การหาตัวแทนสืบทอดกิจการเป็นเรื่องท้าทายสำหรับธุรกิจครอบครัว เรามีคำแนะนำที่สามารถนำไปใช้ได้จริงมาฝากกัน
1. คัดเลือกและเตรียมผู้สืบทอด Selecting and preparing successors
เจ้าจองธุรกิจครอบครัวมักจะคิดเอาเองว่าลูกๆ จะสืบทอดกิจการจากตน การคิดแบบนี้ไม่ดีสำหรับตัวธุรกิจและผู้ที่ถูกคาดหวังว่าจะสืบทอดกิจการ ดังนั้นคุณควรวางแผนด้วยการตอบคำถามเรื่องต่อไปนี้ แผนเกษียณอายุของคุณ ลูกคนไหนจะเป็นคนดูแลกิจการ ลูกคนนั้นต้องการทำหรือไม่ เขามีทักษะหรือประสบการณ์ที่เหมาะสมกับธุรกิจหรือเปล่า คุณควรวางแผนให้ลูกทำงานทื่อื่นเพื่อให้มีประสบการณ์ ลูกควรทำงานในหลายๆ หน้าที่หรือแผนกต่างๆ เพื่อให้เป็นเสมือน”ห้องทดลอง”ก่อนมาทำงานจริง อีกทั้งจะได้นำสิ่งดีๆมาปรับใช้ในธุรกิจของคุณด้วย
2. กำหนดบทบาทให้ผู้สืบทอด
บางทีผู้สืบทอดกิจการได้รับงานโดยไม่ได้รับการสัมภาษณ์ก่อนหรือถ่ายทอดทักษะที่จำเป็นก่อน ลักษณะการถ่ายทอดนี้อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งกับพนักงานที่ไม่ใช่คนในครอบครัวได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผู้สืบทอดได้รับตำแหน่งบริหาร คุณควรตอบคำถามต่อไปนี้ สมาชิกของครอบครัวใช้กฏระเบียบเดียวกับพนักงานคนอื่น เช่น การตรงต่อเวลา วันหยุด การเบิกค่าใช้จ่าย หรือไม่ สมาชิกของครอบครัวมีประสบการณ์หรือทักษะที่จำเป็นสำหรับงานที่ทำหรือไม่ หากในตำแหน่งบริหาร คุณมีคอสฝึกอบรมเพื่อเตรียมพวกเขาหรือไม่
3. ดึงดูดและรักษาไว้ซึ่งผู้จัดการที่ไม่ใช่คนในครอบครัวและพนักงานอื่น ๆ ด้วย
การรักษาบุคลากรที่มีอยู่เป็นกุญแจสำคัญ คุณทำให้พนักงานเหล่านี้รู้สึกว่าเขามีอนาคตในองค์กรของคุณหรือไม่ คุณควรตอบคำถามต่อไปนี้ให้ชัดเจน หากผู้จัดการเป็นญาติกับเจ้านาย พนักงานจะกล้าพูดเรื่องที่ไม่สบายใจได้อย่างไร เพราะอาจจะโดนหมายหัวได้ หรือคุณมีวิธีการจัดการกับฟีดแบ็คการทำงานของสมาชิกในครอบครัวอย่างไร มีการกำหนดบทบาทและความรับผิดชอบระหว่างผู้จัดการหรือหัวหน้างานที่เป็นสมาชิกในครอบครัวกับไม่ใช่สมาชิกในครอบครัวอย่างไร เพราะพนักงานอาจจะสับสนเรื่องการสั่งงานของผู้จัดการสองคนแบบสองมาตรฐานก็เป็นได้
4. สื่อสารกันอย่างเปิดเผยแต่ให้ความเคารพคนอื่นด้วย
การสื่อสารบางอย่างรับได้เมื่อเป็นการสื่อสารกันในครอบครัว แต่อาจจะไม่เหมาะกับสภาพแวดล้อมที่เป็นการทำงาน หลายครั้งที่สมาชิกในครอบครัวที่ทำงานให้ครอบครัวอาจลืมตัวไป เช่น การตะโกน การโต้เถียง การพูดเหน็บแนม เหล่านี้จะทำให้พนักงานรู้สึกไม่สบายใจที่จะต้องรับฟัง หรือแม้แต่การพลอดรักกัน ก็ไม่เหมาะสมเช่นกัน คุณควรต้องระวังเรื่องนี้ให้มาก โดยเฉพาะผู้สืบทอดกิจการที่เป็นสามี ภรรยากัน
5. สร้างความเข้าใจกับทุกฝ่ายในเรื่องของวิสัยทัศน์ของบริษัท
ธุรกิจในครอบครัวส่วนมากจะลืมให้ความสำคัญกับวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนของบริษัท ไม่เพียงแค่กำหนดนโยบายหรือวิสัยทัศน์อย่างชัดเจนเท่านั้น คุณควรเรียกสมาชิกในครอบครัวที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเข้ามาพูดคุยและตกลงยอมรับเงื่อนไขต่าง ๆ โดยพร้อมหน้ากัน อย่าลืมว่าวิสัยทัศน์จะเป็นจริงได้ก็ต่อเมื่อได้รับการทบทวนและยอมรับจากทุกฝ่ายอย่างสม่ำเสมอ
6. วางแผนการจ่ายเงินให้คนในครอบครัวด้วย
ทำงานที่บ้านมักจะได้รับเงินน้อย สิ้นปีแล้วเงินเดือนก็ไม่ขึ้น หรือบ่อยครั้งต้องมาทำงานนอกเวลาหรือวันหยุดโดยไม่มีการชดเชยหรือตอบแทนให้กับสมาชิกในครอบครัวนั้นๆ ในบางครอบครัวมองว่าการไม่ช่วยทำงานที่บ้านหรือขอลาออกนั้นเป็นสิ่งที่ผิดหรือเป็นบาปกรรม ความคิดเช่นนี้อาจทำให้เกิดความรู้สึกหมดขวัญและกำลังใจ ดังนั้นคุณควรพิจารณาเรื่องต่างๆ ดังนี้ ควรมีสัญญาจ้างสำหรับสมาชิกในครอบครัวหรือไม่ ถ้ามี สัญญานั้นได้รับการทบทวนปรับให้ทันสมัยหรือเปล่า มาตรฐานเงินเดือนและความรับผิดชอบของคนในครอบครัวกับพนังงานทั่วไปเท่ากันหรือไม่
7. กำหนดบทบาทและหน้าที่
การจะมีผู้สืบทอดกิจการ หน้าที่และบทบาทอาจจะไม่ชัดระหว่างบทบาทในครอบครัวกับบทบาทในบริษัท คุณต้องถามตัวเองว่า พนักงานแต่ละตำแหน่งมีใบกำหนดหน้าที่การทำงาน (job description-JD) หรือเปล่า คุณมีการทบทวน JD เหล่านั้นเพื่อให้เหมาะกับสถานะการณ์จริงหรือไม่ สายการบังคับบัญชาและหน้าที่รับผิดชอบในบริษัทเป็นอย่างไร ใครรายงานใคร มีการเขียนไว้และทำตามหรือเปล่า อีกทั้งมีความชัดเจนระหว่างครอบครัวกับธุรกิจหรือไม่ ตัวอย่างเช่น การที่คุณเป็นพ่อแม่หรือเป็นนายใหญ่ ไม่ได้หมายความว่าคุณจะทำงานในหน้าที่ใดก็ได้ หรืออยากจะเปลี่ยนไปดูแลงานอื่นก็ทำได้ตามใจฉัน
เมื่อธุรกิจครอบครัวมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนและเน้นไปที่ตัวธุรกิจ รวมถึงการมีนโยบายที่ชัดเจน ดูแลทุกคนเท่าเทียมกัน ให้ผู้จัดการตัดสินใจในงานประจำวัน มีนโยบายและตำแหน่งสำหรับคนที่จะมาแทน มองหาโอกาสทางธุรกิจอย่างสม่ำเสมอ อย่าทำงานโดยใช้สัญชาตญาน เพราะคุณต้องมองไกลถึงผลประโยชน์ของธุรกิจและของครอบครัว
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อความสำเร็จของธุรกิจ SME (เอสเอ็มอี)