TEXT : กองบรรณาธิการ
สังเกตไหมเดี๋ยวนี้จะผลิตสินค้าอะไรออกมาก็ตาม การคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมักเป็นปัจจัยอันดับต้นๆ ที่หลายธุรกิจต่างนำมาใช้พัฒนาสินค้าของตนเอง เพราะนอกจากจะช่วยลดมลพิษที่เกิดขึ้นแล้ว แนวคิดดังกล่าวยังช่วยสร้างความน่าสนใจให้กับแบรนด์และจูงใจผู้บริโภคให้หันมาอุดหนุนสินค้ากันมากขึ้นได้ด้วย
เหมือนเช่น กางเกงยีนส์ แฟชั่นสุดฮิตทุกยุคทุกสมัยที่ไม่ว่าใครอย่างน้อยๆ ต้องมีติดตู้เสื้อผ้าไว้สักตัวหนึ่ง แต่เคยรู้ไหมว่ากว่าจะผลิตออกมาเป็นกางเกงยีนส์แต่ละตัวได้ เราต้องสูญเสียทรัพยากร หรือแรงงานในการผลิตไปมากน้อยเท่าไหร่
โดยจุดเริ่มต้นที่มาของกางเกงยีนส์ยุคแรกนั้นถูกผลิตขึ้นมาในประเทศอิตาลีเพื่อให้คนทำงานในเหมืองแร่ หรือในฟาร์มต่างๆ ใช้กัน เนื่องจากเป็นผ้าฝ้ายที่มีความแข็งแรงทนทานที่มีชื่อเรียกว่า เดนิม (Denim) โดยเกิดขึ้นจากรูปแบบการทอที่เรียกว่า “Twill” หรือการทอด้วยเส้นใยขนานอย่างน้อย 2 เส้น จากนั้นจึงนำมาย้อมด้วยสีคราม (Indigo) เพื่อนำไปตัดเย็บเป็นกางเกงยีนส์ในที่สุด ซึ่งเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไป และเอกลักษณ์โดดเด่นของผ้ายีนส์ที่แตกต่างจากผ้าชนิดอื่นๆ จึงทำให้ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น จนกลายเป็นแฟชั่นสุดคลาสสิกของโลกมาจนถึงทุกวันนี้
แต่ในการจะผลิตกางเกงยีนส์หรือผ้าเดนิมขึ้นมาได้นั้น ต้องใช้น้ำในการผลิตค่อนข้างมากตั้งแต่ขั้นตอนการย้อมสี ไปจนถึงการฟอกสี เพื่อตกแต่งออกมาเป็นกางเกงยีนส์สไตล์ต่างๆ ซึ่งต้องใช้การซักซ้ำหลายๆ ครั้ง ส่งผลกระทบทั้งต่อการสูญเสียน้ำสะอาดปริมาณมาก และมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมด้วย โดยมีรายงานว่าเราอาจต้องใช้น้ำสะอาดมากถึง 3,000 – 10,000 ลิตร เพื่อจะผลิตผ้าฝ้าย 1 กิโลกรัม
จากปัญหาที่กล่าวมาจึงทำให้ Lisa Chapman รองศาสตราจารย์ด้านเทคโนโลยีสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มและการจัดการที่ North Carolina State University และอดีตนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา Ming Wang ผู้เขียนนำการศึกษาใน Journal of Imaging, Science and Technology ผู้คิดค้นการผลิตกางเกงยีนส์รูปแบบใหม่ได้อธิบายประโยชน์การผลิตกางเกงยีนส์ด้วยวิธีการพิมพ์แบบดิจิทัลว่า เป็นการพิมพ์ในรูปแบบอิงค์เจ็ตเหมือนกับเครื่องพิมพ์ตามบ้านทั่วไป โดยแทนที่จะนำไปย้อมและฟอกเพื่อให้เกิดสีและลวดลาย ซึ่งต้องใช้น้ำปริมาณมาก ก็เปลี่ยนมาเป็นวิธีการหยดหมึกพิมพ์ลงบนเนื้อผ้าแทน โดยสามารถทำได้ไม่จำกัดสี และทำซ้ำๆ ได้ ทำให้ช่วยประหยัดเวลาในการทำงาน ลดการใช้พลังงานและทรัพยากรในการผลิตลงได้มาก
โดยวิธีการผลิตกางเกงยีนส์หรือผ้าเดนิมดิจิทัล ขั้นตอนแรก ก็คือ จะใช้เครื่องสแกนความละเอียดสูงเพื่อสแกนภาพตัวอย่างกางเกงยีนส์ที่ต้องการลงไป จากนั้นจึงโอนไฟล์ไปยังคอมพิวเตอร์ นำกางเกงยีนส์ที่ต้องการทำสีใส่ลงไปที่เครื่องพิมพ์ โดยมีการทดลองทำออกมา 6 รูปแบบที่มีสีและลวดลายแตกต่าง โดยพบว่าการพิมพ์ดิจิทัลสามารถสร้างลวดได้เหมือนกับกางเกงยีนส์ต้นแบบ
คำกล่าวนี้ไม่ได้พูดขึ้นมาเองแบบลอยๆ แต่มีการนำไปให้ผู้เชี่ยวชาญ 12 คนจากอุตสาหกรรมสิ่งทอที่มีประสบการณ์เป็นผู้ตรวจสอบ ซึ่งพบว่าผ้าเดนิมแบบดั้งเดิมและแบบดิจิทัลนั้นมีความใกล้เคียงกันมาก โดยมีการให้คะแนนระหว่าง 1 - 5 โดย 1 คือ แตกต่างมาก ส่วน 5 คือ แทบไม่มีความแตกต่าง ซึ่งกางเกงยีนส์ดิจิทัลได้คะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 3 กว่าๆ แถมในการพิมพ์ดิจิทัลยังช่วยให้ได้คุณภาพผ้าที่นุ่มสวมใส่สบาย เนื่องจากหากเป็นการย้อมผ้าแบบเดิมสีหมึกจะซึมเข้าไปในเนื้อผ้าค่อนข้างมาก แต่สำหรับการพิมพ์ดิจิทัลสีหมึกจะไม่ซึมเข้าเนื้อผ้ามากนัก เนื่องจากเป็นการพิมพ์ลงบนพื้นผิวของผ้า จึงมีความนุ่มสบาย เนื้อสัมผัสดีกว่า
จากความสำเร็จดังกล่าวพวกเขาคาดการณ์ว่าการพิมพ์แบบดิจิทัล จะเป็นวิธีการที่เป็นไปได้สำหรับการผลิตผลิตภัณฑ์จากผ้ายีนส์ใหม่ๆ ในอนาคตได้ และทำให้เกิดการสิ้นเปลืองทรัพยากรน้อยกว่า แม้ปัจจุบันอาจมีราคาสูงเมื่อเทียบกับการผลิตกางเกงยีนส์แบบดั้งเดิมก็ตามที เนื่องจากปริมาณการผลิตที่ยังน้อยอยู่ แต่ถึงแม้จะยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงตลาดกางเกงยีนส์ดั้งเดิมได้ในทันที แต่การผลิตผ้าเดนิมดิจิทัลกลับเป็นทางเลือกที่ดีให้กับลูกค้าที่ต้องการผ้าเท่ๆ คลาสสิกแบบเดนิม แต่ขณะเดียวกันก็ต้องการคุณภาพผ้าที่สูงกว่า นิ่มกว่า เช่น การเสื้อเชิ้ตหรือชุดเดรสผ้ายีนส์ของผู้หญิง ก็เป็นตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ และสามารถทำได้ทันทีเลย
ที่มา :
https://www.weforum.org/agenda/2021/11/digital-denim-is-good-as-real-energy-traditional-jeans
https://www.futurity.org/digital-denim-fabric-inkjet-printing-textiles-2648262/
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี