จับเทรนด์เป็นธุรกิจ เกาะติด 4 เทคโนโลยี ที่ SME ต่อยอดได้หลังวิกฤตไวรัส




Main Idea

 
 
     4 เทคโนโลยีน่าจับตาหลังวิกฤตไวรัส
 
 
  • ยาแก้ไขความชรา (Rejuvenating Drug)
 
  • ขวดพลาสติกจากพืช (PEF)
 
  • อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่งสุขภาพ (Internet of Health Things, IoHT)
 
  • การสื่อสารด้วยภาพ (Vision Communication)


 
 
     เทคโนโลยีและนวัตกรรม ยังคงมีบทบาทสำคัญ ในการขับเคลื่อนโลกธุรกิจหลังวิกฤตไวรัสโควิด-19  ซึ่งการรู้เท่าทันเทรนด์ของเทคโนโลยีนั้น เป็นโอกาสของผู้ประกอบการ SME ที่จะได้นำมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจของตนเอง เพื่อรับวิถีชีวิตใหม่ และไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคในยุคต่อจากนี้ เราจึงนำตัวอย่างเทคโนโลยีที่น่าจับตามอง โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่เชื่อว่าจะมีผลกระทบต่อธุรกิจและชีวิตหลังยุคโควิดในอีก 3-5 ปีข้างหน้า มาแนะนำให้ SME  ได้รู้ทันกัน




 
ยาแก้ไขความชรา (Rejuvenating Drug)


     หนึ่งในเทรนด์สำคัญของโลกคือสังคมผู้สูงวัย ที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ โดยองค์การสหประชาชาติคาดการณ์ว่าโลกจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ในปี 2050 นั่นเท่ากับว่าสัดส่วนประชากร 1 ใน 4 บนโลกจะมีอายุมากว่า 65 ปี นี่คือที่มาของโอกาสธุรกิจทั้งด้านสินค้า และบริการ ที่จะทำออกมาตอบสนองตลาดผู้สูงวัยโดยเฉพาะ


     ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ “ยาแก้ไขความชรา” ซึ่งเป็นเทคโนโลยีแห่งความหวังของโลกที่ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ที่นอกจากจะช่วยให้ผู้คนมีชีวิตยืนยาวขึ้นแล้ว ยังช่วยให้เราสามารถใช้ชีวิตในช่วงชราได้อย่างมีคุณภาพและมีความสุขมากขึ้น หนึ่งในพัฒนาการสำคัญของประเทศไทย คือปัจจุบันเรามียาอายุวัฒนะ REDGEMs หรือ “มณีแดง” ที่แก้ไขความชรา ออกมาได้แล้ว ผลงานวิจัยของ ศ. ดร. นพ.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่พบว่า ความชราของดีเอ็นเอเป็นสภาวะเหนือพันธุกรรม เกิดจากการลดลงของข้อต่อดีเอ็นเอ ซึ่งทำให้รอยโรคของดีเอ็นเอเพิ่มขึ้น จึงพัฒนายามณีแดง ที่จะช่วยเพิ่มข้อต่อดีเอ็นเอในเซลล์ ทำให้รอยโรคของดีเอ็นเอลดลง เซลล์กลับมามีรูปร่างและทำงานได้เหมือนปกติ และในอนาคตหากมณีแดงสามารถผลิตได้จริงในเชิงพาณิชย์ ก็จะนำไปใช้รักษาโรคทางผิวหนัง เช่น แผลเบาหวาน แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก แผลคนชรา และโรคอื่นๆ เช่น กระดูกผุ ความดันโลหิตสูง ไขมันพอกตับ รวมถึงร่างกายเสื่อมโทรมจากเบาหวานหรือความชรา สมองเสื่อม ต่อไปได้



 
 
ขวดพลาสติกจากพืช (PEF)


     วันนี้เทรนด์รักษ์โลกยังมาแรง ยิ่งเมื่อปัญหาสิ่งแวดล้อมทวีความรุนแรงขึ้น และส่งผลต่อผู้คนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยประเทศไทยมีขยะพลาสติกถึงปีละประมาณ 2 ล้านตัน ในจำนวนนี้สามารถนำไปรีไซเคิลได้เพียง 0.5 ล้านตัน ส่วนอีก 1.5 ล้านตัน ต้องกำจัดด้วยการเผาหรือฝังกลบ โดย 0.3 ล้านตัน เป็นขยะประเภทขวดพลาสติก และอีก 1.2 ล้านตัน เป็นประเภทถุงพลาสติกและซองบรรจุภัณฑ์ต่างๆ แบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง


