เรื่อง : นิธิดา วงศาโรจน์
ภาพ : กฤษฎา ศิลปไชย
เมื่อเอ่ยถึงปรากฏการณ์ Internet Of Thing (IOT) หลายคนคงพอจะคุ้นหูกันมาบ้างแล้ว ถึงความสามารถในการยกระดับชีวิตของมนุษย์ให้สะดวกสบายยิ่งขึ้น ซึ่งไม่เพียงแต่การตอบโจทย์เฉพาะรายบุคคลเท่านั้น เพราะ IOT ยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในแง่ของธุรกิจได้อีกด้วย โดยอาศัย “เทคโนโลยี เซ็นเซอร์” เข้ามาเป็นส่วนประกอบชิ้นสำคัญ ที่จะช่วยพัฒนาองค์กรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม
ในเรื่องนี้ วิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนสายงานธุรกิจที่ปรึกษา บริษัท PwC Consulting (ประเทศไทย) ได้ทำผลสำรวจเกี่ยวกับ Trend IT ก่อนจะพบว่า เทคโนโลยี เซ็นเซอร์ตัวดังกล่าว เริ่มเข้ามามีบทบาทต่อธุรกิจในประเทศไทยมากขึ้น ด้วยคุณสมบัติที่โดดเด่นในแง่ของการเก็บข้อมูลและรายงานผลได้อย่างแม่นยำ จึงทำให้หลายธุรกิจเริ่มนำไปใช้กันบ้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเกษตรกรรม สำหรับเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล หรือแม้แต่กลุ่มสุขภาพและค้าปลีกที่นำมาใช้ทำการตลาดเพื่อให้โดนใจผู้บริโภค
“คุณสมบัติของเทคโนโลยี เซ็นเซอร์ ขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการว่า จะนำไปใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่ธุรกิจในแง่ไหน อย่างเช่น ในกลุ่มธุรกิจเกษตรกรรม ที่ได้นำเทคโนโลยี เซ็นเซอร์มาใช้เพื่อลดต้นทุน และเพิ่มความแม่นยำในการทำงาน โดยวิธีการคือ นำเซ็นเซอร์ไปโปรยลงบนดิน เพื่อวิเคราะห์คุณภาพและคุณสมบัติของดิน แน่นอนว่า ขั้นตอนนี้จะสามารถลดจำนวนคนทำงาน พร้อมกับให้ความละเอียดที่สูงกว่า รวมไปถึงความสามารถในการวิเคราะห์ถึงความพอดีในการใช้ปุ๋ย ใช้น้ำ เพื่อให้ได้ผลผลิตงอกงามที่สุด ซึ่งธุรกิจด้านเกษตรที่นำเซ็นเซอร์มาประยุกต์ใช้ในส่วนนี้ จะสามารถลดปริมาณการใช้น้ำได้ถึง 44 เปอร์เซ็นต์ และ Save Cost ในทุกกระบวนการถึง 25 เปอร์เซ็นต์ โดยทำกำไรเพิ่มได้กว่า 40 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว”
นอกเหนือจากอุตสาหกรรมเกษตรแล้ว เทคโนโลยีดังกล่าวยังถูกนำไปใช้เพื่อเก็บข้อมูลในกลุ่มธุรกิจสุขภาพด้วย เช่น การนำเทคโนโลยี เซ็นเซอร์เข้าไปร่วมใช้กับสายรัดข้อมือเพื่อสุขภาพ ที่จะคอยเก็บข้อมูลตรวจจับการเคลื่อนไหวของร่างกายจากการก้าวเดิน ซึ่งข้อมูลดังกล่าวสามารถแสดงให้เห็นได้ถึงสุขภาพของผู้สวมใส่ ดังนั้น บริษัทกลุ่มประกันภัยจึงใช้โอกาสจากข้อมูลในส่วนนั้น เพื่อพิจารณาว่าผู้สวมใส่มีความแข็งแรงมากน้อยขนาดไหน ซึ่งบริษัทประกันภัยเองก็สามารถออกโปรโมชั่นอย่าง การลดราคาค่า Premium Insurance หรือแม้แต่กลุ่มธุรกิจค้าปลีกที่นำมาใช้สำหรับการทำโฆษณา เช่น การส่งข้อความโปรโมชั่นให้ลูกค้าผ่าน Smartphone หากเป็นยุคก่อน การส่งข้อความ 1 ครั้งจะกระจายไปยังลูกค้าทุกรายเหมือนๆ กัน แต่ปัจจุบันจะมีความ Advance มากขึ้น โดยเทคโนโลยี เซ็นเซอร์จะสามารถตรวจจับข้อมูลของลูกค้า รับรู้ถึงพฤติกรรม และสามารถส่งโฆษณาเจาะกลุ่มเป้าหมายได้ดีกว่าเดิม
เรียกได้ว่าความนิยมในประเทศไทยกำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ถึงอย่างนั้นโดยส่วนใหญ่แล้วความนิยมใช้มักอยู่ในรูปแบบของการทำตามๆ กันเสียมากกว่า ดังนั้น ความหลากหลายของเทคโนโลยีตัวดังกล่าว นับว่ายังมีน้อยมากเมื่อเทียบกับต่างประเทศ
“อาจเพราะองค์ความรู้ในประเทศที่ยังมีค่อนข้างน้อย เช่นนั้นผู้ประกอบการจึงควรศึกษาหาข้อมูลผ่านกรณีศึกษาจากต่างประเทศให้มากๆ ซึ่งเราคิดว่ามีหลายกรณีที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นประเทศฮ่องกงที่นำเทคโนโลยีตัวนี้มาประยุกต์ใช้กับวงการการแพทย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ กล่าวคือ เวลามีผู้ป่วยที่ต้องเข้าไปรักษาตัวนานๆ ในโรงพยาบาล เมื่ออาการเริ่มดีขึ้นและสามารถออกจากโรงพยาบาลได้แล้ว ทางโรงพยาบาลจะมีการมอบเทคโนโลยี เซ็นเซอร์ เพื่อให้ผู้ป่วยได้นำไปใช้ที่บ้าน ซึ่งข้อดีของมันคืออุปกรณ์จะเชื่อมต่อกับหมอโดยตรง และหมอจะรู้ทันทีว่าคนไข้มีอาการดีขึ้นหรือว่าอาการเริ่มทรุดลง”
อย่างไรก็ดี ยังมีตัวอย่างของการนำเทคโนโลยี เซ็นเซอร์มาเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าด้วย เช่น กล่องไปรษณีย์อัจฉริยะ ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมต่อการขนส่งสินค้าที่ค่อนข้างมีมูลค่า หรือเป็นการขนส่งระหว่างประเทศ โดยกล่องนี้จะถูกติดเซ็นเซอร์ไว้ และทำหน้าที่รายงานผล ไม่ว่าจะมีการเปิดหรือปิดกล่องไปแล้วกี่ครั้ง อุณหภูมิภายในกล่องกี่องศา ทั้งยังสามารถบอกได้ว่า ในขณะนี้กล่องถูกส่งไปถึงที่ไหนแล้ว โดยลูกค้าสามารถตรวจสอบได้ด้วยตนเองผ่าน Smartphone ซึ่งแน่นอนว่า ลูกค้าย่อมยินดีที่จะจ่ายเงินเพิ่มเพื่อให้สินค้าไปถึงที่หมายปลายทางอย่างปลอดภัย
ทั้งนี้ ไม่เพียงแต่การศึกษา Case Study จากต่างประเทศเพียงอย่างเดียวเท่านั้น วิไลพรยังได้ฝากถึง SME ไทยบ้านเรา ให้คิดต่างอย่างสร้างสรรค์ อย่ามองว่าเทคโนโลยีตัวนี้คือ การลงทุนที่สิ้นเปลือง ให้ทดลองใช้ทีละสเตป โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนด้วยเงินมหาศาลในครั้งเดียว แต่ให้ทดลองใช้อย่างค่อยเป็นค่อยไป หากตอบโจทย์ก็ค่อยเพิ่มขนาดการลงทุนให้ใหญ่ขึ้น
ถึงแม้ว่าเทคโนโลยี เซ็นเซอร์จะเป็นเครื่องมือในอนาคตที่สำคัญอย่างมากต่อธุรกิจ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ผู้ประกอบการก็ควรระมัดระวังเรื่องของสิทธิส่วนบุคคล เพราะด้วยกฎหมายในประเทศไทยที่ยังไม่แข็งแรงนัก อาจทำให้เกิดความเสียหายในแง่ของการละเมิดข้อมูล โดยเฉพาะเรื่องเซ็นซิทีฟอย่างเงินเดือน หรือการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค ดังนั้น ก่อนจะใช้เพื่อเก็บข้อมูลผู้บริโภคก็ควรพิจารณาเสียก่อนว่าข้อมูลใดควรเก็บ หรือไม่ควรเก็บ มิเช่นนั้นอาจนำมาซึ่งปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลได้
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อความสำเร็จของธุรกิจเอสเอ็มอี (SME)