เรื่อง กองบรรณาธิการ
ในวงการไอที บ้านเราน้อยคนนักจะไม่รู้จัก “กระทิง”-เรืองโรจน์ พูนผล ผู้เป็นทั้งต้นแบบให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่หลายคนอยากเดินตาม ด้วยประสบการณ์ของเรืองโรจน์ที่โลดแล่นอยู่ใน ซิลิคอน วัลเลย์ เมืองแห่งไอทีอันดับ 1 ของโลก จากการได้ทำงานที่บริษัทกูเกิล และเป็นหนึ่งในทีมผู้ปั้นโปรเจ็คต์กูเกิลเอิร์ธ (Google Earth) ที่โด่งดัง รวมถึงการเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Technology Startup บริษัทเล็กๆ ในซิลิค่อน วัลเล่ย์ แต่สามารถระดมเงินทุน 1.1 ล้านดอลลาร์ เพื่อพัฒนาแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ
วันนี้ เรืองโรจน์ กลับมาเป็นนักปั้นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในกลุ่มดิจิตอล โดยก่อตั้ง Disrupt University เพื่อถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ของตนเอง และยังเข้าร่วมกับ โครงการ Dtac Accelerate โครงการที่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่ต้องการโตแบบก้าวกระโดด เนื่องจากผู้ประกอบการหน้าใหม่ในกลุ่มดิจิตอล หรือมักจะถูกเรียกขานกันในกลุ่มว่า Startup กำลังเป็นโมเดลแจ้งเกิด SME รุ่นใหม่
ยิ่งการเติบโตของจำนวนผู้ใช้สมาร์ทโฟน ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่มสูงขึ้น ก็ยิ่งทำให้สตาร์ทอัพเติบโตมากขึ้น แต่กระนั้น มีการคะเนกันว่า Startup กลุ่มดิจิตอล คอนเทนต์ในเมืองไทยในวันนี้น่าจะมีอยู่ราว 300 ทีม ขณะที่เปอร์เซ็นต์ความสำเร็จของธุรกิจกลุ่มนี้มีแค่ 1% นั่นหมายความว่าจะมีผู้เล่นตัวจริงที่เหลือรอดเพียง 9 ทีมเท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมาก แม้ว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่าน ผู้ประกอบการหน้าใหม่กลุ่มนี้จะเริ่มมีเพิ่มมากขึ้นและค่ายโทรศัพท์มือถือต่างลงมาช่วยกันปั้นพวกเขาก็ตาม
ทำไมสตาร์ทอัพกลุ่มนี้จึงมีอยู่น้อย และจะทำอย่างไรที่จะเป็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จได้ “กระทิง”-เรืองโรจน์ พูนผล Commercial Director ของ Telenor Digital มีคำตอบ
“สิ่งที่กลุ่มสตาร์ทอัพบ้านเราขาดคือปริมาณ ในตอนนี้เรามีทีมที่เก่งๆ ไม่แพ้ชาติอื่น มีบริษัทใหญ่ๆ ให้เห็นอย่างเช่น Ookbee กับ aCommerce ซึ่งบริษัทพวกนี้มูลค่าบริษัทเป็นพันล้านบาท มีรุ่นน้องถัดไปอีกประมาณ 10 กว่าทีม แต่ว่าหลังจากนั้นก็ต้องผลักดันขึ้นมาใหม่” กระทิง กล่าวถึงสถานการณ์ของกลุ่ม Startup ด้านดิจิตอล คอนเทนต์
อย่างไรก็ตาม การจะประสบความสำเร็จก็ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยส่วนใหญ่ปัจจัยที่ทำให้พวกเขาต้องเจอกับความล้มเหลวมาจาก 3 ปัจจัย คือ 1. สิ่งที่ทำไม่ได้เป็นการแก้ปัญหา หรือไม่ได้สร้างมูลค่าเพิ่ม หากแต่เป็นเพียงโปรดักต์ที่ไม่มีคนใช้ 2. ต้องปฏิบัติให้เกิดผลอย่างรวดเร็ว และ 3. ต้องใช้เงินอย่างประหยัด กล่าวคือนอกจากทุกๆ วินาทีจะมีค่าแล้ว ทุกบาททุกสตางค์ก็มีค่าด้วยเช่นกัน
“ไม่ว่าคุณจะลงทุนอะไรก็ตาม คำถามแรกๆ ที่นักลงทุนจะถามคือ คุณจะหาเงินได้อย่างไร ฉะนั้น รูปแบบการทำธุรกิจต้องชัดตั้งแต่แรก ซึ่งสตาร์ทอัพหลายคน ไม่ได้ถามตัวเองว่าสิ่งที่ทำสามารถแก้ปัญหาให้ใครสักคนจริงหรือเปล่า มีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดไหม นอกจากนี้ ยังต้องมีความเร็วอีกด้วย ยกตัวอย่าง นีล พาเทล ผู้ก่อตั้ง KissMetrics นักการตลาดผู้ติดท้อปเทนออนไลน์ในโลก บอกเลยว่าเขาใช้เวลา 2 ปีในการสร้างโปรดักต์ ใช้เงินประมาณ 6 ล้านเหรียญ ซึ่งเหมือนกับการเอาเงินมาเทลงในโถส้วมแล้วกดชักโครกทิ้งไป สตาร์ทอัพไม่ควรใช้เวลานานขนาดนั้นในการสร้างโปรดักต์ ทุกๆอาทิตย์ต้องมีความคืบหน้า สตาร์ทอัพที่ล้มเหลวบางคนเป็นเพราะเคลื่อนช้าเกินไป คือจะมีจุดหนึ่งที่ต้องเปลี่ยนยุทธศาสตร์ เปลี่ยนโปรดักต์ เปลี่ยนกลุ่มเป้าหมาย เปลี่ยนรูปแบบธุรกิจทั้งหมดเลย ซึ่งบางคนดื้อไม่ยอมเปลี่ยน จริงๆ แล้ว การล้มเหลวในวันนี้ย่อมดีกว่าที่จะไปล้มเหลวในอีก 2 ปีข้างหน้า”
นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่สตาร์ทอัพไทยขาดแคลนอย่างหนักคือ ความรู้ทางธุรกิจ ซึ่งแม้จะมีไอเดียหรือมีความสามารถด้านดีไซน์ขนาดไหน หากไม่มีพื้นฐานทางธุรกิจร้อยทั้งร้อยก็จะไปไม่รอด
“บางครั้งทำโปรดักต์ออกมาน่าตกใจมาก ไม่น่าเชื่ออายุเท่านี้ทำโปรดักต์ออกมาได้เจ๋งขนาดนี้ แต่ว่าขายของไม่เป็น เจรจาต่อรองไม่เป็น ก็จบเลย จะบอกว่านี่คือสิ่งที่บ้านเรายังขาดค่อนข้างมาก นอกจากนี้ ที่เป็นปัญหาไม่ใช่แค่ในประเทศไทยแต่ทั้งอาเซียน คือเรายังไม่มี original idea ในการทำธุรกิจ คือต้องมีความคิดที่เป็นต้นแบบ ไม่เหมือนใคร แล้วมีลักษณะเฉพาะกับประเทศไทยหรืออาเซียน แต่มีศักยภาพที่จะไปโตได้ทั่วโลก ที่ผ่านมาก็มักจะก็อปแล้วมาประยุกต์ใช้กับเมืองไทย นี่แหละคือสิ่งที่สตาร์ทอัพบ้านเราขาด”
ทั้งนี้ หากประเมินภาพรวมจำนวนสตาร์ทอัพจากร้อยเปอร์เซ็นต์ กระทิงบอกว่าน่าจะมีอยู่ราว 20 เปอร์เซ็นต์ แต่เชื่อว่าในเร็วๆ นี้ น่าจะขยับขึ้นไปที่ 50 เปอร์เซ็นต์ และเพื่อให้การสตาร์ทอัพเติบโตได้เร็วขึ้นทุกภาคส่วนต้องออกแรงช่วยกันสร้างสตาร์ทอัพ
“สตาร์ทอัพของสิงคโปร์ประกาศเป็นยุทธศาสตร์ แต่สำหรับไทยคิดว่าถ้ามหาวิทยาลัยซึ่งเป็นแหล่งป้อน สามารถผลิตและทำให้นักศึกษาเห็นว่ามีทางเลือกอื่นที่ไม่ใช่การเป็นแค่พนักงานบริษัท แต่เปิดบริษัทได้ลองผิดลองถูกตั้งแต่อายุ 20 ปีกว่าๆ แล้วการทำสตาร์ทอัพได้เรียนรู้อะไรเยอะมาก ดังนั้น สมมตว่าภาคการศึกษาทำได้ 30% ภาคเอกชนเราทำกันได้ไม่เกิน 30% สุดท้ายรัฐบาลสนับสนุน ให้ 30% ผมว่า ecosystem น่าจะโตขึ้นเป็น 50 เปอร์เซ็นต์ เพราะว่า ecosystem ไทยโตเร็วมากอยู่แล้ว”
Create by smethailandclub.com