     ข่าวดีคือต่อไปโลกจะมีวัสดุที่เรียกว่า PEF (Polyethylene Furanoate) ซึ่งผลิตจากวัสดุชีวภาพหรือ Bio-based 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสามารถลด Carbon Footprint ลงได้กว่า 50 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับการผลิตขวด PET จากปิโตรเคมี โดย  PEF มีน้ำหนักเบาแต่มีความแข็งแรง มีความเสถียรทางความร้อนสูง สามารถนำมารีไซเคิลได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ในระบบเดียวกับ PET และยังมีคุณสมบัติกันน้ำและก๊าซผ่านเข้าออกได้ดีกว่า PET ด้วยคุณสมบัติเหล่านี้จึงทำให้คาดว่า PEF จะมาแทนที่พลาสติก PET ในอนาคตได้



 
 
อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่งสุขภาพ (Internet of Health Things, IoHT)


     เทรนด์เทคโนโลยีที่เกี่ยวกับสุขภาพยังคงมาแรง หลังโลกของเราต้องเผชิญกับวิกฤตอย่างโควิด-19 ที่ทำให้ผู้คนหันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพกันมากขึ้น โดยปัจจุบันเริ่มมีการนำ Internet of Things หรือ IoT มาใช้งานในด้านการดูแลสุขภาพเพิ่มขึ้นแล้ว  ซึ่งเทคโนโลยี 5G ที่จะเกิดขึ้นสามารถรองรับการทำงานของอุปกรณ์ IoT จำนวนมากๆ ได้พร้อมๆ กัน (Massive IoT) ทำให้การติดตามสุขภาพของผู้ป่วยผ่านอุปกรณ์สวมใส่ติดตามตัว (Mobile medical devices) ต่างๆ มีประสิทธิภาพมากขึ้นตามไปด้วย


     การทำงานของระบบ IoT ทางด้านสุขภาพ หรือ Internet of Health Things (IoHT) ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ เซ็นเซอร์ ที่อยู่ในอุปกรณ์สวมใส่หรือเครื่องมือแพทย์ต่างๆ เพื่อใช้วัดสัญญาณชีพของผู้ป่วย เช่น ความดันโลหิต อุณหภูมิ อัตราการเต้นหัวใจ สัญญาณคลื่นไฟฟ้าหัวใจ โดยระบบจะส่งข้อมูลผ่านเครือข่ายไปเก็บที่ส่วนที่สอง คือ ฐานข้อมูลสุขภาพ ที่ทำการเก็บข้อมูลสุขภาพของแต่ละบุคคล และส่วนสุดท้าย คือ ซอฟต์แวร์วิเคราะห์ข้อมูล ที่จะทำหน้าที่ประมวลผลข้อมูล สำหรับแพทย์ตรวจติดตามและวินิจฉัย รวมทั้งแสดงผลกลับไปยังตัวผู้ป่วยนั่นเอง
ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทในต่างประเทศหลายแห่งออกผลิตภัณฑ์ IoHT ในการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังและผู้สูงอายุบ้างแล้ว เช่น ตรวจติดตามโรคหัวใจ ตรวจติดตามโรคเบาหวาน ที่ใช้ตรวจติดตามในช่วงการกักตัวในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19


     สำหรับประเทศไทยก็มีหลายหน่วยงานวิจัยพัฒนาในเรื่องนี้ เช่น ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ A-MED สวทช. ที่นำ IoHT มาประยุกต์ใช้ในการป้องกันการหกล้มของผู้สูงอายุ โดยพัฒนาเป็นอุปกรณ์เซ็นเซอร์สำหรับสวมใส่หรือติดไว้บนร่างกาย ซึ่งเซ็นเซอร์จะส่งสัญญาณไปแจ้งเตือนผู้ดูแล ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาให้เซ็นเซอร์มีขนาดเล็กลง ทนทานต่อการใช้งาน และมีระบบการวิเคราะห์ข้อมูล (Data analytics) ที่แม่นยำมากยิ่งขึ้น



 
 
การสื่อสารด้วยภาพ (Vision Communication)


     อีกเทรนด์เทคโนโลยีที่น่าจับตาคือ การสื่อสารด้วยภาพ หรือ Vision Communication  ซึ่งเป็นรูปแบบการสื่อสารยุคใหม่ ที่เกิดขึ้นจากวิทยาการคอมพิวเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ ในการทำให้คอมพิวเตอร์มีความสามารถคล้ายมนุษย์หรือเลียนแบบพฤติกรรมมนุษย์ โดยเฉพาะความสามารถในการคิดเองได้ หรือที่เรียกว่ามีปัญญานั่นเอง ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีการกระทำคล้ายมนุษย์ (Acting Humanly) คือ สื่อสารกับมนุษย์ได้ด้วยภาษาที่มนุษย์ใช้ มีจังหวะการพูด กะพริบตา ส่ายหน้า หรือแสดงอารมณ์และความรู้สึกออกมาทางใบหน้า เช่น คิ้ว ตา สายตา และมุมปาก ส่วนอีกกลุ่ม คือ กลุ่มที่มีการคิดแบบมีเหตุผล (Thinking Rationally) สามารถวิเคราะห์อารมณ์ได้จากใบหน้า แยกแยะและจดจำใบหน้าได้ สามารถแยกเสียงพูด วิเคราะห์ความหมาย อารมณ์ ความต้องการของเสียง เช่น ระบบผู้เชี่ยวชาญ ระบบค้นหาข้อมูล เป็นต้น


     ปัจจุบันเริ่มมีการนำเทคโนโลยี Vision Communication ไปใช้งานด้านการสร้างภาพยนตร์ และอีกตัวอย่างที่เริ่มมีให้เห็นบ่อยและใกล้ตัวเรามากขึ้นคือการนำไปใช้งานด้านการสื่อสาร เช่น ในจีนมีการสร้างตัว Avatar ของผู้ประกาศข่าวทำหน้าที่เป็นผู้ประกาศข่าวเสมือนอ่านข่าวแทนผู้ประกาศตัวจริง และล่าสุดเกาหลีใต้เพิ่งเปิดตัวผู้ประกาศข่าวเสมือนที่พูดโต้ตอบกับผู้ประกาศข่าวตัวจริงได้แบบเรียลไทม์ เพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการรายงานข่าว หรือแม้กระทั่งในโรงพยาบาลที่มีแนวโน้มว่าจะนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ในการคัดกรองคนไข้และวินิจฉัยโรคในเบื้องต้นก่อนพบแพทย์ เพื่อลดความเสี่ยงจากการติดต่อสื่อสารกันโดยตรงระหว่างคนไข้กับบุคลากรทางการแพทย์ในยุคโควิด-19 หรือในสถานการณ์ที่มีโรคระบาดอื่นๆ มากขึ้นนั่นเอง
 
               
     นี่คือตัวอย่างของเทคโนโลยีที่เชื่อว่าจะมีบทบาทในการพลิกโฉมธุรกิจและวิถีชีวิตของผู้คนในอีก 3-5 ปี ข้างหน้า หาก SME มองเทรนด์เหล่านี้เป็นโอกาส ก็สามารถพลิกเทรนด์ให้เป็นหนทางทำเงินได้อีกมากในอนาคต  
 
 
     ที่มา : สวทช.
 
 
 








 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอ

RECCOMMEND: TECH

แสงตะวัน อ่อนน่วม พัฒนาแพลตฟอร์ม แก้ปัญหาแรงงานขาดแคลนให้ธุรกิจที่พักไซส์เล็ก

ปัญหาหนึ่งของธุรกิจโรงแรมเล็ก คือต้นทุนการดำเนินงานสูง และมีปัญหาขาดแคลนแรงงาน แสงตะวัน อ่อนน่วม ซึ่งเห็น Pain Point ดังกล่าว จึงได้พัฒนาแพลตฟอร์ม Shin Platform Hotel Self-Service Solution ขึ้นมา เพื่อช่วยทดแทนแรงงานคน, บริษัท ชิบะรูม

เจ๋งป่ะล่ะ! AI ผู้ช่วยเชฟคนใหม่ เก็บข้อมูลทำเมนูสุดโปรดเสิร์ฟลูกค้า ช่วยสแกนเศษอาหาร ลดต้นทุน ลดขยะ

ปัจจุบันโลกเรามีการนำ AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ มาใช้พัฒนา ปรับปรุงสิ่งต่างๆ ขึ้นมากมาย ตั้งแต่เรื่องใหญ่ๆ ไปจนถึงเรื่องเล็กๆ ล่าสุดใครจะคิดว่า แม้แต่ถังขยะในครัวของโรงแรมและร้านอาหาร ก็มีการนำ AI เข้ามาใชั

Mewre น้ำดื่มเพื่อสุนัขและแมวเจ้าแรกของโลก จากไอเดียที่ไม่อยากให้น้องป่วย เมื่อผู้บริโภคไม่ได้มีแค่คนเท่านั้น

Mewre น้ำดื่มเพื่อสุนัขและแมวเจ้าแรกของโลก อีกหนึ่งสินค้านวัตกรรมที่ทำมาเพื่อตอบโจทย์ชาว Pet Parent หรือ การเลี้ยงสัตว์เหมือนลูก เป็นสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัว