ด้วยลักษณะธุรกิจของ SMEs ที่ค่อนข้างเน้นแรงงานเป็นสัดส่วนสูงในการประกอบกิจการ ปัจจัยด้านแรงงานจึงมีผลกระทบโดยตรงต่อความอยู่รอดของธุรกิจ แต่นอกเหนือจากปัญหาค่าแรงขั้นต่ำที่กำลังปรับตัวสูงขึ้นแล้ว ปัญหาการขาดแคลนแรงงานก็กำลังกลายเป็นจุดสนใจด้วยเช่นกัน ซึ่งในภาวะที่แรงงานอาจเกิดการขาดแคลนได้ในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้าเช่นนี้ หากธุรกิจ SMEs จะสามารถขยายธุรกิจต่อไปได้นั้น ก็จำต้องหันมาใช้วิธีเพิ่มผลิตภาพแรงงาน (labor productivity) อย่างยั่งยืน
ในอีก 10-15 ปีข้างหน้า แรงงานไทยซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อความมั่นคงของเศรษฐกิจไทยมาตลอดนั้น กำลังจะเริ่มลดจำนวนลง การที่เศรษฐกิจของประเทศจะเติบโตต่อไปได้นั้น จึงต้องหันมาพึ่งพาการโยกย้ายแรงงานไปสู่ภาคธุรกิจที่สร้างมูลค่าต่อแรงงานมากขึ้น และก็ต้องพึ่งพาการเพิ่มผลิตภาพแรงงานให้สูงขึ้น การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไทยตั้งแต่ปี 2005 จนถึงปี 2011 นั้น กว่าครึ่งหนึ่งเกิดจากการขยายตัวของตลาดแรงงานที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีมูลค่าโดยรวมสูงขึ้น แต่ในอีก 10-15 ปีข้างหน้า จำนวนแรงงานไทยจะเริ่มหดตัวลง เนื่องจากแรงงานที่จะเกษียณอายุในอีก 10-15 ปีข้างหน้าจะมีจำนวนสูงกว่าประชากรที่จะเข้าสู่วัยทำงานในช่วงเวลาเดียวกัน
ซึ่งจากแนวโน้มของตลาดแรงงานของไทยที่จะหดตัวลงเช่นนี้ การสร้างความมั่นคงให้กับเศรษฐกิจของไทยต่อไปในอนาคตจึงต้องหันมาเน้นการเสริมสร้างผลิตภาพแรงงานโดยรวม โดยอาจเกิดขึ้นจากการโยกย้ายแรงงานจากภาคธุรกิจที่มีผลิตภาพแรงงานต่ำไปยังภาคธุรกิจที่มีผลิตภาพแรงงานสูง หรืออาจเกิดขึ้นได้จากการเพิ่มมูลค่าผลผลิตต่อแรงงานในทุกๆ ภาคธุรกิจให้สูงขึ้น
แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แรงงานไทยกลับมีการเติบโตของผลิตภาพค่อนข้างต่ำ ในขณะที่ระดับของผลิตภาพแรงงานปัจจุบันก็ยังต่ำเช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับคู่แข่งทางเศรษฐกิจที่ขับเคี่ยวกันมาตลอดอย่างมาเลเซีย แรงงานไทยมีผลิตภาพแรงงานอยู่ที่ประมาณ 4,900 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคน ในปี 2011 (ณ ราคาปี 2000) โดยในช่วงปี (2005-2011) ไทยสามารถเพิ่มผลิตภาพแรงงานได้เพียง 1.4% ต่อปี ซึ่งนับว่าต่ำลงจากช่วงปี 2000-2005 ที่เติบโตได้ถึงปีละ 3.8%
ยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งสำคัญอย่างมาเลเซียแล้ว ยิ่งย้ำให้เห็นถึงข้อเสียเปรียบของไทย เพราะถึงแม้มาเลเซียจะมีการเติบโตของผลิตภาพแรงงานอยู่ที่ 1.4% เท่ากับไทยในช่วงปี 2005-2011 ก็ตาม แต่มาเลเซียมีผลิตภาพแรงงานอยู่ที่ระดับสูงแล้ว คือประมาณ 12,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคนในปี 2011 (ณ ราคาปี 2000) นอกจากนี้ หากยกตัวอย่างประเทศกำลังพัฒนาที่มีผลิตภาพแรงงานในระดับใกล้เคียงกับไทย เช่น จีน จะพบว่า จีนมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีของผลิตภาพแรงงานอยู่สูงถึงกว่า 10% ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้แล้ว ดูเหมือนไทยอาจจะยังต้องติดกับดักรายได้ระดับกลาง (middle-income trap) อยู่อีกนานพอสมควร และจะต้องถูกจีนแซงหน้า และมาเลเซียทิ้งห่างในไม่ช้า หากยังไม่สามารถเพิ่มผลิตภาพแรงงานให้สูงขึ้นกว่านี้
การดึงแรงงานเข้าสู่ภาคธุรกิจที่มีผลิตภาพแรงงานสูงเป็นวิธีการเพิ่มผลิตภาพแรงงานวิธีหนึ่ง ภาคการผลิตของไทยเป็นภาคธุรกิจที่มีผลิตภาพแรงงานสูงถึงกว่า 12,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคน ในปี 2011 (ณ ราคาปี 2000) ในขณะที่ภาคการเกษตรและภาคบริการมีผลิตภาพแรงงานอยู่ที่ระดับประมาณ 1,700 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคน และ 5,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคน ตามลำดับ
แต่เนื่องจากสัดส่วนของแรงงานของไทยกลับไปกระจุกตัวอยู่ในภาคธุรกิจที่มีผลิตภาพแรงงานต่ำกว่า คือมีสัดส่วนแรงงานทั้งระบบอยู่ในภาคการเกษตรกว่า 40% และภาคบริการและอื่นๆ อีก 46% ในขณะที่แรงงานในภาคการผลิตมีเพียง 14% เท่านั้น ดังนั้น ค่าเฉลี่ยผลิตภาพแรงงานจึงถูกฉุดดึงลงมาต่ำที่ประมาณ 4,900 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคน จึงเห็นได้ชัดว่า หากต้องการผลักดันเศรษฐกิจประเทศให้เติบโตหลุดพ้น middle-income trap ได้นั้น แนวทางสำคัญแนวทางหนึ่งคือการผลักดันให้เกิดการโยกย้ายแรงงานจากภาคการเกษตรและภาคการบริการและอื่นๆ เข้าสู่ภาคการผลิตที่มีผลิตภาพแรงงานสูงกว่า ให้มากขึ้นกว่าสถานการณ์ที่เป็นอยู่ปัจจุบัน