อย่างที่รู้ๆ กันว่า คนเรานั้นมีอยู่หลายประเภท จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกอะไรถ้าจะเจอพนักงานบางคนที่ยากต่อการร่วมงานหรือเวลาจะสอนงานแต่ละอย่างให้ก็ดูยากเย็นเหลือเกิน จนกลายเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่คอยฉุดประสิทธิภาพโดยรวมขององค์กร แต่ถ้าอยากก้าวข้ามปัญหานี้ไป ลองมาดู 4 วิธีง่ายๆในการรับมือคนเหล่านี้กัน
ใส่ใจ ไม่ใช่จับผิด
หนึ่งในวิธีกระตุ้นพนักงานให้พร้อมที่จะเรียนรู้ คือการเอาใจใส่และต้องทำให้รู้ว่าคุณนั้นใส่ใจต่อตัวพวกเขาจริงๆ เชื่อหรือไม่ว่ามีพนักงานจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียวที่ทำงานไม่เต็มที่และไม่สนใจที่จะเรียนรู้ เพียงเพราะพวกเขาไม่เชื่อใจในตัวหัวหน้าหรือผู้นำองค์กร และในขณะเดียวกันพนักงานที่หัวหน้าไม่ค่อยให้ความสำคัญหรือใส่ใจจะส่งผลให้พวกเขานั้นไม่กระตือรือร้น ละความพยายาม ทำผลงานได้ไม่ดีและท้ายที่สุดก็จะเดินออกจากองค์กรไป ดังนั้นการเอาใจใส่อย่างจริงใจที่ไม่ใช่การจับผิดหรือคอยแต่ตำหนิจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ทำให้พวกเขามีความพยายามมากขึ้นและสามารถดึงศักยภาพที่ซ่อนอยู่ออกมาได้ซึ่งบางทีผลที่ได้รับมันก็ดีเกินคาด
นอกจากนี้ โดยทั่วไปพนักงานมีความต้องการที่จะรู้ว่าหัวหน้านั้นยอมรับในความสามารถหรือความสำเร็จของพวกเขาหรือไม่ เชื่อใจได้แค่ไหนและสามารถพูดคุยกันได้อย่างจริงใจหรือเปล่า ดังนั้นผู้นำที่ดีควรเปิดใจรับฟังในสิ่งที่ลูกน้องปรารถนา เข้าใจในจุดอ่อน ความกลัวที่จะเปลี่ยนแปลงและความไม่มั่นใจของพวกเขาเหล่านั้น เพราะคำว่า “ใจซื้อใจ” ยังใช้ได้อยู่เสมอ หากหัวหน้าหรือผู้นำให้ความเชื่อใจในตัวลูกน้อง พวกเขาก็จะมอบมันกลับมาให้คุณเช่นกัน
จัดการกับพฤติกรรมที่แย่ ไม่ใช่ตัวบุคคล
หากคุณอยากจะเปลี่ยนแปลงหรือทำให้ใครทำงานได้ดีขึ้นควรมุ่งจัดการไปที่พฤติกรรมการทำงานที่ไร้ประสิทธิภาพมากกว่าความเป็นตัวตนของบุคคลนั้นๆ เช่น หากลูกน้องมีพฤติกรรมไม่ชอบหน้ากันหรือไม่ถูกกันแล้วส่งผลกระทบต่อการทำงาน คุณสามารถหยิบเอาจุดนี้มาเป็นแรงกระตุ้นและเบนเข็มให้พนักงานเหล่านั้นหันมาแข่งขันกันเองเพื่อชิงความเป็นที่หนึ่งว่าใครจะมีความสามารถและทำงานได้ดีมากกว่ากัน ถือเป็นอีกวิธีดึงศักยภาพของพนักงานออกมาและเป็นประโยชน์ต่อบริษัท ดังนั้นหากคุณสามารถแก้ไขพฤติกรรมแย่ๆของลูกน้องได้ คุณก็จะสามารถฝึกและพัฒนาคนเหล่านั้นให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ช่วยวางแผนสู่เป้าหมายความสำเร็จ
การจะพัฒนาคนนั้นต้องอาศัยเวลาและต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไปเพราะคนเราไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้เพียงแค่ชั่วข้ามคืน ที่สำคัญคนเรามักจะกลัวและต่อต้านการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการเปลี่ยนแปลงแบบปัจจุบันทันด่วน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ผู้นำและลูกน้องต้องมีการวางแผนการทำงานที่มีความเฉพาะเจาะจง ประเมินผลได้ ทำให้สำเร็จได้จริง สมเหตุสมผลและกำหนดกรอบระยะเวลาที่ชัดเจนร่วมกันเพื่อทำให้แน่ใจว่าสิ่งต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นนั้นจะเป็นไปตามลำดับและขั้นตอนที่สามารถช่วยลดความกังวลของพวกเขาได้
สำหรับลูกน้องคนไหนที่เป็นประเภทชอบทำงานด้วยตัวเองและไม่ต้องการความช่วยเหลือจากใคร ผู้นำที่ดีควรถามพวกเขาเหล่านั้นว่ามีอะไรที่อยากจะพัฒนาบ้าง เพราะการได้พูดคุยและรับฟังในความคิดเห็นเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าคุณนั้นให้ความเชื่อใจในตัวเขาและพร้อมที่จะรับฟังอยู่เสมอ วิธีนี้นอกจากจะทำให้ได้เรียนรู้กันและกันแล้ว ยังเปิดช่องให้คุณได้มีโอกาสให้คำชี้แนะและสอนลูกน้องไปในตัวด้วย
หาทักษะที่มีของคนๆ นั้นให้เจอ
เมื่อแผนทุกอย่างที่วางไว้มันไม่เวิร์ค คราวนี้ก็ถึงตาที่คุณต้องเฉียบขาดและต้องทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนตำแหน่งหรือเลื่อนขั้นให้พนักงานไปอยู่ในที่ๆเหมาะสมตามความสามารถและทักษะที่คนๆนั้นมี คุณควรทำความเข้าใจว่าบางครั้งที่ลูกน้องทำงานไม่ดี ไม่ใช่เพราะพวกเขาไม่เก่ง แต่เป็นเพราะงานที่ทำอยู่นั้นไม่ตรงกับความสามารถที่เขามี และจะยิ่งแย่ไปกันใหญ่ถ้าเป้าหมายของพวกเขานั้นไม่ตรงกันกับที่บริษัทได้ตั้งเอาไว้ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้พวกเขาไม่มีความสุขในการทำงานและลดประสิทธิภาพในการทำงานลง ดังนั้นการรู้ว่าใครเหมาะกับหน้าที่อะไร ถือเป็นการ “Put the Right Man on the Right Job” ที่นอกจากจะช่วยพัฒนาศักยภาพของบุคลากรได้แล้วยังเป็นการหาคนที่ “ใช่” ให้กับบริษัทอีกด้วย
แต่อย่างไรก็ตาม การฝึกและสอนพนักงานให้ได้เรียนรู้นั้น ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเก็บคนๆ นั้นให้อยู่กับบริษัทเสมอไป เพราะบ่อยครั้งที่ทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับทุกคน คือการที่พนักงานได้ออกไปแสวงหาโอกาสอื่นๆ ที่เหมาะสมและตรงกับความต้องการของตัวเอง จำไว้ว่าผู้นำที่ดีนั้นย่อมรู้ว่าอะไรเป็นสิ่งที่ดีต่อตัวลูกน้องมากที่สุด ในขณะที่ยังรักษาความต้องการและเป้าหมายของบริษัทเอาไว้ได้
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี