เรื่อง : นิธิดา วงศาโรจน์
ภาพของเก้าอี้ตัวเดิม โต๊ะทำงานตัวเดิม หรือแม้แต่บรรยากาศของการตอกบัตรเข้าออฟฟิศทุกวัน ถือเป็นความคุ้นชินที่กลุ่มคนทำงานต้องพบเจออยู่เกือบครึ่งค่อนชีวิต ทว่าด้วยความที่เทคโนโลยีบนโลกได้รับการพัฒนาอย่างไม่มีข้อจำกัด จึงส่งผลให้ความสะดวกสบายต่างเริ่มเข้ามาเสิร์ฟชีวิตคนทำงานมากขึ้น จนกระทั่งหลายองค์กรในประเทศไทยหันมาให้ความสำคัญกับการทำงานยุคใหม่ ซึ่งการยกเครื่ององค์กรใหม่เกือบทั้งหมดนี้ ได้ให้ผลลัพธ์ที่คุ้มค่าโดยเฉพาะในเรื่องประสิทธิภาพในการทำงานที่เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ
คำว่า การทำงานยุคใหม่ ไม่ได้มีนิยามที่เฉพาะเจาะจง แต่สามารถเข้าใจได้ว่า นั่นคือ การนำดิจิตอลเข้ามาเป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจ เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายและไม่มีกฎตายตัวด้วยว่าจะต้องทำงานอยู่แค่ในออฟฟิศ หรือต้องนัดหมายประชุมเฉพาะในห้องสี่เหลี่ยม แต่ทุกสิ่งทุกอย่างสามารถดำเนินต่อไปได้ ไม่ว่าจะอยู่ส่วนไหนของโลกก็ตาม ข้อมูลในเรื่องนี้ ได้เคยมีการพูดถึงโดย Naomi Simson ผู้ก่อตั้งบริษัทด้านเทคโนโลยีอย่าง RedBalloon ที่ออกมาแสดงทัศนะเกี่ยวกับการทำงานรูปแบบใหม่ว่ามีความสอดคล้องกับพฤติกรรมของคนยุคสมัยนี้ ซึ่งต้องการความเป็นอิสระ โดยการทำงานในรูปแบบดังกล่าวนั้นจะช่วยให้ธุรกิจมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งเราจะหยิบยกบางประเด็นที่น่าสนใจของเธอ มาถ่ายทอดให้ได้ทราบกัน
คุยได้แค่ที่ทำงาน VS ติดต่อจากที่ไหนก็ได้
ปัจจุบันนี้ใครก็รู้ว่าการสื่อสารนั้นแสนจะไร้พรมแดน เพราะทั้งแอพพลิเคชันก็ดี หรืออุปกรณ์ฉลาดล้ำต่างก็เข้ามาอำนวยความสะดวกอยู่เต็มไปหมด แม้ว่าการทำงานในรูปแบบใหม่อาจจะทำให้ความสนิทสนมของเพื่อนร่วมงานลดลงไป แต่ถ้าพูดถึงประสิทธิภาพในการทำงานโดยรวมแล้วละก็ ต้องบอกว่าดีกว่าเดิมหลายขุม ซึ่งจะเห็นได้จากการที่งานสามารถรันต่อไปได้อย่างไม่มีสะดุด แม้เจ้านายจะอยู่ต่างประเทศก็ตาม ที่สำคัญระบบ Video Call ก็ไม่ได้ถูกจำกัดจำเขี่ยให้สนทนาได้แค่ 1 ต่อ 1 อีกต่อไป เพราะในระบบของธุรกิจ การดึงคู่สายจากทุกทิศทั่วโลกมาประชุมร่วมกันทั้งหมดนั้น ไม่ใช่เรื่องที่เกินความสามารถอีกต่อไป
8 ชั่วโมง VS 24.7
เดิมทีการทำงานมักมีกฎตายตัวอยู่แล้วว่า จำนวนชั่วโมงงานต่อวันจะอยู่ที่ 8 ชั่วโมง ซึ่งการกำหนดเวลาในลักษณะดังกล่าว มักจะเป็นข้อจำกัดสำหรับสายงานของนักคิด นักครีเอทิฟทั้งหลายที่ทำงานตามอารมณ์เสียเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น คงจะเป็นเรื่องที่ดีไม่น้อย หากจะขยับเวลาการทำงานให้มีความอิสระ ทั้งช่วงเวลาและสถานที่ เพราะความจรรโลงใจที่เกิดขึ้นกับคนทำงานย่อมนำมาสู่ศักยภาพที่ดีต่อธุรกิจ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เป็นข้อจำกัดเพียงแค่บางสายงานเท่านั้น เพราะบางตำแหน่งก็ยังเหมาะที่จะทำงานในรูปแบบเดิม
แน่นอนว่า ความต้องการที่จะแหกกฎการทำงานรูปแบบเก่า ปัจจัยสำคัญที่จะขับเคลื่อนสิ่งเหล่านั้น คือต้องอาศัยเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้นกว่าเดิม แม้แต่ไมโครซอฟท์ ประเทศไทยเองก็ออกมาสนับสนุนแนวคิดดังกล่าว โดย ธนพงษ์ อิทธิสกุลชัย ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมและบริหารลูกค้า บริษัท ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่าปัจจุบันมี SME ไทยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 93 ของธุรกิจในประเทศทั้งหมด แต่มีเพียงบางส่วนเท่านั้นที่นำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ โดยเฉพาะคลาวด์ คอมพิวติ้งที่ถึงแม้จะได้ยินชื่อมานาน แต่การนำมาประยุกต์เพื่อแข่งขันกับคู่แข่งทั้งในเวทีระดับประเทศและระดับโลกนับว่ามีน้อยกว่าที่ควรจะเป็นอยู่มาก
“คลาวด์เป็นเทคโนโลยีที่สำคัญมาก จากจำนวน SME กว่า 93 เปอร์เซ็นต์ทั่วประเทศ มีเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นที่รู้จักนำมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจ ทั้งที่ความเป็นจริงสามารถช่วยธุรกิจได้ตั้งแต่ระบบหลังบ้านไปตลอดจนขยายฐานลูกค้า โดยที่ผ่านมาเราได้มีการทำผลสำรวจ SME ทั่วโลก ก่อนจะพบว่าองค์กรที่ปรับธุรกิจของตนเองให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่หมุนไป ส่งผลให้เขามีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปีที่ 23.5 เปอร์เซ็นต์ และในฐานะที่เราให้ความสำคัญกับ SME ของไทยมากเช่นกัน เราจึงพยายามผลักดันโดยปล่อยเทคโนโลยีตัวล่าสุดที่ขึ้นชื่อว่า ดีที่สุด ปลอดภัยที่สุด และคุ้มค่าต่อการลงทุนมากที่สุด”
โดยโปรแกรมตัวที่ว่านี้ คือ SMB Power up Suite ที่มาพร้อม Office 365 ด้วยราคาลงทุนที่เหมาะสมกับขนาดธุรกิจของ SME ซึ่งจะอยู่บนพื้นฐานของการทำงานยุคใหม่ที่สามารถทำงานได้ในทุกที่ ทุกเวลา โดยเป้าหมายที่สำคัญคือพนักงานมีความสุขและสามารถสร้างสรรค์ผลงานที่มีประสิทธิภาพเพื่อตอบแทนองค์กรได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
“ความสามารถของแอพพลิเคชันตัวนี้หลักๆ จะประกอบไปด้วยการทำงานร่วมกับอุปกรณ์ได้ทุกแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเดสก์ท็อป สมาร์ตโฟนหรือแท็บเล็ต นอกจากนั้นยังสามารถใช้วิดีโอ คอลไปพร้อมๆ กับการแก้ไขเอกสาร เพื่อให้การสื่อสารไม่คลาดเคลื่อนจนส่งผลกระทบต่อชิ้นงาน ที่สำคัญคือแม้จะอยู่กันคนละแห่ง แต่ทุกคนสามารถแชร์เอกสารถึงเพื่อนร่วมงานรายอื่นๆ ได้ ซึ่งทุกการทำงานจะอยู่บนพื้นฐานของการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวด เพื่อป้องกันข้อมูลที่อาจรั่วไหล แน่นอนว่าการปรับเปลี่ยนบริบทจากหน้ามือเป็นหลังมือเช่นนี้ ย่อมต้องใช้เวลาและปรับความเข้าใจอีกมาก แต่ถ้าหากว่าจับทางได้ถูกเมื่อไหร่ ผมเชื่อว่าผลลัพธ์ที่ได้ย่อมคุ้มค่าอย่างแน่นอน โดยแพ็กเกจที่เรานำเสนอ จะเป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งเท่านั้น ซึ่งในแอพพลิเคชันเต็มยังมีฟังก์ชันที่เพียบพร้อมตอบโจทย์ทุกองค์กร ส่วนเรื่องของงบการลงทุน ผู้ประกอบการไม่ต้องเป็นห่วงเลย เพราะต้นทุนในการปรับเปลี่ยนบริบทเหล่านี้ อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมสำหรับ SME โดยเฉพาะ”
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อธุรกิจเอสเอ็มอี