คุณคิดว่าในระหว่างที่ต้องตื่นแต่เช้ามาทำงานทุกวัน ถึงเวลาเลิกงานเย็นกลับบ้าน จะยังมีเวลาทำธุรกิจของตัวเองได้หรือเปล่า? หากตอบว่า ได้ ลองคิดต่อไปอีกหน่อยสิว่าน่าจะทำได้สักกี่อย่าง? แน่นอนหลายคนอาจตอบว่าแค่ธุรกิจเดียวก็จะแย่อยู่แล้ว หรือเต็มที่อย่างมากก็อาจเป็นธุรกิจเล็กๆ เสริมขึ้นมาอีกอย่างหนึ่ง แต่สำหรับเธอคนนี้ “เรวดี เกตุแก้ว” ในเวลา 24 ชั่วโมง 7 วันเท่ากับคนอื่น เธอสามารถทำ 1 งานประจำ แถมพ่วงท้ายด้วยธุรกิจอีก 3 ตัว ซึ่งก็ไม่ใช่ธุรกิจเล็กๆ ที่ทำแค่ในประเทศด้วย แต่เป็นแบรนด์ไทยระดับพรีเมียมส่งไปขายไกลถึงเมืองนอกเมืองนา และที่น่าทึ่งยิ่งไปกว่า คือ ทั้งบริษัทมีพนักงานประจำอยู่แค่ 2 คน คือ เธอและพนักงานอีก 1 คนเท่านั้น! เธอทำได้ยังไง? และทำอย่างไรบ้าง? ลองไปฟังเรื่องราวน่าเหลือเชื่อจากเธอคนนี้ ไม่แน่คุณอาจได้เคล็ดลับดีๆ มาบริหารกิจการของตัวได้
“ตอนนี้ทำงานประจำเป็นผู้บริหารด้านการวางแผนกลยุทธ์และการตลาดให้กับสถาบันการเงินแห่งหนึ่ง นอกจากนี้ยังทำธุรกิจส่วนตัวอีก 3 อย่าง ได้แก่ 1. Raewadee Tea (บริษัท โกลเด้นเรย์ จำกัด) เป็นธุรกิจที่ทำตัวแรกเริ่มต้นเมื่อ 3 ปีที่แล้ว เป็นแบรนด์ชาไทยระดับพรีเมียม ที่เน้นส่งขายไปยังตลาดต่างประเทศ เพราะเราอยากยกระดับคุณภาพสมุนไพรไทยให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้นในตลาดโลก และอยากช่วยส่งเสริมเกษตรกรไทยด้วย 2. Nana Tea (บริษัท Healthy Wealthy Happy จำกัด) เป็นธุรกิจที่ต่อยอดจากธุรกิจตัวแรก เมื่อได้เดินทางไปออกงานแฟร์ที่ต่างประเทศอยู่บ่อยๆ ทำให้เราได้เห็นแหล่งผลิตวัตถุดิบสมุนไพรคุณภาพในประเทศต่างๆ จึงแตกไลน์นำเข้าวัตถุดิบผลิตชาที่ดีจากแหล่งผลิตต่างๆ ทั่วโลก มาผลิตเป็นชาพรีเมียม เพื่อเป็นทางอีกทางหนึ่ง และ3.ด้วยขณะนี้เทรนด์สุขภาพในไทยกำลังมาแรง เราได้เห็นสินค้าเพื่อสุขภาพดีๆ ในตลาดต่างประเทศมากมาย จึงอยากลองนำเข้ามาจำหน่ายในไทย ภายใต้บริษัท ภูมิสิริอินเตอร์เนชั่นแนลเทรดดิ้ง จำกัด โดยเริ่มต้นนำเข้ามาจากประเทศออสเตรเลียก่อน และในอนาคตตั้งเป้าว่าจะนำเข้าจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกเลย”
ในเวลาที่มีเท่าๆ กับคนอื่น แต่กลับสามารถบริหารจัดการธุรกิจและงานประจำได้เป็นอย่างดี ซึ่งนี่คือเคล็ดลับสำคัญที่เรวดีนำมาใช้บริหารจัดการ 3 ธุรกิจกับ 1 งานประจำของเธอ โดยมีอยู่ 2 ข้อหลักด้วยกัน คือ 1.การสร้างความเชื่อให้กับตัวเองว่าสามารถทำได้ และ 2.การวางแผนกลยุทธ์ และบริหารจัดการที่ดี
เชื่อว่าทำได้ ก็ทำได้
ทุกอย่างเริ่มต้นมาจากความเชื่อก่อน อย่างแรกเลยเราตั้ง Mindset ก่อนว่าเราทำได้ ถ้าเรามัวแต่คิดว่าทำงานประจำ ไม่มีเวลาหรอก ทำไม่ได้หรอก ไม่กล้าทำ เราก็จะอยู่แต่แบบนั้น แต่ถ้าเราปรับโหมดว่า ต้องทำได้ ทุกอย่างจะกลายเป็นทำได้เอง โดยไม่มีข้อแม้ เพราะสุดท้ายถ้าเชื่อว่าทำได้ เราก็จะหาทางออกหรือทางทำมันขึ้นมาจนได้เอง วัฏจักรหนึ่งของมนุษย์เงินเดือน หลายคนคิดว่าไว้ค่อยเริ่มทำธุรกิจเมื่อตอนเกษียณ เพราะพอเกษียณจะมีเงินก้อนหนึ่ง ก็เอาไปลงทุน ด้วยความที่ไม่เคยทำอะไรมาทั้งชีวิต ผลที่ได้มี 2 อย่าง คือ ถ้าไม่ประสบความสำเร็จไปเลยก็ล้มเหลว และหากต้องมาล้มในตอนนั้นเมื่ออายุ 60 แล้วเขาจะทำยังไงต่อไป อีกอย่างเมื่อเริ่มทำอะไรตอนนั้น แล้วร่างกายเราจะเปลี่ยนไปยังไง จะยังสามารถแข็งแรงได้เหมือนเดิมอยู่ไหม ฉะนั้นถ้าอยากเริ่มทำอะไร อยากให้ลองเริ่มตอนที่ยังมีแรง ตอนที่ยังไหวอยู่
วางแผนกลยุทธ์ หัวใจสำคัญ
ด้วยความที่ทำงานด้านวางแผนกลยุทธ์อยู่แล้ว จึงทำให้เรามองเห็นขั้นตอนกระบวนการต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น และสามารถบริหารจัดการได้ ซึ่งสามารถแบ่งออกมาเป็นข้อย่อยได้ 2 ข้อ คือ
1. Outsource เพื่อประหยัดเวลา ไม่ต้องลงมือทำเองทุกอย่าง
นอกจากคิดไอเดียและสร้างคอนเซปต์ทุกอย่างกว่า 90 % เราจะใช้วิธี Outsource เกือบทั้งหมด ตั้งแต่กระบวนการผลิต เริ่มตั้งแต่การเพาะปลูก เราก็ติดต่อไร่ที่เขาปลูกสมุนไพรแบบออร์แกนิกส์ ปลอดสารพิษ ในการผลิตชาเราก็หาโรงงานที่ได้มาตรฐานผลิตให้ แม้แต่การทำบัญชีเอง เราก็ให้บริษัทข้างนอกมารับทำให้ ทั้งบริษัทจะมีพนักงานประจำอยู่แค่สองคน คือ เราและน้องในทีมอีกคนช่วยดูแลด้านการขายให้เท่านั้น ด้วยวิธีการนี้ จึงทำให้เราสามารถทำธุรกิจได้ โดยไม่ต้องลงมือทำเองทุกอย่าง แต่ต้องบริหารจัดการทุกอย่างให้ลงตัวและเรียบร้อยที่สุด รู้ในทุกเรื่องของธุรกิจเรา
2.การจัดสรรเวลาที่ดี มีวินัยกับตัวเอง พยายามทำทุกวันอย่างสม่ำเสมอ
เราจะแบ่งเวลาก่อนเริ่มทำงาน คือ 06.00 – 08.30 น. และหลังจากเลิกงานประมาณทุ่มสองทุ่มไปแล้วให้กับธุรกิจ ตั้งแต่คุยกับน้องในทีม ไปจนถึงติดต่อประสานงานกับบริษัทที่รับ Outsource ต่างๆ และตั้งปณิธานไว้ว่าใน 1 วัน ไม่ว่าจะยุ่งแค่ไหนก็ตาม เราจะแบ่งเวลา 30 นาที เพื่อทำอะไรก็ได้ที่เป็นประโยชน์ให้กับธุรกิจของตัวเอง เพราะเชื่อว่าถึงจะทำได้มากหรือน้อย แต่ถ้าได้ลงมือทำทุกวันอย่างสม่ำเสมอ วันหนึ่งเราจะสามารถไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ได้ ซึ่งเป้าหมายสูงสุดอย่างหนึ่งของเราในการทำธุรกิจ คือ เราอยากช่วยคนไทย ซึ่งส่วนใหญ่ทำอาชีพเกษตรกรรม อยากเดินตามพระราชปณิธานของในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยอยากยกระดับคุณภาพสมุนไพรไทยให้เป็นที่รู้จักของคนทั่วโลกมากขึ้น สามารถสร้างมูลค่าได้เพิ่มขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ โดยตอนนี้เราใช้พาร์ทเนอร์จากฟาร์มออร์แกนิกส์ต่างๆ ส่งป้อนวัตถุดิบให้ แต่ในอนาคตเราวางแผนอยากทำเป็นศูนย์การเรียนรู้ให้เกษตรกรได้มาฝึกฝนเรียนรู้วิธีการปลูกพืชที่ไม่ใช่สารเคมีกับเรา จากนั้นให้เขากลับไปปลูกในวิธีที่เราสอน และนำมาขายให้กับเรา เราคิดวิธีการนี้จะทำให้เกิดความยั่งยืน และสามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้ ซึ่งตอนนี้เดินมาถึงครึ่งทางแล้ว เราสามารถทำสมุนไพรไทยให้เป็นที่รู้จักในตลาดต่างประเทศได้มากขึ้น ที่เหลือ คือ กลับไปวางระบบตั้งแต่ต้นทางอย่างที่เราได้คิดไว้
หลังจบบทสนทนาทางโทรศัพท์ เพื่อเป็นการประหยัดเวลาด้วยกันทั้งสองฝ่าย เรวดีเลือกที่จะส่งรูปถ่ายที่ทำเก็บไว้เป็นสต็อกส่งมอบให้กับเรา โดยเล่าว่านี่ก็คือ วิธีการบริหารจัดการอย่างหนึ่ง
“ปีที่แล้วมีนิตยสารมาขอถ่ายภาพเยอะ แต่เราทำงานประจำด้วยไม่มีเวลาบ่อยๆ เลยไปจ้างสตูดิโอถ่ายเป็นสต็อกภาพเก็บไว้ให้หลายๆ ชุด ถึงเวลาสัมภาษณ์จบทางโทรศัพท์เราก็ส่งรูปตามมาให้ทีหลัง นี่ก็คือ หนึ่งในตัวอย่างการบริหารจัดการอย่างหนึ่งเช่นกัน”เรวดีกล่าว
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี