"ดิจิทัลพาร์คไทยแลนด์" นิคมสร้างสรรค์นวัตกรรมดิจิทัลประตูสู่อาเซียน

 
 
               หลังการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กรศ.) ครั้งที่ 2/2560 เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคมที่ผ่านมา ก็ได้มีมติเห็นชอบในการสร้าง "ดิจิทัลพาร์คไทยแลนด์ (Digital Park Thailand)" โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนและการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลยุคใหม่ผ่านธุรกิจดิจิทัลระดับโลก (Digital Global Player) และกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของดิจิทัลพาร์คไทยแลนด์
 
 
 
               ซึ่งโครงการนี้ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการนโยบายระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล จัดทำรายละเอียดประเภทกิจการ เกณฑ์การพิจารณา มาตรการส่งเสริมการลงทุน และมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัล นำเสนอคณะกรรมการบริหารและคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเห็นชอบให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ทำหน้าที่ชักจูงบริษัทในกลุ่มนักลงทุนเป้าหมายให้เกิดผลเป็นรูปธรรมร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยให้ดำเนินงานร่วมกับชุมชนในพื้นที่ ถึงแนวทางที่ประชาชนจะได้รับประโยชน์จากเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล
 
 
 
               สำหรับ ดิจิทัลพาร์คไทยแลนด์ นั้น ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า จะเป็นเขตนิคมอุตสาหกรรมเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านดิจิทัล เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี และสร้างสรรค์งานด้านดิจิทัลในรูปแบบต่าง ๆ  อาทิ แอพพลิเคชั่น ศูนย์บริการจัดเก็บข้อมูล (ดาต้าเซ็นเตอร์) และนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์อัจฉริยะต่างๆ ฯลฯ ซึ่งจะเป็นแหล่งรวมนักวิจัยจากทั่วโลกมาอยู่ร่วมกัน อีกทั้งยังเป็นแหล่งเศรษฐกิจที่สามารถเชื่อมโยงกับทั้งอาเซียนได้



               นอกจากนี้ในพื้นที่ภาคตะวันออก ยังเป็นแหล่งรวมอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งเหมาะสมมากที่จะใช้พื้นที่นี้จัดทำโครงการพัฒนาระบบดิจิทัล เพื่อกระจายโอกาสและรายได้ให้กับภาคประชาชน หากประชาชนกว่า 7 หมื่นหมู่บ้านเข้าถึงดิจิทัล และสามารถใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ ประเทศก็จะสามารถเดินหน้าได้อย่างเข้มแข็งต่อไป
 
 
 
               โดยสถานที่โครงการนั้นจะอยู่บนพื้นที่กว่า 500 ไร่ ที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ซึ่งปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ตั้งของสถานีเคเบิลใต้น้ำและสถานีดาวเทียมภาคพื้นดิน ของบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และกรมธุรกิจพลังงาน โดยตามแผนการจัดตั้งจะมีการจัดสรรพื้นที่สำหรับการลงทุนภาคเอกชนร้อยละ 70 และภาครัฐร้อยละ 30 ทั้งนี้ กระทรวงดิจิทัลฯ ได้เริ่มหารือและเชิญชวนบริษัทไอทีชั้นนำของโลกให้มาตั้งสำนักงานในดิจิทัลพาร์คไทยแลนด์บ้างแล้ว อาทิ เฟซบุ๊ก กูเกิล อเมซอน เป็นต้น
 
 
 
               ส่วนสิทธิประโยชน์ที่จะเสนอให้แก่บริษัทต่างๆ ที่จะมาตั้งสำนักงานในดิจิทัลพาร์คไทยแลนด์ คือ การยกเว้นภาษี 8 ปี และลดหย่อนร้อยละ 50 ในอีก 5 ปีถัดมา ส่วนผู้ที่ทำงานในพื้นที่ของดิจิทัลพาร์ค ไทยแลนด์ จะมีให้เลือกเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 2 รูปแบบ คือ การเสียภาษีแบบขั้นบันไดตามปกติ และการเสียภาษีในอัตราคงที่ร้อยละ 17 นอกจากนี้ยังมีการยกเว้นภาษีนำเข้าอุปกรณ์วิจัยหรือสร้างสรรค์นวัตกรรมทุกชนิด 
 
 
               ทั้งนี้ ภายหลังจากการประชุมคณะอนุกรรมการเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) เมื่อวันที่ 23 พ.ค.2560 ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล 6 กลุ่ม ที่จะได้รับการส่งเสริมภายในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรม และนวัตกรรมดิจิตอล หรือดิจิตอลพาร์ค ไทยแลนด์ ได้แก่ 1.ฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ 2.ซอฟต์แวร์และระบบอัจฉริยะ 3.บริการดิจิตอลและออกแบบ 4.อุปกรณ์และบริการสื่อสาร 5.เนื้อหาดิจิตอลและข้อมูลดิจิตอล และ 6.โครงสร้างพื้นฐานดิจิตอล 
 
 
 
               สำหรับความคืบหน้าเวลานี้ กำลังอยู่ระหว่างการจัดตั้ง สถาบันไอโอทีแห่งชาติขึ้นเป็นแห่งแรกในอาเซียน เพื่อส่งเสริมภาคเอกชนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในไทย คาดว่าจะเสนอแผนเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ในช่วงเดือนกันยายนนี้ และเริ่มสร้างอาคารสถาบันไอโอทีได้ในช่วงปลายปี อีกทั้งกำลังเร่งสร้างผังการลงทุนในพื้นที่ 500 ไร่ ให้เอกชนเห็นภาพได้เพื่อจัดแสดงในงาน Digital Thailand Big Bang 2017 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-24 กันยายน และในช่วงเดือนกันยายนนี้ ที่นักลงทุนจากญี่ปุ่นจำนวน 500 คน จะเดินทางเข้ามาในไทย เพื่อเข้ามาดูโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ก็จะนำนักลงทุนญี่ปุ่นไปดู โครงการดิจิทัลพาร์คไทยแลนด์ ซึ่งหากญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนจัดตั้ง IoT ในไทย จะเป็นผลดีต่อทั้งอุตสาหกรรมญี่ปุ่นที่อยู่ในไทย ทั้งในอีอีซี และเป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ญี่ปุ่น
 
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
       
   

RECCOMMEND: TECH

แสงตะวัน อ่อนน่วม พัฒนาแพลตฟอร์ม แก้ปัญหาแรงงานขาดแคลนให้ธุรกิจที่พักไซส์เล็ก

ปัญหาหนึ่งของธุรกิจโรงแรมเล็ก คือต้นทุนการดำเนินงานสูง และมีปัญหาขาดแคลนแรงงาน แสงตะวัน อ่อนน่วม ซึ่งเห็น Pain Point ดังกล่าว จึงได้พัฒนาแพลตฟอร์ม Shin Platform Hotel Self-Service Solution ขึ้นมา เพื่อช่วยทดแทนแรงงานคน, บริษัท ชิบะรูม

เจ๋งป่ะล่ะ! AI ผู้ช่วยเชฟคนใหม่ เก็บข้อมูลทำเมนูสุดโปรดเสิร์ฟลูกค้า ช่วยสแกนเศษอาหาร ลดต้นทุน ลดขยะ

ปัจจุบันโลกเรามีการนำ AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ มาใช้พัฒนา ปรับปรุงสิ่งต่างๆ ขึ้นมากมาย ตั้งแต่เรื่องใหญ่ๆ ไปจนถึงเรื่องเล็กๆ ล่าสุดใครจะคิดว่า แม้แต่ถังขยะในครัวของโรงแรมและร้านอาหาร ก็มีการนำ AI เข้ามาใชั

Mewre น้ำดื่มเพื่อสุนัขและแมวเจ้าแรกของโลก จากไอเดียที่ไม่อยากให้น้องป่วย เมื่อผู้บริโภคไม่ได้มีแค่คนเท่านั้น

Mewre น้ำดื่มเพื่อสุนัขและแมวเจ้าแรกของโลก อีกหนึ่งสินค้านวัตกรรมที่ทำมาเพื่อตอบโจทย์ชาว Pet Parent หรือ การเลี้ยงสัตว์เหมือนลูก เป็นสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัว