เรื่อง : อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา
apiwut@riverorchid.com
www.orchidslingshot.com
twitter@apiwutp และ www.facebook.com/OrchidSlingshot
บ่อยครั้งที่หัวหน้ามือใหม่หลายคนมักชอบถามว่า “หัวหน้าที่ดีควรเป็นอย่างไร?”
ยอมรับว่า “ตอบยาก” เพราะ...
บางครั้งหัวหน้าที่ดีในสายตาใครคนหนึ่ง อาจไม่ดีในสายตาอีกคนหนึ่ง ในขณะเดียวกันหัวหน้าที่ดีในสายตาของใครหลายๆ คน อาจเป็นหัวหน้าที่มีผลงานน้อยมากสำหรับองค์กร ก็เป็นได้
ดังนั้น ถ้าจะให้ตอบว่า “หัวหน้าที่ดีควรเป็นอย่างไร” ก็คงตอบแบบกำปั้นทุบดิน คือต้องมีความรู้และทักษะสำคัญๆ สำหรับการเป็นหัวหน้า ไม่ว่าจะเป็นความรู้ในงาน ทักษะเรื่องการสื่อสาร การมอบหมายกระจายงาน รวมทั้งการบริหารจัดการ เป็นต้น ซึ่งทักษะเหล่านี้เป็นสิ่งที่สามารถศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมได้หลากหลายแนวทาง ไม่ว่าจะเป็นการอบรมสัมมนา การค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง หรือแม้แต่แนวทางที่กำลังได้รับความนิยมกันมากในขณะนี้คือ “การโค้ชผู้บริหาร” เป็นต้น
แต่สิ่งสำคัญเหนืออื่นใด ทักษะเหล่านี้จะให้ผลดีได้ก็ต่อเมื่อมีการนำไปใช้จริงเท่านั้น
อย่างไรก็ดี จากคำถามข้างต้น มีประเด็นที่น่าสนใจกว่าเกิดขึ้นต่อจากนั้น คำถามคือ “หัวหน้าแบบไหนที่คนอยากทำงานด้วย?”
วันก่อนผมมีโอกาสอ่านบทความของ Jack Zenger และ Joseph Folkman กูรูด้านการพัฒนาภาวะผู้นำที่มีผลงานหลายชิ้นตีพิมพ์ในวารสารระดับโลกอย่าง Harvard Business Review
ทั้ง 2 ท่านได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับลักษณะของหัวหน้างานที่คนอยากทำงานด้วย โดยเก็บข้อมูลจากคนทำงานจำนวน 160,576 คน ที่ทำงานกับหัวหน้าจำนวน 30,661 คน จากหลายร้อยองค์กรทั่วโลก โดยการวิจัยครั้งนี้ได้ให้ผู้เข้าร่วมวิจัยบอกถึงลักษณะของหัวหน้างานที่พวกเขาทำงานด้วย บอกความรู้สึกที่มีต่อหัวหน้าและความผูกพันของเขาที่มีต่องานที่ทำอยู่
ผลลัพธ์ที่ออกมาในเบื้องต้นดูไม่มีอะไรน่าประหลาดใจมากนัก กล่าวคือคนจำนวนมากมีคะแนนความสุขอยู่ในระดับ “สูง” เพราะได้ทำงานกับหัวหน้างานที่ “ดี” และในทางกลับกันคนมีคะแนนความสุขในระดับ “ต่ำ” เป็นคนที่ต้องทำงานกับหัวหน้างานที่ได้คะแนนความดี “น้อย”
คราวนี้ ทีมวิจัยทดลองเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับหัวหน้าใหม่ โดยให้ผู้ประเมินลองประเมินหัวหน้าของตนเองว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร โดยแยกลักษณะของหัวหน้าออกเป็น 2 แบบคือหัวหน้าที่มีสไตล์แบบ “ดุดัน” และหัวหน้าที่มีสไตล์แบบ “นิ่มนวล”
หัวหน้าที่เป็นแบบ “ดุดัน” คือหัวหน้าที่มีการสร้างมาตรฐานในการทำงานสูง ผลักดันพนักงานให้สร้างผลงานมากกว่าที่เจ้าตัวเคยทำไว้หรือมากกว่าที่เจ้าตัวคิดว่าจะทำได้เสมอ ผลักให้พนักงานมองและมุ่งเน้นไปยังเป้าหมายที่สูงกว่าเดิมตลอดเวลา และทำทุกอย่าง (ซึ่งหมายถึงการกดดันอย่างหนักด้วย) เพื่อให้ได้ตามเป้าหมายนั้น รวมทั้งพยายามกดดันให้พนักงานต้องพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง
ในขณะที่หัวหน้างานแบบ “นิ่มนวล” จะตรงกันข้ามกับหัวหน้างานที่ “ดุดัน” กล่าวคือ เป็นลักษณะของหัวหน้าที่เข้าไปดูแลปัญหาและความวิตกกังวลของพนักงานอย่างใกล้ชิด เน้นที่จะทำตัวเองให้เป็นแบบอย่างที่ดี ให้ข้อมูลป้อนกลับหรือติชมอย่างสร้างสรรค์และตรงไปตรงมา พัฒนาคนอย่างต่อเนื่องและพยายามรักษาความไว้เนื้อเชื่อใจ (Trust) ให้ได้มากที่สุด
ลองทายดูว่าหัวหน้าแบบไหนที่น่าจะทำให้คนที่ทำงานด้วยรู้สึกผูกพันมากที่สุด?
เก็บคำตอบไว้ในใจ...เดี๋ยวค่อยมาฟังเฉลย!
ดูกันต่อว่ากูรูทั้ง 2 ท่านนี้ ได้ข้อมูลอะไรเพิ่มเติมมาอีก...
หลังจากเก็บข้อมูลเบื้องต้นได้ ทีมงานก็ทำการทดลองสอบถามพูดคุยกับผู้คนจำนวนมาก ซึ่งพบว่าหลายคนเชื่อว่าหัวหน้างานแบบ “นิ่มนวล” น่าจะเป็นแนวทางที่ดีที่สุดสำหรับการสร้างความผูกพันของพนักงานกับการทำงาน
ในขณะเดียวกันจากการพูดคุยกับตัวหัวหน้าเอง หลายๆ คนก็มองว่า การที่พวกเขาจะได้ใจและทำให้พนักงานมีผลงานที่ดีนั้น การใช้สไตล์แบบ “นิ่มนวล” จะช่วยเพิ่มโอกาสในความสำเร็จให้พวกเขาได้มากขึ้น
แต่เชื่อหรือไม่ว่าบทสรุปที่ได้จากการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์อย่างละเอียดตามหลักวิชาการและสถิติที่ถูกต้อง โดยกำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า หัวหน้าที่จะถูกจัดอยู่ในกลุ่ม “สไตล์ดุดัน” จะต้องได้คะแนนพฤติกรรมด้านความดุดันมากกว่า 75 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่หัวหน้า “สไตล์นิ่มนวล” ก็ต้องได้คะแนนพฤติกรรมด้านความนิ่มนวลมากกว่า 75 เปอร์เซ็นต์ เช่นกัน พบว่า 8.9 เปอร์เซ็นต์ ของพนักงานที่ทำงานให้กับหัวหน้าแบบ “ดุดัน” มีความผูกพันกับงานที่เขาทำในระดับ “สูง” ซึ่งฟังดูก็อาจจะยังไม่น่าแปลกใจนัก จนกระทั่งเมื่อนำเอาตัวเลขเดียวกันไปเทียบกับพนักงานที่ทำงานกับหัวหน้าแบบ “นิ่มนวล” กลับพบว่ามีเพียง 6.7 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่รู้สึกว่ามีความผูกพันกับงานที่ทำในระดับ“สูง”
และสิ่งที่ทำให้ทีมงานวิจัยยิ่งประหลาดใจมากขึ้นอีก เพราะไม่เคยคิดในมุมนี้มาก่อนเลยคือ พนักงานที่ทำงานกับหัวหน้าแบบลูกผสม คือมีทั้ง “ความดุดัน” และ “ความนิ่มนวล” อยู่ในตัว กลับมีความรู้สึกผูกพันกับงานที่ทำในระดับ “สูง” มากถึง 68 เปอร์เซ็นต์
นั่นหมายความว่าสมมุติฐานเดิมสำหรับการวิจัยครั้งนี้ที่ทีมงานตั้งไว้แต่แรกโดยเชื่อว่า หัวหน้ามี 2 แบบคือ “ดุดัน” และ “นิ่มนวล” รวมทั้งเชื่อลึกๆ ว่าความ “นิ่มนวล” จะช่วยสร้างความผูกพัน...เป็นอัน “ตกไป” ทั้ง 2 ประเด็น
เพราะฉะนั้นผู้นำที่ดีที่มีคนอยากทำงานด้วยจึงไม่ใช่ผู้นำที่เลือกสไตล์ใดสไตล์หนึ่งในการทำงาน หากแต่เป็นผู้นำที่สามารถประยุกต์ใช้สไตล์ทั้ง 2 ได้เหมาะสมกับสถานการณ์
ผู้นำที่ ”ดุดัน” ต้องไม่กลัวที่จะปรับตัวเองให้คำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างตัวบุคคลให้มากขึ้น ในขณะเดียวกันผู้นำที่ “นิ่มนวล” ก็ต้องไม่กลัวที่จะผลักดันพนักงานเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายที่สูงขึ้น
ผู้นำทั้งสองรูปแบบแม้ดูเหมือนจะอยู่กันคนละขั้วแต่ก็เปรียบเสมือนหัวเรือกับท้ายเรือ ที่จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยกัน หากหัวเรือหันตรงทิศ ท้ายเรือมีกำลังส่งที่ดี ก็ย่อมส่งผลให้เรือลำนั้นทะยานไปข้างหน้าในทิศทางที่ถูกต้องได้อย่างเต็มที่ ซึ่งไม่ต่างจากทีมงานและองค์กรที่จำเป็นต้องมีผู้นำที่พร้อมจะปรับเปลี่ยนสไตล์ให้เหมาะกับสถานการณ์เพื่อช่วยสร้างผลงานและความผูกพันให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนต่อไป
บทสรุปนี้จึงน่าจะย้อนไปตอบคำถามที่ตั้งไว้ตอนแรกว่า “ผู้นำที่ดีควรเป็นอย่างไร” ได้บ้างบางส่วน...
Create by smethailandclub.com