เรื่อง : เจษฎา ปุรินทวรกุล
เชื่อเถอะ ไม่มีพนักงานคนไหนชอบถูกสอนในที่ทำงานหรอก แต่ในฐานะผู้นำ คุณจำเป็นต้องสื่อสารกับพนักงานในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขับเคลื่อนและทิศทางกลยุทธ์ การสร้างวัฒนธรรมองค์กร และการประชุมเพื่อวางแผนให้บริษัทไปถึงเป้าหมาย ซึ่งสิ่งสำคัญคือวิธีการพูด ว่าจะพูดอย่างไรให้พนักงานฟังแล้วรู้สึกมีพลังและกระตือรือร้นขึ้นมา และนี่คือวิธีของ Jim McCann ผู้ก่อตั้งและ CEO ของเว็บไซต์ 1-800-Flowers.com ที่มักใช้พูดกับพนักงานเพื่อสร้างความกระตือรือร้นมากกว่าความห่อเหี่ยวหัวใจเมื่อได้ฟัง
1. ใช้อารมณ์ขัน
ไม่ว่าจะเป็นบริษัทที่มีขนาดเล็กหรือใหญ่ เวลาผู้นำกับพนักงานต้องคุยกันทีไร ย่อมมีเรื่องของความตึงเครียดและออร่าความห่างเหินต่อกันรายล้อมอยู่เสมอ พนักงานบางคนเกร็งจนถึงกับพูดอะไรไม่ค่อยออกเลยทีเดียวเพื่อลดความเหินห่างกับพนักงาน การใช้อารมณ์ขันหรือเรื่องตลกในการพูดคุย จะช่วยลดระยะห่างกับพนักงานได้มากขึ้น อย่างครั้งหนึ่ง Jim ได้ไปพบกับพนักงานใหม่ ก็เลยเริ่มต้นพูดกับเขาแบบไม่ถือตัว คุยกันอย่างเป็นธรรมชาติพร้อมกับลองออกเสียงคำว่า “New York” เป็น “New Yawk” ปรากฏว่าพนักงานใหม่คนนั้นขำ และเห็นว่าเขาสามารถเข้าหาได้ไม่ยาก
2. ถามคำถามปลายเปิด
อย่าตั้งคำถามแล้วให้เขาตอบ a b c แต่ลองถามคำถามกับเขาว่า “ลองบอกหน่อยสิว่าคุณมีความคิดเห็นเกี่ยวกับ...อย่างไร” จากนั้นเงียบ แล้วรอฟังคำตอบ มันเป็นเรื่องที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับพนักงานใหม่ ยกตัวอย่างเช่นคุณถามเขาเกี่ยวกับเรื่องไอเดียหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ วิธีนี้จะทำให้คุณสามารถพูดคุยกับเขาได้มากกว่า 1-2 ประโยคแน่นอน นอกจากนั้นยังเข้าถึงความรู้ ความสามารถและเรื่องราวที่เขาถนัดกับไม่ถนัดได้ด้วย ประเด็นสำคัญของการตั้งคำถามปลายเปิดก็คือ ตั้งคำถามให้กว้างเข้าไว้ เพื่อให้พนักงานสามารถตอบได้หลากหลายหรือต่อยอดบทสนทนาต่อไปได้ จากนั้นรอแล้วตั้งใจฟัง ไม่ยากเลยใช่ไหม ?
3. นำผู้อื่นเข้ามาในวงสนทนา
การที่หัวหน้าคุยกับลูกน้อง ความรู้สึกของหัวหน้าจะเหมือนเรื่องปกติที่คนธรรมดา 2 คนคุยกัน แต่ในความรู้สึกของลูกน้องจะรู้สึกเหมือนโดนคุมตัวไปสอบปากคำอะไรประมาณนั้น แม้ว่าเราจะบอกว่าคุยกันเพื่อขอไอเดียเฉยๆ แต่ความรู้สึกเกร็งเมื่ออยู่ต่อหน้าบอสแบบสองต่อสองก็ใช่ว่าจะหายไปได้ง่ายๆ
วิธีแก้ปัญหาก็คือการเพิ่มจำนวนผู้ร่วมสนทนา จากเดิมที่หัวหน้ากับลูกน้องคุยกันเพียง 2 คน ให้ลองเพิ่มใครเข้ามาอีกสักคน โดยให้เหตุผลว่าต้องการฟังความคิดเห็นหลายๆ คนเพื่อประกอบการตัดสินใจ ซึ่งใครสักคนที่ว่าอาจเป็นคนที่มีประสบการณ์มากกว่า น้อยกว่า หรือเพื่อนร่วมงานอีกคนก็ได้ทั้งนั้น วิธีนี้ค่อนข้างมีประโยชน์มาก เพราะมันทำให้เราได้ยินเสียงของพนักงานที่เริ่มนำเสนอไอเดียต่างๆ ที่เขามีออกมาเรื่อยๆ
4. ปล่อยเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ผ่านไปบ้าง
ถ้าคุณเป็นคนคนหนึ่ง ที่เริ่มสร้างธุรกิจขึ้นมาด้วยมือของตัวเอง รู้รายละเอียดขั้นตอนต่างๆ และพร้อมที่จะถ่ายทอดทั้งคำแนะนำและความเข้าใจในทุกสิ่งทุกอย่างให้กับพนักงานทุกคนแล้วละก็ เรื่องนี้ผมแนะนำว่า เราไม่จำเป็นต้องส่งความคิดทุกอย่างไปยังพนักงานก็ได้ หากมันไม่ใช่เรื่องร้ายแรงก็ปล่อยมันไปเถอะ
ครั้งหนึ่ง Jim เคยเข้าไปในร้านดอกไม้ของบริษัท และพบว่าผู้จัดการร้านไม่ได้ใส่ถุงพลาสติกเพื่อรองถังขยะเอาไว้ จากประสบการณ์ของเขา รู้ดีว่าการใส่ถุงพลาสติกรองถังขยะมันช่วยให้การทำงานสะดวกขึ้นขนาดไหน แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องที่เราต้องเอาความคิดทุกอย่างในหัวไปยัดเยียดให้กับเขา เขาอาจมีไอเดียหรือเหตุผลส่วนตัวของเขาก็ได้ อีกอย่าง เรื่องบางเรื่องพูดไปก็มีแต่จะทำให้บรรยายกาศการทำงานอึมครึมเสียเปล่าๆ
การสนทนาระหว่างผู้บริหารกับพนักงาน พนักงานจากแผนกต่างๆ และหัวหน้ากับพนักงานใหม่ มักจะเป็นแหล่งกำเนิดความคิดใหม่ๆ อยู่เสมอ ในฐานะที่คุณเป็นผู้นำ หน้าที่ของคุณคือ ทำให้การสนทนาเหล่านั้นเริ่มต้นขึ้นและทำให้มันดำเนินต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งถ้าถามว่ามันยากไหม ต้องบอกว่าคุณมีโอกาสทำให้มันเกิดขึ้นได้ทุกครั้งที่สนทนากับพนักงานนั่นแหละ
create by smethailandclub.com