ในปัจจุบันเรามักเห็นอาหารที่ทำจากโปรตีนจากพืชหลากหลายอย่างมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าผู้บริโภคหันมาสนใจสุขภาพเพิ่มมากขึ้น และยังตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ทำให้หลายๆ ธุรกิจเริ่มสนใจที่จะพัฒนาอาหารที่สามารถใช้ทดแทนเนื้อสัตว์มากขึ้น และในตอนนี้ก็มีเทคโนโลยีใหม่ที่สามารถสร้างโปรตีนทดแทนเนื้อสัตว์ได้โดยไม่ต้องมีส่วนผสมจากพืช เทคโนโลยีที่ว่านี้ก็คือ Air Protein
การสร้างโปรตีนจากอากาศหลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องจริงหรือ มันเป็นเรื่องเหนือจินตนาการหรือเปล่า เราอยากบอกว่ามันไม่ใช่เรื่องเหนือจินตนการแต่อย่างใด มันเป็นเรื่องจริงที่กำลังจะเกินขึ้น และทางบริษัทที่สร้างเทคโนโลยีนี้ขึ้นมา ยังบอกอีกว่าการสร้างโปรตีนจากอากาศมันมีความเป็นไปได้สูงมาก
ที่มาของการสร้าง Air Protein
คนที่เป็นเบื้องหลังในการสร้าง Air Protein ก็คือ Dr. Lisa Dyson นักฟิสิกส์ด้านการวิจัยและที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ ซึ่งเขาได้รับแรงบันดาลใจมากจากการวิจัยของ NASA ที่ทำการวิจัยในปี 1960 ซึ่งทาง NASA ได้พยายามหาวิธีที่ทำให้นักบินอวกาศสามารถปลูกอาหารทานเองได้ในการเดินทางไปอวกาศ และทาง NASA ก็ได้ค้นพบแบคทีเรียในกลุ่ม Hydrogenotrophs ซึ่งสามารถเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ให้เป็นสารอาหารได้ และทาง CEO Dyson ก็นำเอาวิจัยนี้ไปพัฒนาต่อยอดเป็นเทคโนโลยี Air Protein ขึ้นมา เป้าหมายของเขาก็คือต้องการที่จะผลิตเนื้อสัตว์ที่สามารถทดแทนเนื้อสัตว์ที่ทำจากพืชได้ เช่น Impossible Foods หรือ Beyond Meat ที่กำลังเป็นที่นิยมในตอนนี้
ข้อได้เปรียบของการผลิต Air Protein
ในการสร้าง Air Protein ใช้พื้นที่น้อยกว่าในการเลี้ยงโคและการปลูกพืช ซึ่งพลังงานที่ใช้ในการหมักจุลินทรีย์นั้นก็มาจากพลังงานหมุนเวียน CEO Dyson ยังบอกอีกว่าการผลิตเนื้อสัตว์จาก Air Protein นอกจากจะทำให้อร่อยและมีคุณค่าทางโภชนาการที่สูงแล้ว ยังช่วยทำให้เนื้อสัตว์ที่ทำจากโปรตีนมีราคาที่ถูกและยังมีความยั่งยืนกว่าเนื้อสัตว์อื่น ๆ อีกด้วย เพราะว่าในการสร้างโปรตีนจากอากาศมีต้นทุนในการผลิตที่ต่ำ
ถ้าเปรียบเทียบกระบวนการผลิตของ Air Protein กับการปลูกถั่วเหลือง ซึ่งในการปลูกถั่วเหลืองนั้นต้องใช้พื้นที่ขนาดเท่ากับรัฐเท็กซัส ซึ่งเป็นรัฐที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา และถ้าต้องการผลิตถั่วเหลืองเพื่อให้มีโปรตีนเท่ากับฟาร์มโปรตีนจากอากาศ ต้องใช้พื้นที่ขนาดเท่ากับ Walt Disney World ไดสันกล่าวเสริม
ข้อได้เปรียบของโปรตีนจากอากาศอีกข้อหนึ่งก็คือ เวลาในการผลิต ซึ่งแป้งที่ทำจาก Air Protein สามารถผลิตได้ภายในเวลาไม่กี่วัน และเมื่อเทียบกับระยะเวลาที่ปลูกพืชกับเลี้ยงสัตว์ ต้องใช้ระยะเวลาเป็นเดือนเป็นปีกว่าจะได้โปรตีนมา
และเทคโนโลยีนี้ก็จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับธุรกิจที่ต้องการทำอาหารจากโปรตีนเพื่อทดแทนเนื้อสัตว์
TEXT : รัชนีกร ทองรอด
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี