สุดยอดเคล็ดวิชา รับมือหัวหน้าจอมบงการ

 


เรื่อง เจษฎา ปุรินทวรกุล



    เคยหรือไม่กับการที่ต้องถูกเจ้านาย นายจ้าง หรือหัวหน้างานคอยควบคุมและบงการการทำงานในทุกขั้นตอน โดนถามไถ่ความคืบหน้าเช้า สาย บ่าย เย็น ใครที่เจอเหตุการณ์แบบนี้คงต้องเกิดอาการอารมณ์เสียกันบ้างไม่มากก็น้อย ทั้งนี้ การถูกสั่งแบบจ้ำจี้จ้ำไช รวมถึงพยายามเข้าไปควบคุมและจัดการงานที่มอบหมายให้กับลูกน้องอย่างต่อเนื่อง นับเป็นการกระทำที่บั่นทอนความสามารถ จินตนาการ และแรงกระตุ้นของพนักงานเป็นอย่างมาก ดังนั้น หากใครพบเจ้านายที่มีพฤติกรรมบริหารงานแบบ Micro Management ลองใช้เคล็ดลับเหล่านี้ในการรับมือ


    1. แสดงความเข้าอกเข้าใจ 

    สิ่งแรกคือต้องพยายามทำความเข้าใจตำแหน่งของหัวหน้าก่อน เพราะเขาหรือเธออาจได้รับแรงกดดันจากบอสตัวจริง ผู้บริหารระดับสูง หรือคู่ค้า ทำให้ต้องมาคอยจู้จี้จุกจิกกับเราเพื่อให้งานออกมาดี ไร้ตำหนิ และไม่มีข้อผิดพลาด หากที่กล่าวมาทั้งหมดคือสิ่งที่หัวหน้างานต้องเผชิญ ก็ลองทำความเข้าใจและเปิดใจกว้างเพื่อรับรู้ปัญหา สื่อสารด้วยความเห็นอกเห็นใจ ไม่ใช่แรงมาก็แรงไป แบบนั้นคงไม่มีอะไรดีขึ้น


    2. นำเสนอความคืบหน้าให้ชัดเจน หรือรายงานบ่อยๆ

    หากหัวหน้าคอยสอบถามความคืบหน้าอยู่ตลอดเวลา เพราะกลัวว่าคุณจะทำไม่เสร็จตามกำหนด ลองใช้วิธีรับมือด้วยการรายงานความคืบหน้าให้หัวหน้ารับทราบแทน เช่น “ตอนนี้ดำเนินงานถึงจุดนี้แล้ว คาดว่าในตอนเย็นจะเสร็จ 80 เปอร์เซ็นต์ โดยมีรายงาน A แนบให้ด้วย ส่วนเรื่องคู่ค้ากำลังดำเนินการติดต่อให้ แต่ลูกค้ายังติดธุระ เขาแจ้งว่าให้ติดต่อไปอีกครั้งช่วงบ่าย” เป็นต้น

    การรายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับการทำงานของเรา จะช่วยให้บอสประเภท Micro Management ใจชื้นขึ้น รับทราบว่าเราทำงานอยู่ตลอดเวลา และสร้างความไว้วางใจได้มากขึ้นไปอีกระดับด้วย


    3. กำหนดวัน เวลา ส่งมอบงานให้ชัดเจน

    แม้จะมีการรายงานอยู่ตลอดเวลา แต่เราต้องไม่ลืมระบุว่า จะสามารถส่งงานที่ได้รับมอบหมายให้ในวันไหน เวลาใด วิธีแก้เกมส์คือ ส่งตัวอย่างรายงานความคืบหน้าให้ดู พร้อมบอกวันเวลาที่เราพร้อมจะส่งมอบงานให้กับหัวหน้าได้รับทราบด้วย เช่น กำหนด Dead Line คือ วันพฤหัส เราอาจบอกหัวหน้าว่าจะส่งงานให้ไม่เกินช่วงบ่ายวันจันทร์ วันอังคารให้หัวหน้าตรวจสอบ หากเกิดข้อผิดพลาด เราจะมีเวลาแก้ไขงานประมาณ 2 วัน รับรองว่าหัวหน้าต้องยินดีกับการวางแผนการทำงานที่รัดกุมของคุณอย่างแน่นอน (แต่หากเป็นโปรเจคใหญ่ ก็ควรเผื่อเวลาแก้งานให้ยาวนานกว่านี้ด้วยเช่นกัน)


    4. แสดงให้เห็นถึงความจริงใจ

    จากข้อ 1-3 น่าจะช่วยให้เห็นว่า ด้วยความสามารถและบุคลิกภาพของเรา หัวหน้าไม่จำเป็นต้องมาคอย Micro Management ก็ได้ อย่างไรก็ตามหากยังถูกควบคุมให้ทำงานตามคำสั่งเล็กๆ น้อยๆ อยู่ตลอดเวลา ให้ลองวิเคราะห์ดูว่าถึงเวลาที่ต้องพูดอย่างตรงไปตรงมาหรือยัง เพราะถ้าเราหมดความอดมน การพูดอย่างตรงไปตรงมา ย่อมดีกว่าทนทำงานไปวันๆ โดยที่สภาพจิตใจย่ำแย่ไปทีละนิด 
    
    พยายามมีทัศนคติในเชิงบวก สร้างความมั่นใจว่าเราสามารถทำงาน และดูแลรับผิดชอบงานได้โดยไม่ต้องมีใครมาคอยดูแลอย่างใกล้ชิด น่าจะช่วยให้เราทำงานได้ดี มีประสิทธิภาพ และมีความสุขกับงานที่ทำได้มากยิ่งขึ้น     

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี


 

RECCOMMEND: MANAGEMENT

Sequence quotient รู้ว่าต้องทำอะไรก่อน-หลัง เทคนิคผู้บริหารต้องรู้อยากให้ธุรกิจโต

ในช่วงที่ผ่านมาได้เกิดกระแสดราม่าที่ร้อนแรงขึ้นกับคอนเทนต์ของคุณ CK Cheong (ซีเค เจิง) CEO ของ FASTWORK เรื่อง “มุมมองการบริหารเวลา แนะ ต้นทุนชีวิตไม่เท่ากัน แต่ทุกคนมีเวลาเท่ากัน”

มัดรวม 5 ไอเดียประหยัดต้นทุนธุรกิจโรงแรมไซส์เล็ก

ฤดูร้อนมาเยือนแล้ว เป็นอีกหนึ่งไฮซีซั่นของการท่องเที่ยวฟากฝั่งทะเล จะทำยังไงให้มีรายได้เยอะขึ้น นอกจากการหาลูกค้าเพิ่ม การช่วยลดต้นทุนก็เป็นอีกวิธีที่น่าสนใจ โดยเฉพาะโรงแรมขนาดเล็กที่ไม่ได้มีเงินทุนมากมาย วันนี้เลยอยากชวนมาลดต้นทุนธุรกิจกับ 5 ไอเดียประหยัดต้นทุนโรงแรมไซส์เล็กกัน

รู้ก่อนเจ๊ง ความปลอดภัยทางไซเบอร์กับอนาคตธุรกิจ 40% ของเป้าหมายอาชญากรรมไซเบอร์ คือ SME

จากข้อมูลของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย พบว่า การโจมตีทางไซเบอร์ต่อ SME เพิ่มขึ้น 35% โดยที่ 40% ของเป้าหมายอาชญากรรมไซเบอร์ทั้งหมดในประเทศคือ SME