บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย เริ่มเข้ามาดำเนินกิจการในประเทศไทยตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2505 ดำเนินธุรกิจในประเทศไทย โตโยต้า มุ่งเน้นในการดำเนินกิจกรรมเพื่อส่งเสริมสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้เน้นหนักใน 4 ด้านสำคัญ ได้แก่ ส่งเสริมความปลอดภัยบนท้องถนน - ส่งเสริมสิ่งแวดล้อม - ส่งเสริ..
ลดต้นทุน เพิ่มกำไร วิธีการอยู่รอดของ SME ในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง
คุณสุปรียา ไม้มณี
ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์และกิจกรรมสังคม
บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด
บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย เริ่มเข้ามาดำเนินกิจการในประเทศไทยตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2505 ดำเนินธุรกิจในประเทศไทย โตโยต้า มุ่งเน้นในการดำเนินกิจกรรมเพื่อส่งเสริมสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้เน้นหนักใน 4 ด้านสำคัญ ได้แก่ ส่งเสริมความปลอดภัยบนท้องถนน - ส่งเสริมสิ่งแวดล้อม - ส่งเสริมการศึกษาและถ่ายทอดเทคโนโลยี – ตลอดจนส่งเสริมคุณภาพชีวิตและการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนของชุมชน นอกจากนี้ในปี พ.ศ.2535 เนื่องในโอกาสการดำเนินกิจการในประเทศไทยครบ 30 ปี ยังได้ก่อตั้ง “มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย” เพื่อร่วมมือกันสร้างสรรค์กิจกรรมส่งเสริมสังคมไทยอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โครงการต่างๆกระจายตัวอยู่ในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชนบทห่างไกล เพื่อสนับสนุนพัฒนาการอย่างยั่งยืนของสังคมไทยทุกระดับชั้นตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา
โตโยต้า ดำเนินธุรกิจด้วย “วิถีโตโยต้า โดยมีแนวทางการดำเนินงานดังนี้
วิถีโตโยต้า 2001 มีสองเสาหลัก นั่นคือ "การพัฒนาปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง" และ "การยอมรับนับถือซึ่งกันและกัน" เราไม่เคยรู้สึกพอใจกับสิ่งที่เป็นอยู่และไม่เคยหยุดนิ่งอยู่กับที่ เราจึงทุ่มเททั้งความคิดและความพยายามสุดความสามารถ เพื่อพัฒนาธุรกิจของเราอยู่เสมอ เรายอมรับนับถือผู้อื่น และเชื่อว่าความสำเร็จทางธุรกิจของเราย่อมมาจากทั้งความอุตสาหะของพนักงานแต่ละคน และการทำงานเป็นทีม เรามุ่งหวังว่า สมาชิกทีมโตโยต้าทุกคนไม่ว่าจะทำงานในระดับใดก็ตาม จะนำค่านิยมทั้งสองส่วนนี้ไปใช้ในการทำงานและสื่อสารในทุกๆ วัน
หนึ่งในโครงการที่โดดเด่นและสะท้อนวิสัยทัศน์ของ "วิถีโตโยต้า" คือโครงการ “โตโยต้าธุรกิจชุมชนพัฒน์” ซึ่งโครงการดังกล่าวมีที่มาที่ไปดังนี้
โตโยต้ามองเห็นเป็นโอกาสดีที่น่าจะนำความรู้เหล่านี้มาขยายผลต่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคมไทย อันจะเป็นการพัฒนารากฐานด้านเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ภายใต้โครงการ “โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์” สิ่งที่นำไปถ่ายทอดให้แก่ธุรกิจชุมชนต่างๆ ก็คือการนำความรู้เกี่ยวกับระบบการผลิตแบบโตโยต้า ไปประยุกต์และถ่ายทอดให้เหมาะกับบริบทของแต่ละธุรกิจ ซึ่งอาจมีความแตกต่างกันไปในรายละเอียด แต่หัวใจหลักที่โตโยต้าต้องการแนะนำคือการทำให้ทุกธุรกิจสามารถมองเห็นปัญหาในธุรกิจของตัวเองและหาแนวทางแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม อันนำมาซึ่งการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลกำไร และสามารถปรับปรุงพัฒนาธุรกิจของตัวเองได้อย่างต่อเนื่องไม่มีสิ้นสุด
โครงการโตโยต้าธุรกิจชุมชนพัฒน์ใช้กระบวนการอะไรในการขับเคลื่อนธุรกิจให้เป็นไปตามเป้าหมาย
โครงการโตโยต้าธุรกิจชุมชนพัฒน์ใช้ระบบ TPS หรือระบบการผลิตแบบโตโยต้าเป็นหัวใจในการขับเคลื่อน ก็คือการผลิตสินค้าให้เสร็จตามคุณภาพมาตรฐาน ด้วย Lead Time ที่สั้นที่สุด เพื่อให้สินค้าแปรสภาพจาก Raw Material เป็น Finished Good ที่พร้อมขาย เพื่อให้กระบวนการนั้นๆ มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จนเกิดเป็นค่ามาตรฐานใหม่ที่ดีขึ้น และทำให้ดีขึ้นไปเรื่อยๆ เพื่อเป็นการเพิ่มกำไร ผ่านการลดต้นทุนในกระบวนการผลิต แต่จะไม่ได้เป็นการลดต้นทุนในส่วนที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าในแง่ของการดำเนินธุรกิจนั้น การผลิตเร็วอย่างเดียว ไม่พอ แต่ต้องผลิตแบบมีประสิทธิภาพ ที่พอดีทั้งจำนวนและเวลา เพราะถ้าผลิตมากเกินไป ก็กลายเป็น Stock เกิดเป็นต้นทุนจม หรือ หากผลิตน้อยเกินไป ก็จะกลายเป็นเสียโอกาสทางการขายนอกจากนี้ ยังต้องใส่ใจกับการควบคุมคุณภาพสูงสุด โดยเราจะไม่ปล่อยให้สินค้าที่ไม่ผ่านมาตรฐาน ผ่านไปสู่กระบวนการถัดไปโดยเด็ดขาด หากตรวจพบต้องทำการแก้ไขในทันที
โตโยต้าพยายามเอาแนวความรู้เหล่านี้ นำมาประยุกต์ให้เหมาะสม และถ่ายทอดเพื่อเพิ่มศักยภาพให้แก่ธุรกิจชุมชนต่างๆ ผ่านการซึมซับจากการร่วมปฏิบัติด้วยกัน โดยหลักคือการเปลี่ยน Mindset ให้ผู้ประกอบการรู้จักปัญหา และการเห็นปัญหาคือโอกาส ที่จะก่อให้เกิดการปรับปรุงและพัฒนา ซึ่งโตโยต้าเข้าไปช่วยสอนให้รู้จักมองหาปัญหาทางธุรกิจ เช่น เปลี่ยนมุมมองว่าการ stock ของเยอะๆ เป็นภาระดอกเบี้ยที่ผู้ประกอบการไม่รู้ตัว และทำยังงัยถึงจะแก้ปัญหาในจุดนี้ได้ ฯลฯ หรือ การแนะนำเครื่องมือที่เราใช้ในการทำธุรกิจจริง เช่น แบบฟอร์มKaizen หรือ TBP เพื่อแก้ปัญหา ตลอดจนการลงไปหาสาเหตุของปัญหา เช่น การจับเวลา การลงไปดูสาเหตุของปัญหาที่หน้างาน เป็นต้น
คุณสายทิพย์ ลามา
ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านโคกสว่าง
ข้าวแตนสมุนไพรสายทิพย์ จ.ขอนแก่น
จุดเริ่มต้นของการทำข้าวแตน เราทำมาตั้งแต่ปี 2541 เกิดจากแรงบันดาลใจที่เราต้องไปทำงานต่างแดนเพื่อหาเงินมาเลี้ยงครอบครัว เคยตั้งใจตั้งปณิธานไว้ว่า ถ้าซักวันนึงเรามีบุญหรือมีโอกาสเราอยากทำให้ชุมชนของเรามีรายได้เสริมโดยไม่ต้องทิ้งถิ่นฐาน ไม่ต้องอพยพแรงงาน ใช้แรงงานอยู่ในท้องถิ่นในชุมชน ประเด็นแรกที่เราคิดทำผลิตข้าวแตน เพราะเรามองถึงเรื่องวัตถุดิบในชุมชนที่มีอยู่แล้วใกล้ตัวมากที่สุดคือ “ข้าว” เพราะเราเป็นลูกชาวนามีความผูกพันกับต้นข้าว จะทำอย่างไรให้ข้าวมีราคาสูง เราเลยคิดแปรรูปข้าวเพิ่มมูลค่าทางการเกษตร จากเราขายข้าวเปลือกได้กิโลละ 10 บาท พอมาแปรรูปสามารถขายได้กิโลละ 200-250 บาทต่อกิโลกรัม แล้วเงิน 200-250 บาทเราเอาไปไหนก็เอามาเป็นค่าแรงให้คนในชุมชน ตอนนี้สมาชิกในกลุ่มแต่ละคนก็จะมีรายได้ต่อวันต่อคนวันละ 300-500 บาท สร้างครอบครัวให้มีความสุขได้
ธุรกิจประสบปัญหาอะไรบ้าง ก่อนที่โตโยต้าจะเข้ามาช่วยพัฒนาธุรกิจ
ปัญหาที่เราเจอก่อนทำการไคเซน มีเยอะมาก ยกตัวอย่าง “การปั้นข้าว” แผ่นข้าวไม่ได้มาตรฐาน / โรยน้ำตาลโยนทำให้ขนมแตกหัก / ไม่มีการวางแผนรับงาน / ไม่มีการวางแผนสต๊อคแผ่นดิบ / ไม่มีการเช็คสต๊อคสินค้า / ไม่มีการตรวจคุณภาพ สรุปคือไม่มีระบบจัดการที่ดี ส่งงานล่าช้า ผิดนัดลูกค้า
หลังจากโตโยต้าเข้ามามีส่วนสำคัญในการพัฒนาธุรกิจแล้วมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร
หลังจากการไคเซนแล้ว กลุ่มฯมีการวางแผนการผลิตทุกจุดอย่างเป็นระบบ มีการแก้ไขปัญหา เช่น การปั้นได้แผ่นไม่เท่ากัน แก้ไขโดยการใช้แม่พิมพ์ทำให้เราได้แผ่นที่ได้มาตรฐานเท่ากันทุกแผ่นและไม่แตกง่ายเหมือนเดิม เรามีการวางแผนเรื่อง สต๊อคแผ่นดิบทำให้เรามีแผ่นดิบเพียงพอกับความต้องการของลูกค้า แต่ก่อนเราไม่เคยตรวจคุณภาพของสินค้า แต่ตอนนี้ข้าวแตนของเรามีการตรวจสอบคุณภาพทุกชิ้นก่อนส่งมอบให้ลูกค้า มีการวางระบบจัดส่งทำให้ส่งของได้ตรงตามเวลาลูกค้าพึงพอใจ เราเอาระบบการไคเซนมาใช้ในขบวนการผลิตแบบ TPS ทำให้เรา ลดต้นทุน เพิ่มกำไร ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น มีความสุขอย่างยั่งยืน สุดท้ายเราสามารถแบ่งปันให้กับชุมชนอื่น สร้างแรงบันดาลใจให้กับธุรกิจอื่นได้ สิ่งที่เราภูมิใจมากที่สุดคือเราได้เป็นตัวแทนของบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ที่ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชุมชน เป็นการแบ่งปันครั้งที่ยิ่งใหญ่ โครงการโตโยต้าธุรกิจชุมชนพัฒน์ ทำให้ชุมชนได้ประโยชน์จริงๆ ต้องขอบคุณที่ให้โอกาสชุมชนของเรา