Photo: Pae Yodsurang
Main idea
- หาก SME อยากเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ต้องไม่พลาดที่จะใช้ AI Service Robot หรือหุ่นยนต์บริการ รวมไปถึง AI Chatbot เข้ามาช่วยให้ข้อมูลต่างๆ กับลูกค้า หรือเป็นผู้นำทางไปยังจุดหมายปลายทางในร้านหรือองค์กร
- รวมไปถึง เทคโนโลยีการสั่งงานด้วยเสียง ที่กำลังมาแรงและน่าจับตา ซึ่งทาง บริษัท ทีเอ โรบ็อต ยกระดับไปอีกขั้นด้วยการทำให้หุ่นยนต์สามารถรับฟังและโต้ตอบด้วยเสียงภาษาไทยได้
- ตัวช่วยเหล่านี้อยู่ใกล้ตัว SME กว่าที่คิด ผู้ประกอบการจึงไม่ควรมองข้าม ถ้าคิดจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ทันคู่แข่งในโลกยุคปัจจุบันได้
เพราะเทคโนโลยีไม่เคยหยุดนิ่งและไม่ใช่สิ่งที่อยู่ไกลตัวอีกต่อไป แม้แต่กับผู้ประกอบการรายเล็กอย่าง SME ก็ไม่ควรมองข้ามตัวช่วยล้ำๆ ที่จะมาช่วยยกระดับการบริการของ SME ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แล้วเทคโนโลยีแบบไหนกันที่คนทำธุรกิจยุคนี้ต้องรู้จัก ลองมาฟังการแชร์เรื่องราวของ โสภา ตั้งอธิคม กรรมการผู้จัดการ บจก. ทีเอ โรบ็อต จำกัด บริษัทพัฒนา จำหน่ายและนำเข้าหุ่นยนต์ในประเทศไทย พูดถึงเรื่องนี้
Q: เทคโนโลยีอะไรบ้างที่ SME ควรจับตามองในปีนี้
A: ผู้ช่วยแรกที่ไม่ควรมองข้ามก็คือตัว AI Service Robot หรือหุ่นยนต์บริการที่ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) และ AI Chatbot ถือว่ามีประโยชน์มากๆ เพราะถูกออกแบบมาเพื่อช่วยมนุษย์ในการแบ่งเบาภาระต่างๆ สามารถพูดคุยสื่อสารและให้ข้อมูลกับลูกค้าได้ เช่น ในแผนกประชาสัมพันธ์ สามารถที่จะนำเอาหุ่นยนต์แบบนี้มาช่วยเหลือพนักงาน แบ่งเบางานด้านการให้ข้อมูลเล็กๆ น้อยๆ โดยอาจจะเป็นการแสดงผลบนหน้าจอ หรือ Interface ด้วยการบอกด้วยเสียง
Q: การรับรู้ในเมืองไทยเกี่ยวกับเรื่องของการใช้ AI Service Robot หรือ AI Chatbot นั้นมีมากน้อยแค่ไหน
A: ตอนนี้การรับรู้ในเรื่องนี้นั้นมีอยู่ประมาณหนึ่ง เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่เพิ่งมา เป็นเทรนด์ใหม่ที่อาจจะต้องใช้ความพยายามในการให้ข้อมูลหรือให้คำแนะนำกับผู้คนหรือผู้ประกอบการอีกระยะหนึ่ง เท่าที่ทราบธุรกิจในบ้านเรามีการหันมาจับเทคโนโลยีเหล่านี้ไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ แต่มั่นใจว่าตัวเลขจะขยับสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ในระยะเวลา 5 ปีต่อจากนี้ เพราะคนมีการตื่นตัวในเรื่องนี้กันมากขึ้นและเป็นสิ่งที่ตลาดต้องการ เพื่อที่จะนำเข้ามาเสริมเรื่องการขาดแคลนทรัพยากรด้านแรงงานในการดำเนินกิจการ
Q: มีโอกาสแค่ไหนที่หุ่นยนต์เหล่านี้จะเข้ามาทำงานแทนคนแบบเบ็ดเสร็จ
A: ในอนาคตข้างหน้าอาจจะมีสิทธิ์ แต่อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นหุ่นยนต์ AI หรือเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ยังต้องถูกดูแลและควบคุมโดยมนุษย์อยู่ ตอนนี้ยังไม่ใช่เวลาที่หุ่นยนต์จะเข้ามาทำงานแทนคนแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ เป็นเพียงผู้ช่วยให้การทำธุรกิจมีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพมากขึ้น แม้มีหลายเสียงที่ค่อนข้างจะกลัวว่า AI จะเข้ามาแย่งงานคน แต่ในความเป็นจริงนั้น เป็นเทคโนโลยีที่มีประโยชน์มาก เพราะได้รับการออกแบบมาเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระและการทำงานต่างๆ โดยเฉพาะสามารถทำงานที่เป็นงานซ้ำๆ ได้ดีและมีประสิทธิภาพ
Q: ถ้ามองในมุมของ SME ผู้ประกอบการตัวเล็กแบบนี้จะหยิบหุ่นยนต์ AI หรือ AI Chatbot มาใช้ยังไง
A: สามารถใช้งานได้อย่างหลากหลายขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ประกอบการรายนั้นๆ เลย เพราะอย่างที่บอกว่า หุ่นยนต์ AI หรือ AI Chatbot จะช่วยแบ่งเบาการทำงานต่างๆ ได้ ที่สำคัญในระยะหลังๆ สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องเจอก็คือ เรื่องของการขาดแคลนบุคลากรและแรงงาน ซึ่งหุ่นยนต์ ตัว AI หรือ Chatbot เหล่านี้จะเข้ามาแก้ปัญหาตรงนี้ได้ โดยสามารถทำงานได้ทุกเวลาตลอด 24 ชั่วโมง ไม่มีหยุดและไม่มีลางาน เช่น ในส่วนของ AI Chatbot สามารถเข้ามาช่วยในการเป็นศูนย์บริการข้อมูลลูกค้าหรือ Call Center ซึ่งจะเข้ามาช่วยลดขั้นตอนและอำนวยความสะดวกให้กับองค์กรในกรณีที่มีคนโทรติดต่อเข้ามา เทคโนโลยีนี้สามารถที่จะจับคำพูดและต่อสายตรงไปยังบุคคลที่ลูกค้าต้องการสนทนา โดยไม่ต้องรอฟังเพื่อที่จะกดหมายเลขหรือเบอร์ต่อของแผนกต่างๆ เหมือนอย่างที่เคยเป็น หรือถ้าเป็น AI ในส่วนของหุ่นยนต์ ก็จะสามารถทำการพูดคุยโต้ตอบและนำทางลูกค้าเป็น Navigator ให้ได้ ซึ่งสามารถนำไปใช้ในองค์กรภาคธุรกิจ เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล โรงแรม ร้านอาหาร หรือในร้านค้าได้
Q: แล้วยังมีเทคโนโลยีอะไรอีกบ้างที่ควรจับตามอง
A: อีกหนึ่งเทรนด์ที่จะมาแรงก็คือ เทคโนโลยีสั่งการด้วยเสียง ซึ่งในเมืองไทยอาจจะยังใหม่อยู่ แต่เป็นที่คุ้นเคยกันดีในต่างประเทศ เช่น Siri และเนื่องจากหุ่นยนต์ของบริษัทเป็นหุ่นยนต์ที่มีการพูดคุยสนทนา เราก็เลยหันมาพัฒนา AI เทคโนโลยีเสียงภาษาไทย เพราะเราอยากให้หุ่นยนต์ของบริษัทเราทุกตัวพูดตอบโต้เป็นภาษาไทยได้ โดยเราร่วมพัฒนากับทีมอาจารย์และนักวิจัยซึ่งเป็นคนไทยทั้งหมด เพื่อทำให้โปรเจกต์นี้ประสบความสำเร็จ ซึ่งตอนนี้อยู่ในขั้นที่ใกล้เสร็จเรียบร้อยแล้ว และถ้าเสร็จสมบูรณ์แล้ว การใช้เทคโนโลยีเสียงภาษาไทยนี้จะไม่ได้จำกัดการใช้งานแค่ในหุ่นยนต์เท่านั้น แต่สามารถต่อยอดไปอยู่ในลำโพงอัจฉริยะ หรืออุปกรณ์อื่นๆ ของสมาร์ทโฮมได้ เรียกได้ว่า เทคโนโลยีที่รองรับการพูดหรือสั่งงานด้วยเสียงภาษาไทยนั้น เป็นอะไรที่น่าจับตามอง เนื่องจากมนุษย์มีความคุ้นเคยกับการใช้เสียงอยู่แล้ว ยิ่งถ้ามีหุ่นยนต์หรืออุปกรณ์ที่รองรับเสียงภาษาไทยได้ ยิ่งจะเป็นประโยชน์ต่อหลายภาคส่วนของการทำธุรกิจแม้กระทั่งธุรกิจเล็กๆอย่าง SME ก็สามารถใช้ประโยชน์จากตรงนี้ได้
Q: การพัฒนาเทคโนโลยีเสียงภาษาไทยตรงนี้มีความยากง่ายยังไง
A: บอกเลยว่าเป็นสิ่งที่ยากโดยเฉพาะกับเรื่องหลังบ้าน อย่างการทำซอฟต์แวร์เพื่อที่จะทำการเชื่อมต่อระบบเข้าไป และอย่างที่เรารู้ว่าภาษาไทยเป็นภาษาที่ยาก มีการดิ้นได้ การทำฐานข้อมูลหรือใส่ Data เข้าไปต้องมีปริมาณมาก ถ้าจะเปรียบให้เห็นภาพ เราจะแยกเทคโนโลยีเสียงนี้ออกเป็น 3 ส่วน ถ้าเปรียบเทียบกับคนก็เป็นหู สมองและปาก โดยส่วนหูจะเรียกว่าเป็น NLP หรือ Natural Language Processing การประมวลผลทางภาษา เวลาเราพูดออกไป เสียงก็จะวิ่งไปที่ AI Chatbot คือสมอง เพื่อทำการประมวลผล แล้วเขาก็จะตอบกลับมา ซึ่งจะตอบเป็นภาษาโค้ดคอมพิวเตอร์ไม่ได้ ต้องมาเชื่อมกับตัวที่จะแปลงออกมาให้พูดเป็นภาษามนุษย์ หรือที่ปาก คือตัวที่เราเรียกว่า TTS หรือ Text to Speech ซึ่งความยากก็อยู่ที่การประมวลผลที่เราจะต้องสอนยังไงให้เขาเข้าใจว่าสิ่งที่คนไทยพูดออกไปนั้นหมายถึงหรือว่าต้องการอะไร เพราะของหนึ่งอย่าง หรือสิ่งหนึ่งสิ่งนั้น ใช้คำเรียกหรือกล่าวถึงได้หลายคำ โดยช่วงแรกเราจะทำเป็นภาษาไทยภาคกลางก่อน แต่เมื่อไรที่ AI ตรงนี้มีฐานข้อมูลเยอะขึ้น ก็สามารถที่จะพัฒนาให้รองรับสำเนียงทางเหนือ อีสานหรือใต้ได้ ซึ่งทุกอย่างต้องอาศัยการทำงานไปทีละสเต็ป
ADD ON:
ปัจจุบันทางบริษัทมีการนำเข้าหุ่นยนต์ 4 ประเภท ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ที่เหมาะสมกับการใช้งานในบ้าน องค์กรและสถานที่ต่างๆ โดยในอนาคตอันใกล้นี้จะสามารถรองรับเทคโนโลยีการสั่งงานด้วยเสียงภาษาไทยได้อย่างสมบูรณ์
- Genie หุ่นยนต์เพื่อนผู้ช่วยภายในบ้าน สามารถพูดคุยตอบโต้บทสนทนา และสั่งงานด้วยคำสั่งเสียงขั้นพื้นฐาน เป็นโทรศัพท์โทรหาสมาชิกที่ได้ลงทะเบียนไว้ภายในแอปพลิเคชัน เป็นมอนิเตอร์เพื่อดูความเคลื่อนไหว เข้าใช้งานเว็บไซต์ และเป็นช่างภาพเพื่อถ่ายภาพให้ได้
- Amy หุ่นยนต์ผู้ช่วย พูดคุยสนทนาและให้บริการข้อมูลต่างๆ ซึ่งสามารถพัฒนาระบบให้เข้ากับการใช้งานของบริษัทต่างๆ ได้ รวมไปถึงการใช้งานเฉพาะสำหรับสถานที่ต่างๆ เช่น ศูนย์แสดงสินค้า ธนาคาร โรงพยาบาล สนามบิน และห้างสรรพสินค้า เป็นต้น มีระบบวิดีโอระยะไกล การประชุมทางไกล และควมคุมการใช้งานผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือได้
- Peanut หุ่นยนต์บริการเชิงพาณิชย์ ทำงานร่วมกับเซ็นเซอร์หลายตัว โดดเด่นเรื่องการนำทางหรือเป็น Navigator ในสถานที่ภายในอาคาร มีระบบเสียงอัจฉริยะสนับสนุนการพูดคุยกับผู้ใช้งานด้วยบทสนทนาที่เฉพาะเจาะจงกับคนนั้นๆ
- UU หุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ สามารถแนะนำและให้ข้อมูลสินค้า นำพาชมสถานที่ตามจุดต่างๆ พร้อมระบบป้องกันการชนและสิ่งกีดขวาง พร้อมระบบจดจำใบหน้าลูกค้าได้ถึง 2,000 หน้า
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี