การดำเนินการด้านทรัพย์สินทางปัญญา เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่สำคัญของรัฐบาลและประเทศ โดยเฉพาะเมื่อประเทศไทยกำลังจะก้าวสู่ Digital Economy ทรัพย์สินทางปัญญากลับเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องให้ความสนใจ
ทั้งนี้เพราะการให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอย่างถูกต้องจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยเสริมให้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกิดขึ้นได้ในประเทศ เนื่องจากการผลิตคิดค้นซอฟต์แวร์ขึ้นโปรแกรมหนึ่งมีค่าใช้จ่ายและเงินลงทุนจำนวนมาก ถ้าซอฟต์แวร์ถูกละเมิดลิขสิทธิ์เป็นจำนวนมาก จึงหมายถึงรายได้ที่ไม่ถึงมือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี สุดท้ายแล้วเอสเอ็มอีรายนั้นอาจจะต้องปิดกิจการลง
สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ ซิป้า มียุทธศาสตร์หลักด้านการส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของประเทศเพื่อให้เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจไทย จึงพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันของผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทยให้สามารถแข่งขันและดำเนินธุรกิจร่วมกับผู้ประกอบการในประเทศสมาชิกอาเซียนได้
การคุ้มครองลิขสิทธิ์สำหรับซอฟต์แวร์
ตลอดระยะเวลาตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบัน ซิป้าได้พยายามมุ่งเน้นให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์เข้าใจถึงการรักษาสิทธิ์ คุ้มครองสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญาที่ผู้ประกอบการคิดค้นขึ้น จนถึงการนำไปใช้ประโยชน์อื่น ๆ ในเชิงพาณิชย์ได้
โดยซิป้ามุ่งส่งเสริมให้ผู้ที่เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์หรือบริการซอฟต์แวร์มีความรู้ความเข้าใจในกระบวนการคุ้มครองลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญาของผลิตภัณฑ์หรือบริการซอฟต์แวร์ที่ตนเองได้พัฒนาคิดค้นขึ้น จนนำไปสู่การจดแจ้ง สร้างกระบวนการในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาประเภทซอฟต์แวร์อย่างมีประสิทธิภาพ ที่นำไปสู่การส่งเสริมผลิตภัณฑ์หรือบริการซอฟต์แวร์ในอุตสาหกรรม ตลอดจนการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุน
ทั้งนี้การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาสำหรับอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์จะช่วยสร้างบรรยากาศสิ่งแวดล้อมที่ดีต่อการสร้างสรรค์งาน สร้างมูลค่าเพิ่มจากความคิดสร้างสรรค์ สอดรับกับนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ของรัฐบาลที่จะยกระดับเศรษฐกิจของประเทศด้วยสินค้าและบริการด้านดิจิทัล
ดังนั้นซิป้าจึงได้เปิดศูนย์ One Stop Service เพื่อบริการให้คำปรึกษาด้านกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา กรณีการคุ้มครองสิทธิ์ กรณีการยื่นขอสิทธิบัตร การจดเครื่องหมายการค้า การถูกฟ้องร้อง ดำเนินคดีแก่นักพัฒนาซอฟต์แวร์ บริษัทซอฟต์แวร์ รวมถึงการจัดอบรมการอนุญาตให้ใช้สิทธิ์ในลิขสิทธิ์ (Software Licensing Agreement) ให้แก่นักพัฒนาและผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ไทย รวมถึงจัดทำวิจัยและพัฒนาระบบต้นแบบการประเมินมูลค่าทรัพย์สินทางปัญญาประเภทซอฟต์แวร์เพื่อใช้ในการทำธุรกิจ
นอกจากนี้ซิป้ายังได้จัดอบรม สัมมนา ส่งเสริม สนับสนุน เพื่อพัฒนาศักยภาพความรู้ความสามารถด้านทรัพย์สินทางปัญญาสำหรับซอฟต์แวร์ ตลอดจนเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง ซิป้ายังมีส่วนในการผลักดันกฎหมายและมาตรการเกี่ยวกับคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่ทันสมัย บังคับใช้ได้จริง เพื่อคุ้มครองซอฟต์แวร์ไทยอย่างเป็นรูปธรรม และสร้างความแข็งแกร่งในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาประเภทซอฟต์แวร์อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะนำไปสู่การส่งเสริมผลิตภัณฑ์หรือบริการซอฟต์แวร์ในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ และผลกระทบในเชิงพาณิชย์ภาพรวมของประเทศ