Eco Crew บริการภาชนะให้เช่างานอีเวนต์ ไอเดียแก้ Pain Point ขยะบรรจุภัณฑ์ใช้ครั้งเดียวทิ้ง

TEXT : นิตยา สุเรียมมา

PHOTO : สุนันท์ ล้อสมทรัพย์

 

     มีคนเคยกล่าวไว้ว่า พลาสติกไม่ใช่วายร้าย แต่ปัญหาที่แท้จริงของขยะที่เกิดขึ้นจนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ก็คือ การใช้แบบครั้งเดียวทิ้ง หรือเรียกว่า “Single-Use Plastics” โดยปี 2565 กรมควบคุมมลพิษพบว่ามีขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวร้อยละ 11 ของปริมาณขยะที่เกิดขึ้นทั้งหมด หรือ 2.83 ล้านตันต่อปี มีเพียง 25% หรือ 0.71 ล้านตันเท่านั้น ที่นำกลับไปใช้ประโยชน์ซ้ำได้ ที่เหลือ คือ ถูกฝังกลบและตกค้างในสิ่งแวดล้อม

     จาก Pain Point ของปัญหาขยะที่เกิดขึ้น คือ หนึ่งในเหตุผลสำคัญทำให้ เชอณิชชา โสภาพีร์ (แจม) และ ณัฐพล อินคล้าย (โด) สตาร์ทอัพคนรุ่นใหม่แห่งเมืองชลบุรีและกลุ่มเพื่อน ได้คิดรูปแบบธุรกิจบริการให้เช่า-ยืมภาชนะขึ้นมา โดยเริ่มต้นจากงานอีเวนต์, ปาร์ตี้, ประชุมสัมมนาต่างๆ ที่มักจัดในระยะเวลาสั้นๆ แต่ก่อให้เกิดปัญหาขยะบรรจุภัณฑ์ใช้ครั้งเดียวทิ้งค่อนข้างเยอะ ในชื่อ ‘Eco Crew’ รวมพลคนสายอีโค่ ที่เปิดตัวเพียงแค่ปีกว่าๆ ก็สามารถช่วยลดขยะไปได้หลายแสนชิ้น!

เริ่มจากปัญหาใกล้ตัวในชีวิตประจำวัน

     “เราบังเอิญไปเดินอีเวนต์กาแฟงานหนึ่ง เห็นคนซื้อกาแฟจากในงาน กินเสร็จก็เอาแก้วมาทิ้งถังขยะที่หน้างานกันเยอะมาก จนล้นใบเดียวใส่ไม่พอ เลยเกิดความว่าจริงๆ ถ้ามีตัวเลือกที่ดีกว่านี้ ไม่ต้องทำให้เกิดขยะ เชื่อว่าต้องมีคนใช้แน่นอน เพราะเขาไม่ได้ต้องการเอากลับ แค่ใช้เป็นแก้ว Take Away ใส่กินเฉยๆ เลยคิดไอเดียบริการให้เช่า-ยืมภาชนะขึ้นมา ซึ่งจริงๆ โมเดลนี้เราไม่ได้คิดขึ้นมาเองเป็นคนแรก อย่างที่เยอรมันมีการทำมาเป็นสิบๆ ปีแล้ว หรือบริการหลายๆ อย่างในสมัยก่อน เช่น ขวดน้ำปลา, ขวดน้ำอัดลม, เก๊กฮวย ที่ซื้อแล้วต้องมีการคืนขวด หรือแม้แต่การยืมถ้วย จาน ชาม จากวัด เพียงแต่เรานำมาเสนอใหม่ในรูปแบบธุรกิจเท่านั้น”

     โดยเล่าว่าหลังจากได้ไอเดียแล้ว ทั้งคู่ก็ลองไปเสิร์ชหาข้อมูลเพิ่มเติม จนมั่นใจว่าทำได้แน่นอน จึงได้ทดลองเป็นสปอนเซอร์ให้กับงานวิ่งงานหนึ่ง โดยให้ใช้ฟรี ไม่เก็บค่าใช้จ่าย และอีก 2-3 งาน ก่อนจะเริ่มต้นเปิดให้บริการในรูปแบบธุรกิจ

     “ในช่วงเริ่มต้นก่อนเปิดให้บริการจริง เราทดลองเป็นสปอนเซอร์ให้กับงานวิ่งงานหนึ่งก่อน ไม่ได้ทำเยอะมาก ตอนนั้นคนร่วมงานประมาณ 1,000 คน เราเริ่มจากให้ยืมแก้วน้ำก่อน ผลปรากฏแก้วหายไป 50% เลย คือ ตอนนั้นให้ยืมฟรีๆ เลย ไม่ได้ทำระบบอะไรขึ้นมา ส่วนใหญ่ที่หายไป คือ ทิ้งและก็หาไม่เจอ แต่อย่างน้อยสิ่งที่เราได้เห็น คือ ความเป็นไปได้จากที่ยังเหลืออยู่อีก 50% ต่อมาก็ทดลองเป็นงานมิตติ้งเล็กๆ ควบคุมได้ง่ายขึ้น เริ่มปรับวิธีการใหม่ ทำให้อัตราการคืนสูงขึ้น ก็ทำให้มั่นใจมากขึ้น รู้ว่าทางไหนทำได้ และอะไรที่ทำไม่ได้ เริ่มมีข้อมูล ได้รู้อินไซต์ของ User มากขึ้น จากทดลองทำฟรีอยู่ 2-3 งาน ก็เริ่มขายงาน และทำให้เป็นระบบมากขึ้น จากใช้วิธีจดบันทึกลง Excel ก็เริ่มให้น้องเขียนโปรแกรมออกแบบระบบหน้าบ้าน หลังบ้าน”

ปรับเปลี่ยนโมเดล หาสูตรธุรกิจที่ลงตัว

     แจมและโด บอกว่ากว่าทุกอย่างจะเริ่มลงตัวอย่างทุกวันนี้ พวกเขาได้ทดลองปรับเปลี่ยนโมเดลไปหลายรูปแบบ เพื่อให้ง่ายและสะดวกต่อการใช้บริการของผู้ใช้บริการได้มากที่สุด

     โดยอธิบายระบบการทำงานจะมี 2 ส่วนหลัก คือ 1.แดชบอร์ดหลังบ้าน เพื่อทำข้อมูลของภาชนะแต่ละใบ โดยแก้วและชามแต่ละใบจะมีคิวอาร์โค้ดติดอยู่ เป็นเลขไอดีที่ไม่ซ้ำกันเลย เพื่อเอาไว้เช็คการยืม-คืน หาย หรือชำรุด และยังเป็นการเก็บข้อมูลด้วยว่าแก้ว ชามใบดังกล่าว ใช้ไปแล้วทั้งหมดกี่ครั้ง งานอะไรบ้าง และ 2. ระบบหน้าบ้าน คิวอาร์โค้ด เพื่อทำการสแกนยืม-คืน ไปจนถึงคืนเงินค่ามัดจำแก่ลูกค้า ซึ่งหลังจากจบงานจะมีสต๊าฟทำหน้าที่เข้าไปเคลียร์ภาชนะ เพื่อนำกลับมาทำความสะอาดต่อไป

     กลุ่มลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ มีตั้งแต่กลุ่มลูกค้าบุคคล ไปจนถึงองค์กร ตั้งแต่งานปาร์ตี้ 40-50 คน, งานมิตติ้งภายใน, ประชุม, งานแต่งงาน, งานแฟร์, งานรับน้อง ไปจนถึงงานอีเวนต์ใหญ่ๆ คนหลักพัน หลักหมื่น

     “มันเป็นสิ่งใหม่สำหรับในเมืองไทย ที่ยังไม่มีใครนำมาทำเป็นธุรกิจจริงจังขึ้นมา เราเลยมีการปรับโมเดลไปหลายครั้งเหมือนกัน อย่างช่วงแรกเราใช้วิธีตั้งบูธและให้ User เป็นคนมาสแกนยืมเอง โดยมีการคิดค่าบริการ (ค่าเช่า) และมัดจำ เสร็จแล้วค่อยเอาไปใช้ ใช้เสร็จก็เอามาคืน ก็จะได้มัดจำคืน ปรากฏว่าไม่ค่อยมีคนมาใช้บริการมากสักเท่าไหร่

     “ตอนหลังเลยลองปรับโดยเอาไปไว้ที่ร้านค้า หรือจุดจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มเลย โดยเขาไม่ต้องทำอะไร เหมือนซื้อของปกติ ซึ่งจะคิดค่าบริการรวมไปกับสินค้าเลย เช่น ก๋วยเตี๋ยว 50 บาท ก็จะบวกเพิ่มเป็น 60 บาทไปเลย หลังจากนำภาชนะมาสแกนคืนที่จุดดรอปแล้ว เราก็จะคืนเงินให้ รับเป็นเงินสดหรือโอนเข้าบัญชีภายใน 2 วัน เพราะตอนสแกนจะมีให้กรอกชื่อ เลขบัญชีไว้รับเงินมัดจำคืนอยู่แล้ว นี่คือ กรณีงานอีเวนต์ที่มีเจ้าภาพจัดงาน แต่สำหรับงานส่วนบุคคลเล็กๆ ก็จะอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่แค่ช่วยลดขยะเท่านั้น สำหรับพ่อค้าแม่ค้าเอง นี่เป็นอีกวิธีที่ช่วยลดต้นทุนให้เขาด้วย สมมติถ้วยกระดาษขาวปกติตกใบละ 5 บาท แต่พอใช้ของเราเท่ากับเขาประหยัดไป 5 บาทต่อใบ เคยลองถามดู บางคนเล่าว่าเขาประหยัดไป 1,500-3,000 บาท/งานเลยก็มี”

ฟู้ดเดลิเวอรี่ เป้าหมายใหญ่การลดปริมาณขยะ

     นอกจากรูปแบบบริการที่ทำขึ้นมา เพื่อเป็นตัวกลางช่วยอำนวยความสะดวกและลดขยะจากภาชนะใช้ครั้งเดียวทิ้งในงานอีเวนต์ต่างๆ แล้ว แจมและโดเล่าว่าพวกเขายังพยายามคิดถึงการลดคาร์บอนในกระบวนการต่างๆ ลงด้วย อาทิ การล้างทำความสะอาด แทนที่จะใช้การจ้างพนักงานมาล้าง ก็ลงทุนซื้อเครื่องล้างจานมาใช้แทน หรืออย่างภาชนะรุ่นแรกที่มีการสกรีนโลโก้ ข้อความ แต่เมื่อพบว่าไม่สามารถนำไป Recycle หลอมขึ้นมาใช้ใหม่ได้ ได้แค่นำไป  Upcycle นำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นแทน เพราะอุณหภูมิเผาไหม้ของสีสกรีนต้องใช้ความร้อนสูงกว่าเนื้อพลาสติก พอรุ่นต่อมาก็ใช้การสกรีนน้อยลง เหลือแค่คิวอาร์โค้ด เพื่อไว้สแกนรับ-คืนภาชนะ

     “ในปริมาณแก้ว ชามเท่ากัน ถ้าเราใช้คนล้างอาจต้องจ้างหลายคน ใช้เวลาการทำงานนานกว่า เปลืองน้ำมากกว่า แต่ถ้าใช้เครื่องแค่ 2 นาที ก็ล้างได้ 25-30 ใบแล้ว กินไฟไม่มาก เสร็จเร็วกว่า การเกิดคาร์บอนฟุตปริ้นท์ ก็น้อยกว่า”

     สำหรับค่าบริการนั้น ปัจจุบัน Eco Crew จะมีภาชนะอยู่ 2 ชนิด คือ แก้วและชามพลาสติก ซึ่งผลิตจากพลาสติก PP สามารถใช้ได้มากกว่า 500 ครั้ง โดยหากเป็นแก้วจะคิดค่าบริการเริ่มต้นต่อใบอยู่ที่ 1.70 บาท สำหรับถ้วยพลาสติกจะอยู่ที่ใบละ 5 บาท (ไม่รวมค่าขนส่ง) ยิ่งเช่าเยอะราคาก็จะลดลงไปอีกตามขั้นบันได ซึ่งการใช้แต่ละครั้งเท่ากับช่วยลดขยะไปแล้ว 1 ชิ้น”

     “แก้วพลาสติก PP 1 ใบ ใช้งาน 25-40 ครั้ง ถึงจะคืนทุนคาร์บอนที่ผลิตออกมา จนถึงตอนนี้เวลาปีกว่าๆ เราออกงานไปแล้ว 30 กว่างานได้ เท่ากับว่าการใช้ต่อจากนี้ ก็ไม่มีการปล่อยคาร์บอนในส่วนกระบวนการผลิตเพิ่มแล้ว”

     สำหรับเป้าหมายอนาคตต่อไป นอกจากงานอีเวนต์ต่างๆ แจมและโดคิดว่าพวกเขาอยากขยายการให้บริการมาสู่ธุรกิจอาหารต่อไปด้วย

     “จริงๆ เป้าหมายที่แท้จริงของเรา คือ ฟู้ดเดลิเวอรี่ ซึ่งก่อให้เกิดขยะจากภาชนะค่อนข้างมาก เรามองว่าถ้าสามารถทำตรงนี้ได้ มันจะสร้างอิมแพคให้เกิดขึ้นได้มาก โดยอาจลองเริ่มจากเครือข่ายร้านอาหารที่เขาสนใจด้านนี้ก่อน เอาเราไปเป็นหนึ่งในภาชนะทางเลือกให้ลูกค้าเลือก และสร้างเป็นจุดดรอปให้เขานำภาชนะไปคืนได้ อาจเริ่มต้นขึ้นที่อาคารสำนักงานใหญ่ๆ ก่อน เพื่อให้ควบคุมได้ง่าย และสะดวกต่อผู้ใช้งาน จากนั้นจึงค่อยขยายไปโมเดลอื่นๆ ต่อ จนวันหนึ่งมันกลายเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวันไปได้ เป็นโครงสร้างพื้นฐานสังคมที่ทุกคนสามารถปฏิบัติได้อย่างเป็นปกติ โดยไม่ต้องใช้ความพยายามหรือการตระหนักรู้ใดๆ วันหนึ่งเราหวังว่าจะเป็นแบบนั้นได้” แจมและโดกล่าวทิ้งท้ายเอาไว้

 

ข้อมูลติดต่อ

https://www.facebook.com/ecocrewth

โทร. 091 796 5362

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: TECH

รวมแอปจัดการขนส่งออนไลน์ ตัวช่วยธุรกิจส่งเร็วทันใจ ยอดขายไม่สะดุด

การขนส่งที่ดี คืออีกหนึ่งในเหตุผลสำคัญทำให้ลูกค้าตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าจากร้านของเราได้  วันนี้เลยอยากลองชวนมารู้จักกับแอปฯ ช่วยจัดการระบบขนส่งออนไลน์ ที่สามารถใช้งานได้ฟรี ไม่มีค่าบริการ

จากกากกาแฟสู่พลังงานแห่งอนาคต กับเทคโนโลยีถ่านคาร์บอนเปลี่ยนโลก

ชวนไปดูเรื่องราวของ “เทคโนโลยีผลิตถ่านคาร์บอนจากของเหลือทิ้งกาแฟ” ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ไม่เพียงช่วยลดขยะ แต่ยังเปลี่ยนให้กลายเป็นพลังงานทดแทนที่มีประสิทธิภาพอีกด้วย

Cirkul ขวดไฮเทค เปลี่ยนน้ำเปล่าเป็นเครื่องดื่มได้ในพริบตา ไอเดียธุรกิจที่เกิดขึ้นในห้องล็อคเกอร์

Cirkul เริ่มต้นขึ้นในห้องล็อกเกอร์ของ Dartmouth College ขณะกำลังเทผงเครื่องดื่มสำหรับนักกีฬาลงในขวดน้ำปากแคบแล้วหกเลอะเทอะ จึงเกิดเป็นคำถาม 'จะเป็นยังไงถ้าแค่ใส่อะไรลงไปแล้วดื่มได้เลย' ที่นำมาสู่ไอเดียธุรกิจพันล้านในเวลาต่อมา