อย่างที่รู้กันดีว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว คือ หนึ่งในกลุ่มธุรกิจที่นำรายได้เข้าสู่ประเทศเป็นอันดับต้นๆ แต่ในภาพที่ดูสดใสนั้น รู้ไหมว่าการท่องเที่ยวกลับเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่มีอัตราการปิดตัวลงของบริษัทนำเที่ยวต่างๆ สูงถึง 30 -40 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SME รายย่อย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะระบบการบริหารจัดการที่ยังคงใช้วิธีแบบดั่งเดิม ขาดการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เนื่องจากไม่มีเงินลงทุนในระบบที่มีราคาแพง อีกทั้งระบบที่มีส่วนใหญ่ก็เป็นเทคโนโลยีจากต่างชาติ ทำให้เกิดความยุ่งยากในการติดต่อสื่อสาร จากปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้นนี่เองจึงเป็นที่มาของ ‘TripSpace’ แพลตฟอร์มเพื่อบริหารจัดการธุรกิจท่องเที่ยวสำหรับ SME ไทยโดยคนไทยที่เริ่มต้นมาจากบริษัททัวร์เล็กๆ แห่งหนึ่ง ซึ่งดำเนินธุรกิจมานานกว่า 7 ปี มีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาบริหารธุรกิจตั้งแต่เริ่มต้น
“เราอยู่ในวงการท่องเที่ยวมานานกว่า 7 ปี เป็นบริษัททัวร์เล็กๆ ทำท่องเที่ยวเกี่ยวกับอาหารไทยชื่อว่า Bangkok Food Tours โดยเราเป็นบริษัททัวร์ไทยขนาดเล็กแรกๆ เลยที่มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้จัดการในธุรกิจตั้งแต่เริ่มต้น เช่น หากมีลูกค้าสนใจซื้อทัวร์ของเรา ก็สามารถเข้ามาที่เว็บไซต์ทำการจอง โดยตัดผ่านบัตรเครดิต และได้รับการยืนยันตอบกลับได้ทันที สมัยนั้นอีคอมเมิร์ซยังไม่ค่อยใช้กันแพร่หลายเหมือนในสมัยนี้ คนที่ใช้ระบบแบบนี้ในยุคนั้นก็มีแต่โรงแรมใหญ่ๆ และสายการบิน แต่สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ (Inbound tourism) ที่เดินทางมาท่องเที่ยวในเมืองไทย เขาคุ้นชินกับระบบแบบนี้อยู่แล้ว นี่น่าจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้บริษัทของเราสามารถเติบโตมาได้จนทุกวันนี้ เพราะจากสถิติของกรมการท่องเที่ยวในแต่ละปีมีการระบุไว้ว่ามีบริษัททัวร์มากถึง 30 - 40 % ทีเดียวที่ต้องปิดตัวลง ซึ่งการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้บริหารจัดการทำให้เราใช้สต๊าฟในการทำงานน้อยมาก ไม่ต้องมานั่งลงบุ๊กกิ้งในกระดาษ ทำให้เกิดข้อผิดพลาดน้อย ไม่ต้องมีหน้าร้านคอยรับลูกค้าหรือรับโทรศัพท์ เพราะลูกค้าสามารถเข้ามาซื้อทัวร์กับเราได้ตลอดเวลาโดยผ่านระบบดังกล่าว
จากจุดนั้นจึงทำให้คิดว่าในเมื่อเราเองก็มีประสบการณ์ทั้งด้านการทำทัวร์และนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้บริหารจัดการธุรกิจนานแล้ว ก็น่าจะนำตรงนี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์กับผู้ประกอบการ SME ที่ทำท่องเที่ยวด้วยกัน เพื่อให้สามารถแข่งขันกับบริษัทต่างชาติได้ เพราะตอนนี้มีบริษัททัวร์จากต่างชาติเข้ามาทำทัวร์ในเมืองไทยเยอะมาก โดยเฉพาะทัวร์พิเศษเฉพาะด้าน เช่น ทัวร์ปั่นจักรยาน ทัวร์ชิมอาหารไทย โดยเริ่มต้นจากเป็นนักท่องเที่ยวเองก่อน พอมาอยู่เมืองไทยนานขึ้นเริ่มมองเห็นโอกาส จึงเปิดบริษัททัวร์ของตัวเองนำนักท่องเที่ยวต่างชาติจากประเทศตัวเองเข้ามา ซึ่งเขาได้เปรียบเราทั้งเรื่องภาษาแถมมีตลาดอยู่แล้วในมือ จึงคิดว่าหากมีระบบที่ทำให้บริษัททัวร์ไทยสามารถบริหารจัดการทุกอย่างได้ง่ายขึ้นในราคาที่ไม่แพง ลูกค้าสามารถเข้ามาทำการจองง่ายๆ ด้วยตัวเอง ก็น่าจะช่วยให้ผู้ประกอบการ SME ด้านธุรกิจท่องเที่ยวสามารถเข้าถึงลูกค้าต่างชาติได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเราคิดว่าเราพร้อมแล้วที่จะทำตรงนี้ขึ้นมา กิติชัย ศิรประภานุรัตน์ CEO & Co-founder แห่ง TripSpace เล่าที่มาของแพลตฟอร์มดังกล่าวให้ฟัง
โดยรูปแบบการทำงานของ TripSpace มี 2 ส่วนสำคัญด้วยกัน คือ 1.ระบบ Booking ที่ง่ายสำหรับลูกค้า 2.ระบบการบริหารจัดการภายในของบริษัททัวร์ ส่วนแรก คือ ระบบการจองจะมีการนำ TripSpace เข้าไปฝังตัวกับเว็บไซต์ท่องเที่ยวของบริษัททัวร์นั้นๆ ทำให้หากมีลูกค้าสนใจก็สามารถคลิกเข้ามาทำการจองระบุรูปแบบทัวร์ที่ต้องการ วันเดินทาง จำนวนคน จนสามารถทำการชำระเงินได้ด้วยตนเอง พร้อมได้รับใบยืนยันตอบกลับโดยอัตโนมัติ ทำให้เกิดความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น ซึ่งหากเป็นรูปแบบเดิมโดยเฉพาะลูกค้าที่เป็น Inbound tourism ที่อยากเข้ามาท่องเที่ยวในเมืองไทย ส่วนใหญ่แล้วจะทำการติดต่อสื่อสารกันผ่านทางอีเมลล์ก่อน เมื่อตัดสินใจซื้อจึงจะทำการจ่ายเงิน วิธีการ คือ 1.เดินมาจ่ายหน้าเคาน์เตอร์ 2.โอนเงิน 3.จ่ายผ่าน PayPal แต่สำหรับ TripSpace สามารถตัดขั้นตอนต่างๆ เหล่านั้นออกไปได้
ในส่วนที่สอง คือ ระบบบริหารจัดการภายในของบริษัทเอง จากเดิมที่ต้องยุ่งยากจดทุกอย่างลงบนกระดาษ ต้องคอยรับลูกค้าที่ส่งมาจากนายหน้าในช่องทางต่างๆ จึงอาจทำให้เกิดข้อผิดพลาดในการจองได้ เช่น ลืมจด จดเกินได้ แต่หากผ่าน TripSpace ระบบจะทำการตัดยอดจองโดยอัตโนมัติ ไม่ว่าจะมีการจองเข้ามาจากช่องทางไหนก็ตาม นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังเข้าไปบริหารจัดการข้อมูลต่างๆ ได้ด้วยตนเอง ตั้งแต่โปรแกรมทัวร์ที่ต้องการขาย การตั้งราคา การเปิด-ปิดรับการจอง จำนวนที่นั่งที่ต้องการขาย นอกจากนี้ยังสามารถเก็บข้อมูลของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาทำการติดต่อซื้อทัวร์ได้ด้วย เช่น ชื่อ ที่อยู่อีเมลล์ติดต่อ ช่องทางการพบแบรนด์ ไปจนถึงเก็บข้อมูลสถิติสรุปยอดขายที่ได้ในแต่ละวัน ช่องทางใดสามารถขายได้น้อยได้มาก ช่วยให้เจ้าของกิจการสามารถวางแผนการตลาดได้ถูกต้อง โดยระบบดังกล่าวสามารถกำหนดขอบเขตการเข้าถึงข้อมูลที่แตกต่างกันออกไปได้ เช่น หากเป็นโอเปอร์เรเตอร์ที่รับจอง ก็สามารถเข้าถึงได้เฉพาะข้อมูลพื้นฐาน เช่น วัน เวลา จำนวนที่ลูกค้าจองเข้ามา หรือไกด์ทัวร์ก็สามารถเข้ามาดูได้แค่ตารางงาน แต่หากเป็นผู้จัดการหรือเจ้าของก็สามารถดูไปถึงข้อมูลเชิงลึก เพื่อนำไปใช้วางแผนธุรกิจได้
“วิธีการทำงานของบริษัททัวร์แต่ก่อน คือ จดทุกอย่างลงบนกระดาษ ทำให้บางครั้งอาจเกิดข้อผิดพลาดได้ เพราะในการขายทัวร์โปรแกรมหนึ่ง บางครั้งเราไม่ได้ขายเองคนเดียว แต่ยังส่งให้กับเอเจนซี่ตามที่ต่างๆ ด้วย นอกจากนี้เกว่าจะขายได้แต่ละครั้ง โดยเฉพาะกับทัวร์อินบาวนด์ที่เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ ก็ต้องใช้วิธีติดต่อสื่อสารกันผ่านอีเมลล์ บางครั้งอาจทำให้เกิดความล่าช้ากว่าจะโต้ตอบกันไปมา ความอยากซื้อของลูกค้าลดลงไปบ้าง อีกเรื่อง คือ พอจดทุกอย่างลงบนกระดาษ การจัดทำข้อมูลสถิติสรุปผลยอดขายต่างๆ เพื่อนำมาใช้วางแผนอาจทำได้ยุ่งยากกว่า แต่หากใช้ระบบดังกล่าว เขาสามารถเข้ามาตรวจสอบเปิดดูได้ทันที ทำให้เกิดความรวดเร็วกว่า อีกอย่างระบบที่คิดค้นขึ้นมานี้ เราตั้งใจสร้างขึ้นมาเฉพาะให้เหมาะกับการใช้งานของผู้ประกอบการไทยด้วย ซึ่งหากเป็นระบบของต่างชาติที่มีอยู่บางครั้งก็ไม่ละเอียดเท่านี้ ยกตัวอย่างเช่น บริษัททัวร์ไทยจะมีเรื่องของเอเจนซี่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แต่ละเจ้าจะได้ไม่เท่ากัน เราก็ได้คิดระบบขึ้นมา โดยเอเจนซี่แต่ละคนมีรหัสของตัวเอง เวลาเขากดเข้ามาจองและใส่รหัสเข้าไป ระบบจะทำการหักเงินอัตโนมัติ สมมติทัวร์นั้นราคา 1,000 บาท เราให้เอเจนซี่เจ้านี้ 20 % เวลาเขากดจองเข้ามาก็จะจ่ายแค่ 800 บาท นี่เป็นตัวอย่างรายละเอียดที่เราทำขึ้นมาเพื่อผู้ประกอบการทัวร์ไทย”
ไม่เฉพาะแต่บริษัทนำเที่ยวเท่านั้นที่ใช้ได้ ระบบ TripSpace ยังสามารถใช้ได้กับทุกหน่วยธุรกิจที่อยู่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวด้วย อาทิ ร้านสปา บริษัทเช่ารถ ฯลฯ รวมถึงสามารถใช้ได้กับทัวร์ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น Inbound - นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาในไทย, Outbound – คนไทยออกไปเที่ยวต่างประเทศ หรือ Domestic tourism – การท่องเที่ยวภายในประเทศ โดยในส่วนของค่าใช้จ่ายนั้นเบื้องต้นจะคิดเพียง 0.5 % จากรายได้
"ผ่านมาประมาณหนึ่งปีเบื้องต้นเราได้ให้บริษัททัวร์ประมาณ 20 รายทดลองเข้ามาใช้บริการดูก่อนที่จะเปิดตัวจริง เพื่อให้เกิดความพร้อมที่สุด และจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในปลายปีนี้ ซึ่งเราเชื่อว่า TripSpace จะสามารถเข้ามาช่วยผู้ประกอบการท่องเที่ยวรายย่อยของไทย ให้มีระบบบริหารจัดการที่ง่ายและสะดวกขึ้น ช่วยลดข้อผิดพลาดต่างๆ รวมถึงเป็นเครื่องมือให้สามารถแข่งขันกับบริษัททัวร์ต่างชาติ และเกิดความน่าเชื่อถือได้มากขึ้นด้วย ผู้ประกอบการ SME ที่มีวอลรูมน้อยๆ ก็สามารถเข้ามาใช้บริการได้ ใช้เท่าไหน ก็จ่ายเท่านั้น เพราะเราคิดเปอร์เซ็นต์จากรายได้ที่เข้ามา โดยไม่ได้มีค่าติดตั้งระบบใดๆ”CEO & Co-founder แห่ง TripSpace กล่าว
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี