พอพูดถึงเรื่องหุ่นยนต์ เรื่อง AI เรื่องเทคโนโลยี ผู้ประกอบการ SME หลายคนคงส่ายหัวว่าดูมันเข้าถึงยาก ต้นทุนสูง จับต้องไม่ได้ ไม่รู้จะเอามาใช้ต่อยอดธุรกิจของตัวเองยังไงดี แต่มีผู้ประกอบการร้านอาหารคนหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ ที่ปิ๊งไอเดีย อยากมีหุ่นยนต์เพื่อแก้ปัญหาเรื่องของพนักงานเสิร์ฟ แม้ว่าเขาจะมีต้นทุนเรื่องของการเขียนโปรแกรมเป็นศูนย์เลยก็ตาม คงกริช รัตนมุง เจ้าของร้านแอทอุบล ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ ได้บอกว่าเขาเองจบด้านวิทยาศาสตร์เคมีมา ไม่เคยมีประสบการณ์เขียนโปรแกรมหรือเกี่ยวข้องกับการทำหุ่นยนต์มาก่อนเลย แต่ที่สามารถสร้างสรรค์หุ่นยนต์ขึ้นมาได้ขนาดนี้เป็นเพราะการค้นคว้าและทดลองทำด้วยตัวเองล้วนๆ
จุดเริ่มต้นของการสร้างหุ่นยนต์เด็กเสิร์ฟ เริ่มจากการที่คงกริชตั้งใจจะเปิดร้านขายก๋วยจั๊บญวนเล็กๆ และคิดว่าระบบการทำร้านอาหารนั้นค่อนข้างจุกจิก ต้องมีพนักงานเสิร์ฟ มีแคชเชียร์ มีคนทำอาหาร จึงมองหาโซลูชั่นในการแก้ไขปัญหาเรื่องของพนักงานในร้านและในที่สุดก็ได้โจทย์ขึ้นมาคือหุ่นยนต์ที่จะเข้ามาทดแทนพนักงาน
“จุดเริ่มต้นคือโจทย์ตรงนี้ เราก็เลยสรุปได้ว่าจะทำหุ่นยนต์ในส่วนของการเสิร์ฟอาหาร จากนั้นเราเลยลงมือศึกษาว่าการทำหุ่นยนต์ต้องใช้อะไรบ้าง เราเริ่มทดลองเขียนโปรแกรม อ่านจากอินเตอร์เน็ต ซื้อหนังสือมาอ่าน ซื้ออุปกรณ์มาประกอบ เราเริ่มต้นจากศูนย์จริงๆ ผมเรียนด้านเคมีมา ไม่เคยมีประสบการณ์ด้านนี้มาก่อน ถามว่ายากมั้ย ยากมากครับ สิ่งเดียวที่เป็นที่ปรึกษาให้ผมคืออินเตอร์เน็ตและหนังสือ เรามีโจทย์อยู่แล้วว่าเราจะแก้ปัญหาเรื่องไหน จากนั้นเราก็ไปหาข้อมูลว่าจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ ด้วยวิธีนี้ต้องทำอย่างไร สุดท้ายใช้เวลาประมาณ 2 เดือน เป็น 2 เดือนที่ผมใช้เวลาต่อวันกับมันอาจจะประมาณ 20 ชั่วโมงเลย”
หลังจากนั้นเมื่อหุ่นยนต์เสร็จสมบูรณ์ ร้านแอทอุบลก็พร้อมเปิดให้บริการ โดยภายในร้านจะขายก๋วยจั๊บญวณที่มีวัตถุดิบได้คุณภาพ หมูยอส่งตรงมาจากอุบลราชธานี มีเมนูที่หลากหลาย แต่นอกเหนือจากรสชาติอาหารที่อร่อยแล้ว ร้านแอทอุบลยังมีกิมมิกคือ เจ้าหุ่นยนต์เด็กเสิร์ฟที่ชื่อว่า UBOT-01
“หุ่นยนต์มันจะทำงานอัตโนมัติทั้งหมด เวลาอยู่ในครัวจะขึ้นหน้าจอให้กดว่าจะให้ไปเสิร์ฟที่โต๊ะไหน หน้าที่ของหุ่นยนต์ ก็คือทำตามคำสั่งเท่านั้นว่าให้ไปโต๊ะไหน นอกจากนี้ยังมีดีเทลอื่นๆ ว่าระหว่างทางเจอสิ่งกีดขวาดจะทำยังไง มันก็จะมีเซ็นเซอร์ที่คอยตรวจจับสิ่งกีดขวางทั้ง ซ้ายขวาหน้าหลัง พอมีใครเดินตัดหน้าก็จะหยุด พอถึงโต๊ะก็จะหมุนตัวเข้าหาโต๊ะ มีเซ็นเซอร์ที่ถาดว่าลูกค้าหยิบอาหารออกไปรึยัง แล้วก็มีการพูดทักทายกับลูกค้า สวัสดีครับ เชิญครับ เราก็พยายามที่จะใส่รายละเอียดพวกนี้เข้าไป ตอนแรกที่ออกมามันก็ไม่ได้เป็นแบบนี้ อย่างตอนแรกก็ยังไม่มีเซ็นเซอร์ เราก็พัฒนามาเรื่อยๆ”
นอกจากหุ่นยนต์เด็กเสิร์ฟแล้ว ทางร้านยังได้พัฒนาอีกหนึ่งระบบ คือการสั่งอาหารแบบอัตโนมัติ ไม่ต้องมีพนักงานคอยรับเมนู เพียงลูกค้าเชื่อมต่อไวไฟของทางร้านก็จะเด้งเข้าสู่เมนูอาหารและสามารถกดสั่งได้ทันที จากนั้นคำสั่งที่ลูกค้าสั่งอาหารก็จะเด้งเข้าไปในครัวและแคชเชียร์ทันที โดยระบบนี้ก็เกิดจากการคิดค้นของคงกริชด้วยตนเองอีกเช่นกัน
โดยคงกริชได้บอกว่าการมีหุ่นยนต์เข้ามาทดแทนการใช้พนักงานช่วยทำให้เขาลดต้นทุนการจ้างแรงงานได้เยอะเลยทีเดียว เขาลงทุนสร้างหุ่นยนต์ประมาณ 1 แสนบาทแต่เมื่อเทียบกับการจ้างพนักงาน 1-2 คน ประมาณ 3 ปีก็สามารถคืนทุนหุ่นยนต์ได้แล้ว ที่สำคัญคือเขาเองก็ไม่ได้มีความรู้ด้านการสร้างหุ่นยนต์ หรือการเขียนโปรแกรมมาก่อน เป็นเพราะความตั้งใจและการเรียนรู้ที่ไม่ว่าใครก็สามารถทำได้
“ผมมองว่าการทำงานของหุ่นยนต์มันสามารถทำงานซ้ำซากได้ โดยที่เราไม่ต้องกังวลว่ามันจะป่วยหรือจะลา อย่างที่ผมเองตัดสินใจทำหุ่นยนต์ขึ้นมา เพราะเราเริ่มจากปัญหาเรื่องเงินทุน เรื่องการจัดการ ที่เราทำเองเพราะอย่างน้อยต้นทุนมันก็จะไม่แพงเกินไป ตัวนี้ผมลงไปแสนนิดๆ เอง ถ้าร้านค้าใช้ทดแทนคน 1-2 คน ผมว่าประมาณ 3 ปีก็คืนทุนแล้ว ที่เหลือคือกำไร ไม่ต้องปวดหัวกับการขาดลามาสายของพนักงาน ลดต้นทุน ลดภาระที่ต้องบริหารจัดการคน ถ้าเทียบในระยะยาวคุณจะประหยัดได้มากกว่า”
ในอนาคตคงกริชก็คาดว่าน่าจะเห็นหุ่นยนต์เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในอาชีพต่างๆ แม้แต่ตัวคงกริชเองก็มีแพลนที่จะพัฒนาหุ่นยนต์ให้เข้าไปมีส่วนร่วมในการทำอาหารมากขึ้น แต่จะต่อยอดธุรกิจเดิมหรือเพิ่มเติมเป็นธุรกิจใหม่นั้นอาจจะต้องรอดูโอกาสในอนาคตอีกที และที่สำคัญคือเขามีการวางแผนที่จะพัฒนาหุ่นยนต์ตัวนี้ในเชิงพานิชย์เพื่อตอบโจทย์ร้านอาหารหรือธุรกิจอื่นๆ ที่เจอปัญหาเรื่องของพนักงานแบบเดียวกัน คาดว่าในอนาคตเราคงได้เห็นหุ่นยนต์เข้ามาทำงานร่วมกับมนุษย์มากขึ้นอย่างแน่นอน
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี