Main deal
- หลักการทำร้านอาหารหน้าที่สำคัญ คือ โค้ช จังหวะไหนให้ช้า จังหวะไหนควรเร็ว แต่ทุกจังหวะต้องให้กำลังใจ กัน ด้วยคำพูดที่สร้างสรรค์ แพ้ชนะไปด้วยกัน
- เคล็ดลับความสำเร็จของแบรนด์ตำมั่ว ไม่ได้มีเพียงแค่การเห็นช่องว่างในตลาดแล้วสามารถเติมเต็มได้ แต่อยู่ที่หลักการบริหารคน บริหารทีมแบบไม่มั่วด้วย
- แก่นของธุรกิจที่แท้จริงอาจไม่ได้อยู่ที่วิธีการ แต่อยู่ที่คนที่เข้าใจวิธีการและนำไปปฏิบัติ นี่คือวิธีคิดแบบพ่อค้าส้มตำที่ใช้หัวใจทำ
แม่ คือ ต้นแบบความสำเร็จ
“หลายครั้งที่ผมได้มีโอกาสแชร์ประสบการณ์ในฐานะผู้สร้างแบรนด์ ผู้ทำให้แบรนด์เติบโต สิ่งที่ผมพยายามสื่อสารคือ ความยั่งยืนของธุรกิจ วันนี้ผมมองย้อนกลับไปถึงวันที่แม่บริหารร้าน ผมแอบอิจฉาการบริหารคนของแม่ แม่ไม่ได้เรียนจบบริหาร ลูกน้องหลายคนอยู่กับแม่เพราะความรัก อยู่กันเป็นสิบปีอยู่จนถึงรุ่นลูกจนถึงวันนี้ ผมพอที่จะมองเห็นและเข้าใจว่าการมีน้ำใจอยู่กันแบบครอบครัว การเป็นผู้ให้มัน คือ การมัดใจชั้นดี
ไม่รู้ว่าแม่แอบไปเรียนบริหารมาตอนไหน หรือมัน คือ ความจริงใจในการบริหาร ผมพยายามที่จะเรียนรู้วิธีการ สมัยที่ผมเริ่มขายตำมั่วใหม่ๆ สิ่งแรกที่ทำ คือ ไปตลาด กินข้าวกับลูกน้อง ทำงานทุกอย่างที่ลูกน้องทำ วันนั้นทำเพราะอยากรู้ว่าแม่ทำไปทำไม แต่วันนี้ผมเข้าใจคำว่าเคียงบ่าเคียงไหล่ ถ้าวันนั้นผมเหนื่อยแทนเขาไม่ได้วันนี้คงไม่มีใครอยากเหนื่อยแทนผม
หลายครั้งแอบดีใจที่บริหารด้วยความไม่รู้ แต่เผลอบริหารด้วยความรัก มีครั้งหนึ่งที่ผมอาสาไปไล่ผีให้น้องๆ คนลาว ทั้งๆ ที่กลัวเพราะเขาเห็นผีกันทั้งร้าน (แอบพกพระไปแจกด้วย) สุดท้ายก็ได้เรียนรู้ว่าเขาต้องการผู้นำที่ไปยืนข้างๆพร้อมเจอปัญหาไปกับเขาไม่ใช่หมอผี ผมไปดักจับขโมยกับทีมทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่าเขามีอาวุธรึเปล่า เขาคงต้องการใครสักคนที่พร้อมจะดูแลความปลอดภัย (มาคิดได้ทีหลัง) นั่งเคลียร์เรื่องผัวเมียทะเลาะกันของลูกน้อง (ใครๆ ต้องการความสบายใจปัญหาน้อย ก็มีเวลาทำงานมากขึ้น) โชคดีไม่ได้เป็นลูกพี่ที่สั่งเก่ง ทั้งหมดที่ทำไปรู้สึกอย่างเดียว คือ “เขาเป็นทั้งลูกและน้อง” หลังๆ อินหนักเวลาที่ลูกน้องจะลาออกจะต้องตามหาเหตุผลว่า เพราะเรื่องส่วนตัว หรือเพราะเขาไม่รักตำมั่วแล้ว หรือเขาไม่รักลูกพี่แล้ว...ผมอยากรู้ ผมจะได้ปรับปรุงอย่างน้อยผมอยากให้ลูกน้องจากเราไปเพราะความรัก เจอกันยังทักทายกันเพราะเราเคยมีช่วงเวลาที่ดีร่วมกัน
เชื่อมือ เชื่อใจ และเชื่อมั่น
วันนี้ คือ วันที่ทุกคนมองว่าตำมั่วเดินมาไกล แต่สิ่งที่ผมยังปฏิบัติและอยากทำเสมอ คือ การเชื่อมือ เชื่อใจ และเชื่อมั่นให้กำลังใจทีม พูดจากันดีๆ สอนงาน ช่วยเหลือกัน (มีพี่คนหนึ่งที่รักกันมักพูดเสมอว่า ไปด้วยกันไปได้ไกล) ผมชอบการทำงานเป็นทีม โดยเฉพาะการทำร้านอาหารเราต้องมีกองหน้า กองกลาง กองหลัง ตัวสำรอง แต่หน้าที่สำคัญ คือ โค้ชจังหวะไหนให้ช้า จังหวะไหนให้เร็ว แต่ทุกจังหวะต้องให้กำลังใจ ให้สู้ ด้วยคำพูดที่สร้างสรรค์แพ้ด้วยกัน ชนะด้วยกัน ที่เล่ามาทั้งหมดคือการบริหารงานด้วยความรัก รักในงาน รักในทีม
ในฐานะคนเรียนภาพยนตร์ ผมมีประโยคหนึ่งของหนังที่ชอบมาก และคิดว่าจะนำมาประยุกต์ใช้ในการบริหารงาน มหาเถรบอกกับพระนเรศวร ว่าพระองค์ควรจะทำให้ทหารรู้ว่าพระองค์ตายแทนทหารได้ แล้วทหารจะพร้อมถวายชีวิตเพื่อพระองค์ (หนังเรื่องพระนเรศวร) ที่เขียนมายืดยาวทั้งหมด คือ วิธีคิดของคนเรียนศิลปะที่หันมาทำธุรกิจ
ลูกน้องอยู่ดี กินดี ลูกพี่ได้มากกว่า
อีกเรื่องที่อยากเล่าให้ฟัง คือการที่ทำให้ลูกน้องและทีมอินกับงานที่ทำมีหลายคนที่ไม่เคยกินและไม่ชอบปลาร้าแต่หน้าที่ผู้นำอย่างผม คือ หลอกล่อ บังคับให้ทดลอง จนทุกวันนี้หลายคนขาดปลาร้าไม่ได้ ผมว่าการทำธุรกิจ ถ้าเราหลงรักและสนุกกับมัน จะทำให้เราไปถึงเป้าหมายได้มากกว่า KPI (Key Performance Indicator หมายถึง ดัชนีชี้วัดผลงานหรือความสำเร็จของงาน เป็นเทคนิคหนึ่งที่นิยมนำมาใช้ประเมินผลการปฏิบัติงานในปัจจุบัน)
ผมว่า KPI มันไม่เซ็กซี่ มันไม่ชวนให้ผมทุ่มเท มันแค่การวัดและประเมิน แต่มันไม่ได้บอกถึงความมีใจของคน ผมกลับมองว่าการทำงานที่มีเป้าหมายชัดเจน ทั้งของเจ้านายและลูกน้องคือความสุขในการทำงาน ความภาคภูมิใจในธุรกิจที่กำลังร่วมกันสร้าง การมาใช้ชีวิตร่วมกันระหว่างการทำงาน ความรักในแบรนด์ ความรู้สึกหวงแหน คือ ความเซ็กซี่ที่ไม่สามารถวัดด้วย KPI และน่าจะสร้างด้วยการสร้างเป้าหมายให้ทีมและผลักดันด้วยความรักสานต่อด้วยความเข้าใจ สร้างการทำงานให้มีความสุขทุกวัน...ผลที่ได้น่าจะสวยงาม (คิดแบบคนโลกสวย) โชคดีที่เคยเป็นลูกน้องมากว่า 10 ปีเลยรู้ความต้องการขั้นพื้นฐาน ว่าจริงๆ แล้วทำให้ลูกน้องอยู่ดีกินดีแค่ไหน มีความสุขกับการทำงานแค่ไหน ลูกพี่ก็จะได้มากกว่านั้นหลายเท่า
แบไต๋ 3 สูตรลับฉบับ ‘ตำมั่ว’
ประสบการณ์ในการบริหารมั่วกว่า 10 ปีมันยังคงเป็นเพียงการเริ่มต้น ผมฝันที่จะเห็นการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยมีองค์ประกอบสำคัญ 3 อย่างที่คิดไว้เสมอ
1.คงความอร่อยที่มีความเฉพาะตัวชัดเจนใจการเป็นอาหารอีสาน (อาหารรสจัดถนัดเรื่องตำ) คนมากินตำมั่ว
เพราะมากินส้มตำเราเผ็ด เรารสจัด เราถึงเครื่อง เราทำแบบนี้มากว่า 10 ปีแล้ว เราทำมาตั้งแต่รุ่นแม่และเรายังคงต้องเดินในทางที่เราถนัดต่อไป ไม่ใช่แฟชั่น อะไรมาเราก็ลืมตัวตนและวิ่งตามคนอื่น เราเป็นแบรนด์อาหารอีสาน เราต้องการนำเสนออาหารอีสานให้คนภาคอื่นได้ชิมแบบต้นตำรับ เราไม่ต้องการดัดแปลงอาหารของเรา เราไม่ต้องการจะวิ่งตามใคร
2.แบรนด์จะดี คือ แบรนด์ที่ชัดเจน รู้ว่าจะขายอะไร ขายให้ใคร และสินค้าต้องดี ไม่ใช่โลโก้สวย สโลแกนดี การตลาดงดงาม แผนการตลาดสวยหรูแต่ปราศจากความมีตัวตน ยิ่งผู้บริโภคสมัยใหม่มีทางเลือกเยอะ มีความรู้มีข้อมูล การตลาด คือการสื่อสารไม่ใช่การหลอกลวงให้มาซื้อ ไม่ใช่แค่โปรโมชั่น หรือกลยุทธ์เรื่องราคา
3. คน จะทำยังไงให้ทีมเก่ง มีความชำนาญในงานที่ทำ จะทำยังไงให้มีบุคลากรที่มีความสามารถเติบโตมาเพื่อทดแทนกัน และ 3 ข้อ นี้มันไม่ใช่เรื่องยากแต่มันเป็นเรื่องที่เป็นแก่นของธุรกิจ ส่วนตัวผมเป็นคนที่ไม่ค่อยชอบเปลือก วิชาการ คือ แผนดี ความรู้เยอะ ต้นทุนต้องดี ค่าแรง ต้องไม่แพง การตลาดต้องปัง บลาๆๆๆ…แต่ถ้าผู้นำไปปฏิบัติไม่ได้มีใจร่วมไปกับคุณ ผมยังมองไม่ความสำเร็จแบบยั่งยืน
ฝากไว้อีกนิดว่า แก่นของธุรกิจที่แท้จริงอาจไม่ได้อยู่ที่วิธีการ แต่อยู่ที่คนที่เข้าใจวิธีการและนำไปปฏิบัติ ผมเชื่ออย่างนั้น..คิดแบบพ่อค้าส้มตำที่ใช้หัวใจทำ
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี