เมื่อนานมาแล้วมนุษย์คิดว่าถ้าเราต้องการเปลี่ยนแปลงอะไรเพื่อให้ได้ “ผลลัพธ์” ที่ดีขึ้น “พฤติกรรม” มักเป็นตัวกำหนดบทบาทที่ชัดเจน แต่เมื่อศึกษาและค้นคว้าแบบเจาะลึกเราได้ค้นพบว่า จริงๆ ยังมีสิ่งที่เป็นพื้นฐานอยู่เบื้องหลังในการแสดงพฤติกรรมของแต่ละคน ที่เรียกว่า Mindset
โดยผู้ค้นพบอย่าง ดร. เทอรี่ วอร์เนอร์ (Dr. Terry Warner) อาจารย์นักวิจัยด้านจิตวิทยา ผู้ก่อตั้งสถาบัน Arbinger Institute ประเทศสหรัฐอเมริกา บ่งชี้ว่ามนุษย์เรามีการกำหนด Mindset ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
Inward Mindset หรือการมองที่เป้าหมายของตนเองเป็นใหญ่ ไม่เห็นคุณค่าและความสามารถของคนอื่น คนอื่นเป็นเพียงส่วนประกอบในการทำงานของตนให้ประสบความสำเร็จเท่านั้น
Outward Mindset คือ การมองคนอื่นสำคัญไม่น้อยกว่าตัวเรา โดยมองถึงเป้าหมายรวมของทีมเป็นสำคัญ ทุกคนต่างต้องปรับตัวเข้าหากันเพื่อทำให้งานสำเร็จลุล่วง
ทั้งนี้ จากการวิจัยจึงสรุปได้ว่า การปรับเปลี่ยน mindset นั้นเปรียบเสมือนการปรับเปลี่ยนเลนส์ในการมองโลก มองตัวเรา และมองคนอื่น ซึ่งจะนำมาสู่ความสมานฉันท์และทำให้ตัวเราสามารถใช้ชีวิต ไลฟ์สไตล์ และการทำงานได้อย่างเป็นสุข
ทั้งนี้ อริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการ SEAC (South East Asia Center) ศูนย์พัฒนาภาวะผู้นำและผู้บริหารระดับสูง ได้นำหลักสูตร “Outward Mindset” เข้ามาในเมืองไทย โดยหลักสูตรนี้ได้รับการเผยแพร่มาแล้วกว่า 20 ประเทศทั่วโลก โดยกล่าวว่า ในยุค 4.0 หรือ Disruptive World การใช้ Outward Mindset จะช่วยให้องค์กรอยู่ “รอด” ได้ ทำงานได้อย่างมีความสุข บรรลุตามเป้าหมายได้ แต่มันต้องเริ่มต้นจากผู้บริหารระดับสูงหรือผู้นำองค์กรที่ต้องเข้าใจ เพราะถ้าวันนี้ผู้บริหารหรือผู้นำองค์กรยังคิดแบบเดิม ยังใช้วิธีการมองแบบเดิมๆ เราก็จะได้ผลลัพธ์แบบเดิม ทั้งๆ ที่ยุคสมัยเปลี่ยนไปแล้ว แต่ถ้ามีการปรับมุมมองใหม่ๆ จะทำให้เกิดการขับเคลื่อนองค์กรครั้งสำคัญส่งผลต่อบุคลากรทุกระดับ ทำให้องค์กรขับเคลื่อนไปข้างหน้า
ตัวอย่างเช่น Microsoft ที่เผชิญปัญหาจาก Disruptive World อยู่หลายปีด้วยเหตุที่มีธุรกิจใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา เทคโนโลยีที่พัฒนากันอย่างก้าวกระโดดแบบไม่หยุดยั้ง AI ที่ฉลาดขึ้นอย่างน่ากลัว มีคู่แข่งใหม่ๆ ทั้งในและนอกอุตสาหกรรมที่สามารถมาท้าทายความสามารถทางการแข่งขันของคนหรือองค์กรที่เคยเรียกตัวเองว่าเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการได้อย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน Microsoft จึงมองว่าหากต้องการให้องค์กรอยู่รอดได้ในสภาวการณ์ที่มีการแข่งขันด้านการตลาดเกิดขึ้นอย่างรุนแรงแบบนี้ ผู้นำต้องเปลี่ยนเลนส์ในการมองโลก พนักงานต้องปรับมุมมองไม่ยึดติดกับความสำเร็จในอดีตและไม่โทษกันเองว่าแผนกใดที่ทำผิด หรือที่ทำให้องค์กรล้าหลัง แต่กลับกลายมาเป็นการมองที่เป้าหมายรวมขององค์กรว่าเพื่อให้ได้นวัตกรรม ให้ได้วิธีการคิดใหม่ๆ เพื่อออกมาซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ แต่ละคนจะสามารถช่วยกันทำอะไรได้บ้าง
หรือในกรณีการช่วยเหลือทีมหมูป่า ก็นับเป็นหนึ่งในการใช้ Outward Mindset ที่ชัดเจน เพราะทุกคนมองจุดสำเร็จที่ “ผลลัพธ์” หรือ “เป้าประสงค์” ในการช่วยเหลือหมูป่า 13 ชีวิตในออกมาจากถ้ำได้อย่างปลอดภัย จึงรวมใจในการปฏิบัติหน้าที่ที่แต่ละฝ่ายต้องรับผิดชอบ วางเป้าหมาย และยินดีให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทำให้เป้าประสงค์นั้นเกิดผลลัพธ์อย่างที่เห็น
ในภาพองค์กร หลายๆ ครั้งเราพยายามมุ่งไปหาผลลัพธ์ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพียงอย่างเดียว ซึ่งอาจทำให้เราไปถึงเป้าหมายได้ช้า หรืออาจไปได้ไม่ถึง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะบางครั้งคนที่ลงมือขับเคลื่อน มุ่งหน้าทำอะไรบางอย่างเพื่อไปหาเป้าหมายนั้นไม่ได้มีใจอยากทำ เสมือนว่าเป็นการทำเพราะต้องทำหรือโดนบังคับ แต่การขับเคลื่อนองค์กรด้วยเรื่องของ Mindset หรือสิ่งที่เป็นตัวกำหนดพฤติกรรมมนุษย์จะทำให้คนปรับมุมมอง เปลี่ยนวิธีการคิด ทำให้เขาเข้าใจว่าสิ่งที่เขาทำ บทบาทหน้าที่ของเขามีความสำคัญอย่างไร ส่งผลอย่างไรต่อทั้งตนเองและคนรอบข้าง ดังนั้นจึงปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน และมุ่งหน้าไปสู่เป้าหมายเพราะมีใจอยากทำ
วิธีคิดแบบ Outward Mindset ใช้ได้ทั้งในชีวิตส่วนตัวและการทำงาน โดยในชีวิตจริงเราสามารถใช้ Outward Mindset ได้ในทุกๆ วันโดย ดร. สิรยา คงสมพงษ์ ที่ปรึกษาอาวุโส SEAC ได้ยกกรณีตัวอย่างที่เกิดในชีวิตประจำวัน อย่าง “เวลาเราขึ้นรถไฟฟ้าแล้วได้ที่นั่งแต่เหลือบไปมองเห็นผู้สูงอายุ ในความตั้งใจแรกเราอาจจะลุกขึ้นให้นั่ง แต่ถ้าในวันนั้นเราไม่ลุกด้วยเหตุผลคือ เราเดินช้อปปิ้งเมื่อย นี่เป็นการคิดแบบ Inward Mindset คือมองเพียงตัวเอง มองโลกผ่านเลนส์ที่มีเป้าหมายของตนเองเป็นหลัก ทำให้เรามองคนอื่นด้อยกว่าหรือเทียบเท่ากับวัตถุ หรืออาจเรียกได้ว่าคือวิธีการมองโลกแบบที่ความต้องการหรือเป้าหมายของตนเองสำคัญที่สุด
แต่ถ้าเรามองแบบ Outward Mindset เราจะลุกให้นั่งผู้สูงอายุนั่ง เพราะเราเชื่อว่าผู้สูงอายุอาจกำลังปวดขาอยู่เช่นกัน และเราก็สามารถยืนจนถึงจุดหมายเดียวกันได้ และนี่คือการมองคนอื่นสำคัญไม่น้อยกว่าตนเอง เชื่อว่าเป้าหมายของคนอื่น ปัญหาของคนอื่นก็สำคัญเช่นกัน ซึ่งจะทำให้ตั้งคำถามกับตนเองเสมอว่า “เราจะทำอย่างไรได้บ้างที่จะช่วยเหลือซึ่งกันและกันให้ประสบความสำเร็จไปด้วยกัน”
หรือกรณีการขึ้นลิฟต์ ถ้าวันนั้นเราตื่นสายและรีบไปทำงานเพราะใกล้เวลาตอกบัตร จนกดปิดประตูลิฟต์อย่างรวดเร็ว ทั้งๆ ที่มีเพื่อนเราอีกคนกำลังวิ่งมาเพื่อขอขึ้นลิฟต์โดยสารด้วย นั่นเป็นตัวอย่างการคิดแบบ Inward Mindset แต่ถ้าเรามองในมุม Outward Mindset เราจะคิดว่าเราสามารถรอเพื่อนได้ เพราะถ้าเพื่อนไม่ได้ขึ้นลิฟต์ตัวนี้ก็อาจจะเข้างานสายก็ได้ เป็นต้น
บทสรุป Outward Mindset นับเป็นตัวกำหนดพื้นฐานระดับจุลภาค ที่ส่งแรงสะท้อนต่อระดับมหภาค กล่าวคือ ถ้าองค์กรใดสามารถปรับเลนส์ในการมองตั้งแต่ระดับผู้บริหารเรื่อยมาจนถึงพนักงานในองค์กรได้อย่างรวดเร็ว องค์กรนั้นก็จะสามารถหาทาง “รอด” สู่การขับเคลื่อนในยุค 4.0 ที่เศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี