ถึงแม้จะเสียเวลาไปบ้าง ก็ลองทำดู ถือเป็นการเปิดโอกาสในการเรียนรู้ให้ตนเอง


     การเป็นคนเก่งและฉลาดนี่ว่ายากแล้ว แต่การเพิ่มความเก่งและความฉลาดให้มากขึ้น ด้วยการลดความยึดมั่นถือมั่นในตัวเองลง อันนี้ยิ่งยากกว่า 


     แต่ใช่ว่าจะทำไม่ได้...ลองดูครับ
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 


 

RECCOMMEND: MANAGEMENT

เขียนสัญญาเช่ายังไงให้รัดกุม ธุรกิจไม่เสียเปรียบ

สัญญาเช่า เรื่องใกล้ตัวผู้ประกอบการหลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่รู้ไหมการมีสัญญาเช่าที่ดีและรัดกุม สามารถป้องกันปัญหาและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้มากมาย

ทำงานให้ได้งาน 4 เทคนิคบริหารเวลา เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน

ทำไมบางคนงานท่วมหัว ทำงานยุ่งอยู่ตลอดเวลา แต่งานกลับไม่หมดซะที แถมยังส่งงานไม่ทันกำหนด เราเลยมีเทคนิค เช่น Eisenhower Matrix, Eat that frog, Pomodoro และ กฎ 80/20  ซึ่งจะช่วยให้บริหารเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพและชีวิตการทำงานไม่เครียดอีกต่อไป

ประชุมยังไงให้ได้งาน เทคนิคจาก 4 คนดังที่ประสบความสำเร็จ 

การประชุมที่มีประสิทธิภาพนำไปสู่ความสำเร็จ มักจะมีปัจจัยหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง เราจึงมีเคล็ดลับการประชุมที่แตกต่างกันของคนดังที่ประสบความสำเร็จ  พร้อมแนะนำเทคนิคที่จะช่วยให้การประชุมมีประสิทธิภาพมาฝาก