การลงทุนด้านดิจิทัล เครื่องมือไอทีต่าง ๆ นับว่ามีความสำคัญต่อธุรกิจทุกวันนี้อย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดวิกฤตโควิด-19 ขึ้นเช่นนี้ ผู้ประกอบการหลายคนต่างหันมาลงทุนและพึ่งพาเทคโนโลยีมากขึ้น เพื่อทรานฟอร์มตัวเองสู่ความเป็นดิจิทัล โดยหวังว่าจะช่วยแก้ไขปัญหา และทำให้กิจการอยู่รอดยืนยาวต่อไปได้ แม้อนาคตจะต้องเจอกับวิกฤตใดที่เข้ามาอีกก็ตาม แต่การลงทุนดิจัทัลด้านใดล่ะจึงจะสามารถเข้ามาช่วยตอบโจทย์ธุรกิจในยามนี้ได้ รวมถึง SME ควรเตรียมตัวอย่างไรเพื่อให้สามารถไปต่อได้กับทุกสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นมาในอนาคต ลองมาฟังผลสำรวจข้อมูลงานวิจัยจากซิสโก้ ผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีแก่ธุรกิจ
จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เริ่มต้นขึ้นในปีที่ผ่านมาเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้ผู้ประกอบการ SME หลายคนได้ให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีมาใช้ทำธุรกิจเพิ่มมากขึ้น โดยพบว่า SME กว่า 73 เปอร์เซ็นต์ได้มีการพยายามปรับเปลี่ยนตนเองสู่ระบบดิจิทัลมากขึ้น
โดยจากผลสำรวจของซิสโก้ “SME ICT Insights” ที่จัดทำขึ้นโดย Analysys Mason เพื่อสอบถามความคิดเห็นจากผู้บริหารระดับสูงในสายงานธุรกิจและไอทีของเอสเอ็มอี 1,600 ราย ซึ่งในบริษัทจะมีพนักงาน 50 - 150 คน ใน 8 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และไทย โดยได้กระจายครอบคลุมครบทุกธุรกิจทุกประเภท อาทิ ธุรกิจภาคการผลิต ภาคการบริการ การเงินการธนาคาร การค้าปลีก ซึ่งได้ชี้ให้เห็นแนวโน้มหลายอย่างที่สำคัญสำหรับ SME ในการปรับตัวและเตรียมตัวต่อสู้กับวิฤกตที่เกิดขึ้น รวมไปถึงทุกวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นมาในอนาคต
ลดต้นทุน มาแรงสุด
โดยพบว่าการใช้เทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุนและค่าใช้จ่าย คือ เป้าหมายทางธุรกิจที่สำคัญที่สุดที่เหล่าผู้ประกบการธุรกิจมองว่าจะสามารถช่วยทำให้กิจการภายในระยะเวลา 1 ปีต่อจากนี้ผ่านพ้นวิกฤตไปได้ ส่วนเป้าหมายรองลงมา คือ การใช้เทคโนโลยีเพื่อการขยายธุรกิจไปสู่ตลาดใหม่ ๆ , การแสวงหาช่องทางอื่น ๆ ในการขายและจัดส่งสินค้า ไปจนถึงการปรับปรุงประสิทธิภาพของพนักงานในที่สุด
หากลองเปรียบเทียบระหว่างประเทศที่กำลังพัฒนาและประเทศที่พัฒนาแล้ว (ไม่รวมการลดต้นทุน) พบว่ามีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด หากเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา (Emerging Market) ซึ่งไทยก็เป็นหนึ่งในนั้นจะให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านการพัฒนาสินค้าและเพิ่มช่องทางการจำหน่ายมาเป็นอันดับแรกก่อน (59 เปอร์เซ็นต์) รองลงมา คือ การใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้บุคลากร ( 43 เปอร์เซ็นต์) และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า เพื่อสร้างรายได้ (38 เปอร์เซ็นต์)
ในขณะที่หากเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว (Mature Market) มีความพร้อมมากกว่าจะให้ความสำคัญกับการนำนวัตกรรมมาเพิ่มรายได้ให้กับสินค้าก่อน (55 เปอร์เซ็นต์) รองลงมา คือ การเพิ่มประสิทธิภาพบุคลากร ( 50 เปอร์เซ็นต์) และการเพิ่มช่องทางจัดจำหน่าย (33 เปอร์เซ็นต์)
เตรียมระบบรองรับการทำงานที่บ้านให้มากขึ้น
ต่อมาการใช้เทคโนโลยีที่ผู้บริหารธุรกิจต่าง ๆ จากผลสำรวจมองว่ามีความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจและขยายกิจการออกไปได้ คือ การลงทุนระบบให้พนักงานสามารถทำงานจากที่บ้าน หรือที่อื่น ๆ ที่ไม่ใช่แค่ในออฟฟิศ
โดยผลการศึกษาที่จัดทำโดย Analysys Mason ระบุเอาไว้ว่า 41 เปอร์เซ็นต์ของผู้ประกอบการ SME ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (APAC) มองว่าการเตรียมระบบเพื่อรองรับการทำงานจากที่บ้านของพนักงานถือเป็นกลยุทธ์ด้านเทคโนโลยีที่สำคัญในเวลานี้
ซึ่งข้อมูลคาดการณ์ของ Analysys Mason ระบุว่ายอดใช้จ่ายสะสมในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ของ SME ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะสูงเกิน 5 แสนล้านดอลลาร์ในช่วงระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2563 - 2567 โดยจีน ญี่ปุ่น และอินเดีย เป็นผู้ครองสัดส่วน 3 ใน 4 ของยอดใช้จ่ายดังกล่าว และหากพิจารณาแยกตามกลุ่มอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการผลิตจะครองสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งของยอดใช้จ่ายด้าน ICT เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมภาคเอกชนทั้งหมดในภูมิภาคนี้
โดยการวางระบบเพื่อรองรับการทำงานที่บ้าน ผู้ประกอบการ SME ควรให้ความสำคัญกับองค์ประกอบ 4 ด้าน คือ การเชื่อมต่อ การทำงานร่วมกัน การประมวลผล และการรักษาความปลอดภัย เพื่อช่วยให้สามารถเชื่อมต่อเครือข่ายดิจิทัลได้อย่างปลอดภัย
เทคโนโลยีใดที่ SME ต้องการมากที่สุดในเวลานี้
โดยจากการสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการ 1,600 รายพบว่าเทคโนโลยีอันดับ 1 ที่ต้องการนำมาใช้เป็นตัวช่วยมากที่สุดในเวลานี้ คือ เทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยลดต้นทุนได้ เช่น ระบบออโตเมติก เพื่อช่วยเพิ่มความรวดเร็วในการทำงาน, โรบอต เพื่อทดแทนแรงงานคน, เทคโนโลยีเพื่อช่วยลดการสูญเสียในกระบวนการผลิต, การบริหารจัดการ เป็นต้น
ต่อมาอันดับ 2 คือ เทคโนโลยีที่สามารถเข้ามาช่วยสร้างโอกาสให้ธุรกิจ เช่น การสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า, การเก็บรวบรวมดาต้าลูกค้า เพื่อทำความเข้าใจกับผู้บริโภคให้มากขึ้น และอันดับ 3 คือ เทคโนโลยีที่ช่วยสร้างช่องทางการจัดจำหน่ายใหม่ ๆ
3 เทรนด์ไอที 2021
- ควบรวมออนไลน์ - ออฟไลน์แบบไร้รอยต่อ
จากมาตรการล็อคดาวน์ทำให้หลายธุรกิจร้านค้าต้องปรับตัวในการนำเสนอสินค้าให้กับลูกค้า เนื่องจากหลายแห่งไม่สามารถเปิดทำการได้ปกติ จึงทำให้ต้องเร่งใช้กลยุทธ์ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ผสมรวมกัน ดังนั้นแล้วผู้ประกอบการุรกิจจึงควรให้ความสำคัญทั้งต่อการพัฒนาระบบออนไลน์ให้มีประสิทธิภาพ เลือกใช้แพลตฟอร์มที่ปลอดภัยและมีประสิทธภาพสูง ขณะเดียวกันก็ยังคงใส่ใจกับงานออฟไลน์ที่มีอยู่เดิม เช่น การพัฒนาบุคลากรให้มีประสิทธิภาพ การสร้างความประทับใจให้กับลูกค้า เป็นต้น
- ลดต้นทุนด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นแล้วว่าการนำสิ่งที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต้องการจากการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ก็คือ เพื่อลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายในธุรกิจ โดยเทคโนโลยีที่จะสามารถเข้ามาช่วยได้ ก็คือ ระบบออโตเมติกและเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งนับเป็นหนึ่งในวิธีที่จะช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานให้กับธุรกิจได้ ดังนั้นในปีนี้เราจะได้เห็นหลายธุรกิจนำมาใช้กันเพิ่มมากขึ้น
- สร้างมูลค่าเพิ่ม ด้วยความทันสมัย
จากการขยายตัวของระบบงานอัตโนมัติทำให้บุคลากรไม่ต้องทำงานซ้ำ ๆ ที่น่าเบื่ออีกต่อไป จึงช่วยทำให้บุคลากรในองค์กรได้ทุ่มเทและใช้ความที่มีอยู่อย่างเต็มที่ในการพัฒนาประสิทธิภาพการทำงาน จนสามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับบริษัทขึ้นมาได้
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี