เพราะคนรุ่นใหม่หรือเด็กนิวเจน ถือเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการทำงานขององค์กรไม่ว่าจะเป็นองค์กรใหญ่หรือบริษัทแบบเอสเอ็มอี วันนี้เรามาพูดคุยกับ ดร. จิราพร พฤกษานุกุล ผู้อำนวยการ บริษัท อินดิโก คอนซัลติ้ง กรุ๊ป จำกัด ผู้คร่ำวอดอยู่ในวงการด้านให้คำปรึกษาการจัดโครงสร้างองค์กรและทรัพยากรมนุษย์ ถึงเทรนด์การทำงานแบบไหนถึงจะโดนใจคนรุ่นใหม่
Q: องค์กรแบบไหนที่คนยุคใหม่ต้องการร่วมงานด้วย
A: เด็กรุ่นใหม่ไม่สนใจเรื่องการต้องเข้าทำงานที่บริษัทใหญ่เท่านั้น ดังนั้นเรื่องขนาดหรือแบรนด์ของบริษัทจึงไม่ใช่เรื่องหลักในการตัดสินใจเข้าทำงาน ถ้าหากบริษัทคุณอยากจะมัดใจพวกเขาให้ได้นั้นต้องมี 3 อย่างที่ถือเป็นหัวใจหลัก ได้แก่
1) งานต้องท้าทาย เพราะคนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับความท้าทายในการทำงาน งานนั้นต้องดูสนุก เป็นงานที่สามารถเห็นผลงานได้เป็นชิ้นเป็นอันที่ทำให้พวกเขาเกิดความภาคภูมิใจได้ ไม่ใช่ให้เข้ามานั่งทำงาน รับคำสั่งแล้วทำงาน ดังนั้น ต้องออกแบบงานและหน้าที่ให้เหมาะสมกับคนๆนั้น
2) บรรยากาศในการทำงานต้องดี happy work place เป็นสิ่งสำคัญที่องค์กรหรือบริษัทต้องทำให้คนรุ่นใหม่รู้สึกมีความผูกพัน โดยบริษัทเอสเอ็มอีจะได้เปรียบเพราะมักเป็นธุรกิจครอบครัว สิ่งสำคัญคือ การสร้างวัฒนธรรมแบบพี่น้องและครอบครัว ต้องสร้างบรรยากาศให้เขารู้สึกผูกพันเหมือนอยู่กับครอบครัว รู้สึกอบอุ่น รู้สึกมาทำงานแล้วสบายใจ มีอะไรคุยกับเจ้านายได้ คุยกับพี่ได้ คุยกับน้องได้และต้องมีความยืดหยุ่น
3) ค่าจ้าง ค่าตอบแทน บริษัทหรือองค์กรต้องออกแบบให้น่าสนใจ ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าคุณต้องจ้างเขาด้วยเงินเดือนสูงๆ แต่อาจจะมีอินเซนทีฟอื่นๆ ที่ออกแบบให้เหมาะสมกับความสามารถของคนๆนั้น เช่น ถ้าเงินเริ่มต้นที่ 25,000 บาท แต่ถ้าหากคนนั้นสามารถทำโปรเจคพิเศษเสร็จก็จะได้รับเงินพิเศษอีก 25,000 บาท เพราะฉะนั้นการเป็นเอสเอ็มอีจึงไม่ควรเล่นเรื่องเงินเดือนอย่างเดียว ควรจะเล่นอะไรที่องค์กรได้ด้วย คนก็ได้ด้วย
Q: แล้วรูปแบบการทำงานแบบไหนที่เด็กรุ่นใหม่ให้ความสนใจ
A: ระบบการทำงานที่ยืดหยุ่นเป็นเรื่องสำคัญที่คนสมัยใหม่ให้ความสนใจ อย่างที่เพิ่งไปเจอกับเอสเอ็มอีมา พนักงานหรือเด็กรุ่นใหม่ขอเข้ามาทำงานอาทิตย์ละ 2 – 3 วัน ทางบริษัทนั้นก็ตกลงเพราะเขาต้องการคนนี้ให้มาทำงานให้จริงๆ เช่น มีการจ้างให้ฝ่ายบุคลากรหรือเอชอาร์คนหนึ่งเข้ามาทำงานเฉพาะสิ้นเดือนให้องค์กรโดยเฉพาะ ด้วยวิธีนี้ต้นทุนขององค์กรก็จะลดน้อยลง แล้วในขณะเดียวกันเอชอาร์ก็จะสามารถไปทำงานอย่างอื่นได้แล้วก็มารับงานนี้ ซึ่งเขาก็จะมีความสุขว่ามาทำที่นี้วันเดียวก็จริงแต่มาแล้วก็ทำทั้งวันจนถึงดึกสามสี่ทุ่ม ถึงเขาไม่ได้โอทีแต่ก็แฮปปี้ในระบบนี้
อีกตัวอย่างที่เจอล่าสุดคือเขามีหน้าที่ที่ต้องทำแค่ครึ่งวันเช้างานก็เสร็จ แล้วช่วงบ่ายก็จะว่างหรือเลิกงานได้ ด้วยลักษณะงานของเขาที่ต้องติดต่อกับต่างประเทศ เขาก็ต้องเข้างานเร็วขึ้น เข้างานเช้าขึ้น เช่น ต้องเข้างานตี 3 เลิกงาน 11 โมง เพื่อให้เวลาตรงกับต่างประเทศ เพราะฉะนั้นการเข้างานของเขาก็จะแตกต่างไป ดังนั้นเอสเอ็มอีควรออกแบบงานที่เหมาะสมกับลักษณะของงาน ไม่จำเป็นที่ทุกอย่างต้องเหมือนกันเป๊ะ ซึ่งความท้าทายของเอสเอ็มอีคือบางครั้งมันจะมีงานที่มีลักษณะพิเศษ เราต้องรู้ว่าจะใช้คนยังไง ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้เขา 5 วันก็ได้ หรือไม่จำเป็นต้องเป็นทั้งวันก็ได้ มันต้องมีการดีลแพคเกจเพราะฉะนั้นคนที่เป็นเอชอาร์ต้องเป็นคนที่คิดให้ เช่นเราใช้คุณครึ่งวัน หรืออาทิตย์ละ 3 วัน เราจะจ่ายเขายังไงให้เหมาะสมและก็วินวิน
Q: มีเทรนด์การทำงานแบบไหนบ้างที่เอสเอ็มอีควรเอามาใช้ เพื่อให้ร่วมงานกับเด็กรุ่นใหม่ได้
A: Compressed work week หรือการนับเวลาการทำงานรวมต่อสัปดาห์ให้ครบตามจำนวนที่กำหนดไว้เป็นเทรนด์ที่จะมาแรงแน่นอน ในประเทศไทยเริ่มเห็นเยอะขึ้น เป็นระบบที่คุณต้องบริหารเวลาการทำงานของคุณเอง เช่นสมมติอาทิตย์หนึ่งเราทำงาน 48 ชั่วโมง จากที่ทำอยู่วันละ 8 – 9 ชั่วโมง ก็เปลี่ยนเป็นทำวันละ 10 ชั่วโมง เพิ่มชั่วโมงการทำงานแทนแล้ววันศุกร์สุดท้ายคุณก็หยุด อย่างในสหรัฐอเมริกา บริษัทระดับท็อป 100 อันดับแรกก็ใช้ระบบนี้กันหมด จากปีแรกที่ติดตามใช้ 40 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นมาเป็น 60 เปอร์เซ็นต์ เป็น 80 เปอร์เซ็นต์ ปีล่าสุด 98 เปอร์เซ็นต์ พอมาปีนี้ก็ใช้กัน 100 เปอร์เซ็นต์
Q: แล้วเทรนด์นี้มันเหมาะกับบ้านเราไหม
A: มองว่าเทรนด์นี้เหมาะกับเมืองไทย เพราะพอเป็นคนรุ่นใหม่ เขาจะแฮปปี้กับการทำงานในลักษณะแบบนี้ เหมือนช่วงหนึ่งที่เราฮิตการทำงานแบบยืดหยุ่นที่เข้าตอนไหนก็ได้ แต่ตอนนี้เทรนด์จะไม่ใช่อย่างนั้นแล้ว เพราะเข้าตอนไหนก็ได้ก็ยังสายอยู่ดีอย่างบอกเริ่มเก้าโมงก็เข้ากันเก้าโมงครึ่งอยู่ดี เพราะฉะนั้น Compressed work week เริ่มจะมาแล้ว แต่คุณก็ต้องมีเคพีไอเข้ามาประเมินผลงานด้วย ต้องดูความเหมาะสมกับประเภทงาน
Q: ระบบนี้เหมาะกับคนรุ่นใหม่ยังไง
A: ระบบนี้จะเหมาะกับพวกคน Gen Z และสามารถเอามาปรับใช้กับเอสเอ็มอีได้แต่คุณต้องระบุให้ชัดเจนว่าจะใช้กับงานประเภทไหน เช่น เอสเอ็มอีบางที่แต่ก่อนยังทำงานวันเสาร์ แต่พอเป็นรุ่นใหม่เขาเริ่มมาศึกษากันแล้วว่า วันเสาร์หาคนทำงานไม่ได้แล้ว เช่น ตอนที่เด็กเข้ามาสัมภาษณ์มีความสนใจในตัวงานมากเลย แต่พอรู้ว่าต้องทำงานวันเสาร์ก็ไม่เอา ดังนั้นองค์กรต้องปรับตัว ถ้าวันเสาร์ไม่ทำงานแล้วจะทำยังไง คำถามแรกคือคุณจะลดเงินเขาหรอ คนก็ไม่แฮปปี้อีก มันก็ต้องมาแปลงเป็นอย่างอื่นแทน เช่น ค่อยๆลดการทำงานวันเสาร์ไป หรือเพิ่มชั่วโมงการทำงานในวันธรรมดา
Q: การทำงานวันเสาร์เป็นปัญหายังไง
A: เด็กรุ่นใหม่ต้องการวันเสาร์อาทิตย์ไว้สำหรับการทำกิจกรรมส่วนตัว อย่างถ้ามีบริษัทไหนให้ทำงานวันเสาร์เด็กพวกนี้จะยอมเลือกทำงานกับที่อื่นที่ไม่ต้องทำวันเสาร์แม้จะได้เงินเดือนน้อยกว่าก็ตาม ดังนั้นการทำงานวันเสาร์เลยมีผลอย่างมากต่อการตัดสินใจเลือกเข้าทำงานกับบริษัทต่างๆ
Q: ถ้าเป็นเช่นนี้ทำให้บริษัทต้องกลับมาคิดไหมว่าจะต้องตัดการทำงานวันเสาร์ออกไป
A: เดี๋ยวนี้คิดแล้วค่ะ มีการเริ่มศึกษาเรื่องระหว่างทำงานกับไม่ทำงานวันเสาร์อันไหนได้งานมากกว่ากัน ประหยัดได้มากกว่ากัน อย่างตอนที่อาจารย์มาทำงานวันสาร์ก็มีคนบอกที่อื่นเขาไม่ทำกันแล้วมาก็เปลืองแอร์กันเปล่าๆ บางครั้งก็เหมือนมานั่งคุยเล่นกันซึ่งสรุปก็ไม่ได้งาน
Q: มีเทรนด์อย่างอื่นอีกไหมที่เริ่มได้รับความนิยม
A: อีกรูปแบบคือ Work from home ในประเทศไทยเริ่มเห็นเยอะขึ้น เพราะองค์กรเริ่มเห็นประโยชน์ว่าการที่พนักงานมาทำงานน้อยลง เขาก็สามารถประหยัดเรื่องค่าใช้จ่ายได้ เช่นจากเมื่อก่อนต้องเช่าตึกทำงาน 3 ชั้น พอใช้ระบบนี้ก็เหลือเช่าแค่ชั้นเดียว พนักงานก็แค่สลับกันเข้ามา
Q: แล้วมีระบบอะไรอีกบ้างที่องค์กรควรนำมาปรับใช้
A: การใช้ระบบการทำงานแบบ job sharing หรือ การที่มี 1 ตำแหน่งแต่ทำ 2 คน มันจะเป็นการวินวินขององค์กรกับพนักงาน สำหรับองค์กร ถ้าคนนี้ออกก็ยังมีอีกคนที่สามารถทำงานได้ เช่น ถ้า A เป็นเอชอาร์ดูแลเรื่องเทรนนิ่ง B เป็นเอชอาร์ทำรีครูทเมนท์ A ดูเทรนนิ่ง 70 เปอร์เซ็นต์ ไปช่วย B ดูรีครูท 30 เปอร์เซ็นต์ ถ้า A ออก B ก็จะสามารถดูแลเรื่องเทรนนิ่งได้และรับคนใหม่เข้ามา เป็นการลดความเสี่ยงขององค์กรถ้าสูญเสียคนไป
Q: วิธีนี้ดีต่อการทำงานยังไง
A: มันได้เรื่องอาชีพ มัลติสกิล องค์กรหลายที่ก็เริ่มมีจ๊อบดีไซน์แบบนี้ อย่างตัวพนักงานเองก็จะมีทักษะการทำงานที่มากขึ้น ทั้งยังมีผลต่อการเลื่อนตำแหน่งในอนาคต คนที่รู้งานสองอย่างย่อมมีประโยชน์กว่าคนที่รู้งานหน้าเดียวอยู่แล้ว ซึ่งก็เป็นการตอบโจทย์ทุกอย่างในองค์กร แต่จุดประสงค์ของระบบนี้คือการลดความเสี่ยง เพราะถ้ามีพนักงานคนหนึ่งที่รู้ทุกเรื่องออกปุ๊บ องค์กรจะมีความเสี่ยงทันที เพราะไม่มีคนทำแทน เพราะฉะนั้น โมเดล 70 - 30 ที่ไทยเดี๋ยวนี้ใช้เยอะ แต่ของเมืองนอกจะเป็นแบบ 50 – 50 คือแบ่งเลยว่า อาทิตย์นี้คนนี้ทำ 3 วัน คนนี้ทำ 2 วันแต่เป็นงานเดียวกัน ซึ่งจะตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่รู้สึกว่าอยากทำงานแค่ 3 วัน อีก 2 วันมีธุระไปทำอย่างอื่น เป็นเทรนด์ที่เริ่มเข้ามาแล้ว
Q: นอกจากความยืดหยุ่นในการทำงานแล้วเราควรมีอะไรอีกบ้าง
A: อีกเทรนด์ที่น่าสนใจเลยคือ gay benefits หรือการให้สวัสดิการสำหรับคู่รักเพศเดียวกัน เทรนด์นี้ที่เริ่มเข้าไทยมาแล้ว เนื่องจากสถาพทางสังคมที่เปลี่ยนไป เพราะฉะนั้นผู้หญิงผู้ชายไม่จำเป็นที่จะต้องถูกคำนึงถึงอยู่ฝ่ายเดียว เพราะปกติการให้สวัสดิการจะให้กับครอบครัวเช่นเรื่องการเบิกค่ารักษาพยาบาล แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้วเพราะถ้าคุณพิสูจน์ได้ว่า คุณอยู่ด้วยกันเป็นคู่ชีวิต นำหลักฐานมายื่น เขาก็ให้เบิกได้ถือเป็นสวัสดิการอย่างหนึ่ง หรือเรียกว่าสิทธิประโยชน์ที่ให้กับคู่รัก เพราะถ้าอยู่เป็นครอบครัวต้องมีทะเบียนสมรสมาเบิกค่ารักษาพยาบาล แต่เขามีวิธีอื่นเช่น เอาบัตรประชาชนมายื่นปีนี้เขาก็จะถามว่าเบิกให้กับใคร อย่างบางสายการบินจะมีข้อกำหนดว่า คุณสามารถยื่นเบิกให้กับคู่ของคุณที่อยู่ด้วยกันได้แต่ต้องเป็นคนเดียวกันภายในระยะเวลา 3 ปี หรือคุณสามารถเปลี่ยนคู่ได้ 3 ปีครั้ง เพราะฉะนั้นถ้าคุณเปลี่ยนคู่ในระหว่าง 3 ปีนี้คุณก็จะไม่สามารถใช้สวัสดิการนี้ได้ อย่างน้อยต้องครองรักกันไป 3 ปี เพื่อให้รู้ว่าเป็นคู่รักกันจริงๆ ไม่ใช่เป็นคู่แบบชั่วคราว เพราะฉะนั้นเอชอาร์ต้องเป็นคนคิดว่าทำอย่างไรถึงจะไม่ถูกพนักงานหลอก ไม่ถูกเอาเปรียบหรือเสียประโยชน์ ปัจจุบันเทรนด์นี้เข้าไทยแล้ว ทุกสายการบินมีสวัสดิการนี้ทั้งการบินไทย บางกอกแอร์เวย์หรือองค์กรเอกชนบางที่ก็ให้แล้ว
Q: แล้วสวัสดิการนี้จะมีผลดีต่อองค์กรยังไง
A: หากนำมาใช้ก็จะเป็นผลดีต่อตัวองค์กรเพราะพนักงานจะรู้สึกถึงความใส่ใจ เพราะ benefits นี้คือการดูแลพนักงานให้อยู่เย็นเป็นสุข เพราะเงินเดือนมันคือค่าครองชีพ แต่นิยามของ benefits คือมีเพื่อเป็นการให้พนักงานรู้สึกว่าเราดูแลพนักงาน แต่เมื่อไหร่ที่ตัวนี้ไม่ได้ตอบโจทย์การดูแลพนักงานมันก็ไม่ใช่ benefits ที่ดี ดังนั้น gay benefits จึงเป็นที่มาของการดูแลพนักงานทุกคน ไม่ใช่แค่ดูแลเฉพาะคนที่มีครอบครัวหรือเพศชายและหญิงเท่านั้น
วิธีและระบบการทำงานเหล่านี้จะเป็นเครื่องมือที่ดีอย่างหนึ่งที่ช่วยคัดสรรคนทำงานไม่เฉพาะกับคนรุ่นใหม่เท่านั้น แต่ยังสามารถเป็นแนวทางที่ดีในการนำมาปรับใช้กับพนักงานทั่วไปเพื่อผลประโยชน์สูงสุดทั้งกับตัวองค์กรและทรัพยากรที่สำคัญที่สุดอย่างบุคลากร
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี