คุณว่าสิ่งสำคัญที่สุดในการทำธุรกิจคืออะไร? บางคนอาจจะตอบว่าสร้างสินค้าที่ผู้คนต้องการ บางคนอาจบอกว่าหาเงินให้ได้เยอะๆ ก็ประสบความสำเร็จแล้ว จะมีสักกี่คนที่ตอบว่าอยากทำให้ลูกน้องทำงานได้อย่างมีความสุข
หลายองค์กรมักจะประสบปัญหาพนักงานเข้าออกบ่อยเป็นว่าเล่น Turnover Rate สูงปรี้ด กว่าจะหาคนมาทำงานแทนก็เหนื่อย สอนงานก็เหนื่อย ทำงานไปสักพักลูกน้องหมดไฟ ใจเริ่มไม่รักในการทำงานก็ลาออกอีก กลายเป็นวงจรที่ทำให้ผู้ประกอบการหลายคนปวดหัว เพราะฉะนั้นคุณอาจจะต้องตัดไฟตั้งแต่ต้นลม มองหาสาเหตุและอาการของลูกน้อง หมั่นเช็คสุขภาพของพวกเขาอยู่เสมอ หากเขาเริ่มหมดไฟเมื่อไหร่จะได้จุดไฟให้พวกเขาได้ทันก่อนที่จะลาออก
อาการที่ 1 : Performance ในงานตกลงอย่างชัดเจน
จากคนที่เคยทำงานดีกลายเป็นคนทำงานผิดพลาด สั่งงานไปแล้วไม่ได้สิ่งที่ต้องการอย่างเมื่อก่อน จากที่เคยทำงานเสร็จด้วยความรวดเร็วแต่กลับส่งงานช้าผิดวิสัย ลองสังเกตดูว่าประสิทธิภาพในการทำงานของลูกน้องคุณคนไหนที่ตกลงไปอย่างชัดเจน อาจจะเป็นสัญญาณหนึ่งที่บอกว่าพวกเขาเบื่อหน่ายในงานเหลือเกิน
อาการที่ 2 : หน้าตาเหนื่อยล้า ไม่ร่าเริงเหมือนก่อน
พนักงานที่เคยร่าเริงสดใส พูดคุยกับเพื่อนร่วมงานอย่างเป็นมิตร คอยปรึกษาคุณตลอดกลับกลายเป็นคนที่ไม่พูดไม่จากับใคร ดูเบื่อหน่ายและอ่อนล้าตลอดเวลา อาจจะปลีกตัวเองไปอยู่คนเดียวเงียบๆ ไม่เข้าสังคมกับเพื่อนร่วมงาน อาการเหล่านี้ก็น่าเป็นห่วงเช่นกัน
อาการที่ 3 : ขาดลามาสายเป็นว่าเล่น
อยู่ดีๆ พนักงานของคุณที่เคยตรงเวลาก็มาสายเกือบทุกวัน บางทีก็ลาป่วยติดกันหลายวัน เริ่มหายหน้าหายตาไปจากบริษัท เลิกงานรีบกลับบ้านจนผิดปกติ
อาการที่ 4 : ไอเดียเริ่มหดหาย
หากว่าพนักงานของคุณที่เคยเต็มไปด้วยไอเดียดีๆ มีอะไรใหม่ๆ มานำเสนอตลอดกลายเป็นคนไร้ไอเดีย ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ ถามอะไรก็ไม่ได้คำตอบ เริ่มไม่อยากเป็นส่วนหนึ่งของทีม เป็นไปได้ว่าเขาเกิดอาการหมดไฟขึ้นมาจริงๆ
Cr : unsplash
อาการที่ 5 : ดูโทรมเหมือนไม่ได้ดูแลตัวเอง
ถ้าก่อนหน้านี้พนักงานของคุณแต่งตัวเนี้ยบ เซ็ทผมอย่างดี แต่งหน้าสวยมาทำงานทุกวัน เลือกชุดได้แมชท์กันตลอด แต่พอมาตอนนี้กลับปล่อยเนื้อปล่อยตัว ผมเผ้ายุ่งเหยิง หน้าสด ใต้ตาดำคล้ำเหมือนคนอดนอน ไม่ดูแลตัวเองอย่างที่เคยเป็น ก็เป็นอีกหนึ่งอาการที่ต้องระวังให้ดี
อาการที่ 6 : มีปัญหากับเพื่อนร่วมงาน
อยู่ดีๆ พนักงานที่เคยเข้ากับคนอื่นได้ดีกลายเป็นมีปัญหากับทุกคนจนน่าสงสัย เริ่มมองโลกในแง่ร้ายแต่ตั้งแง่กับทุกคน อย่าเพิ่งมองว่าเขาผิดแต่เขาอาจจะมีปัญหาอะไรในใจที่ไม่สามารถบอกใครได้ ลองคุยกับเขาด้วยเหตุผลและความเข้าใจ คุณอาจจะค้นพบปัญหาลึกๆ ในองค์กรที่ทำให้พนักงานคนหนึ่งเบื่อหน่ายกับการทำงานก็เป็นได้
อาการที่ 7 : ไม่มีสมาธิในการทำงาน
ด้วยความเครียดสะสมและอาการหมดไฟอาจจะส่งผลให้พนักงานของคุณขาดสมาธิในการทำงาน ไม่สามารถจัดการงานชิ้นหนึ่งให้เสร็จได้ตรงเวลาอย่างแต่ก่อน นั่งทำงานแบบจดจ่อไม่ได้นานๆ มีความคิดฟุ้งซ่านจนต้องลุกออกจากโต๊ะอยู่บ่อยๆ อาการแบบนี้ค่อนข้างน่าเป็นห่วงแล้วล่ะ
Cr : unsplash
วิธีแก้อาการพนักงานหมดไฟในองค์กร
อาการหมดไฟเป็นหนึ่งในอาการเริ่มต้นของโรคซึมเศร้า หลายเหตุผลมากมายที่เกิดขึ้นในองค์กรจนทำให้พนักงานหนึ่งคนสามารถเปลี่ยนจากคนที่เคยเต็มไปด้วยไฟในการทำงาน เคยร่าเริงสดใสกลายเป็นคนที่มืดมนเหมือนจู่ๆ ไฟก็ดับลงไปซะอย่างนั้น ไม่ว่าจะเป็นภาวะความกดดันในการทำงานที่เกินจะแบกรับไหว สภาพแวดล้อมในการทำงานที่ตึงเครียด เต็มไปด้วยการแข่งขันหรือการถูกมองข้ามจากหัวหน้า งานที่ทำดูเหมือนจะไร้ค่า ไร้ความหมาย ทำอะไรไปก็รู้สึกไม่ดีพอ
วิธีการแก้ไขปัญหานี้หรือการป้องกันไม่ให้พนักงานเกิดอาการหมดไฟที่คุณสามารถทำได้ อาจจะต้องเริ่มต้นจากสภาพแวดล้อมในการทำงาน ลองหันกลับมาดูสิว่าบรรยากาศในออฟฟิศเป็นอย่างไร ตึงเครียดไหม พนักงานดูไม่มีความสุขหรือเปล่า หรือแม้แต่ตัวคุณเองกดดันพนักงานมากเกินไปไหม หาวิธีลดความตึงเครียดในองค์กรดู ทำให้องค์กรเต็มไปด้วยความสุขเท่าที่จะทำได้
นอกจากนี้ควรเพิ่มความน่าตื่นเต้นในการทำงาน อย่าปล่อยให้พนักงานรู้สึกเหมือนตัวเองไร้ค่า ไร้ประสิทธิภาพ หาความท้าทายใหม่ๆ ให้กับพวกเขาอยู่เสมอ คอยผลักดันให้พวกเขาได้พัฒนาตนเองพร้อมกับค่าตอบแทนที่สมน้ำสมเนื้อ หมั่นพูดคุยกับพวกเขาแบบที่พวกเขารู้สึกว่าคุณแคร์ นึกไว้เสมอว่าลูกน้องคือส่วนหนึ่งขององค์กร คือส่วนหนึ่งของครอบครัวแล้วคุณจะรู้เองว่าควรปฏิบัติกับพวกเขาแบบไหน
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี