Tech Startup

สตาร์ทอัพไทยจะไปต่ออย่างไร ฟังแนวคิด ธนวิชญ์ ต้นกันยา นายกสมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย

 

     “คงไม่มากเกินไป ที่จะบอกว่า วันนี้เรากำลังอยู่ในสภาวะสงครามการล่าอาณานิคม”

     ธนวิชญ์ ต้นกันยา นายกสมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย กล่าวเปิดประเด็น ก่อนที่จะขยายความต่อไปว่า หากลองดูตัวเลขรายได้จากแพลตฟอร์มดังๆ เหล่านี้ ได้แก่ Facebook  มีรายได้คือ 8,000 กว่าล้านบาท แต่ลงรายได้ในประเทศไทย ปี 2565 เพียง 463 ล้านบาท หรือคิดเป็น 5.66% เท่านั้น แสดงว่ามีรายได้หายออกไปถึง 7,720  ล้านบาท

     ขณะที่ Google มีรายได้จากยูทูปและเซิร์ชรวม  6,724 ล้านบาท แต่ลงรายได้ประเทศไทยอยู่ที่ 1,336 ล้านบาท หรือคิดเป็น 19.87% รายได้หายออกไป 5,389 ล้านบาท  

     เช่นเดียวกับ TikTok แพลตฟอร์มที่กำลังมาแรงในตอนนี้ มีรายได้ 1,262 ล้านบาท ลงรายได้ในประเทศไทยเพียง 38.33%

     “แค่ 3 แพลตฟอร์มใหญ่นี้ รวมเป็นเงินที่หายไปอยู่ที่ 14,371 ล้านบาท นี่คือสิ่งที่น่าเศร้า เงินจำนวนนี้ เมื่อครั้งในอดีตเคยเป็นรายได้ของธุรกิจสื่อในประเทศไทย”

     นอกจากนี้ คนไทยยังซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ อย่าง ช้อปปี้ ลาซาด้า Temu ถึง 800,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งในจำนวนนี้ 80% เป็นสินค้าจากประเทศจีน ที่เคยเป็นรายได้ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย

     ด้วยเหตุนี้ ธนวิชญ์ จึงบอกว่า “วันนี้ประเทศไทยเราได้เสียอธิปไตยในเรื่องของดิจิทัลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และถ้าวันนี้จะมีแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของไทยที่คิดจะไปสู้ยักษ์ใหญ่ ก็คงไม่ทันแล้ว”

3 ทางรอดสตาร์ทอัพ

    อย่างไรก็ตาม ธนวิชญ์ บอกว่าถึงแม้ว่าจะมีความท้าทายมากมาย แต่สมาคมฯ เชื่อว่าประเทศไทยสามารถใช้จุดแข็ง 3 ด้าน คือ สุขภาพ อาหาร และการท่องเที่ยว ในการสร้างความได้เปรียบในตลาดโลกได้ โดยสตาร์ทอัพไทยสามารถสร้างความโดดเด่นเหนือคู่แข่งต่างชาติได้

     “3 อุตสาหกรรมนี้ เรายังมีความได้เปรียบที่จะมีโอกาสแต่ไม่ได้หมายความว่าจะชนะ แค่ยังมีความได้เปรียบ”

    นอกจากนี้ ทางสมาคมฯ ได้ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่ภาครัฐต้องเข้ามาสนับสนุน เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมในการแข่งขันในสิ่งที่ถูกเรียกว่า“สงครามล่าอาณานิคมแบบไม่ใช้กำลัง” เพื่อให้สตาร์ทอัพไทยสามารถ "Pioneers New Economy" นำพาประเทศเข้าสู่เศรษฐกิจใหม่ที่ยั่งยืน

     ทั้งนี้ ธนวิชญ์ มองความท้าทายที่เป็นปัญหา และสมาคมฯ จะต้องเข้าไปขับเคลื่อน 3 เรื่องหลักๆ คือ

     1. Manpower (กำลังคนด้านดิจิทัล)

        “เราขาดแคลนผู้ประกอบการที่มีทักษะที่สามารถแข่งขันในเศรษฐกิจดิจิทัลได้ เราก็ควรพัฒนาคนดิจิทัล”

       เพื่อให้เกิดการสร้างผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีที่สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในตลาดโลก ควรมีการสนับสนุนด้านการศึกษา การฝึกอบรมและการจัดโปรแกรมเร่งรัดความรู้ด้านดิจิทัลที่สอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรม

     2. ด้านเงินทุน

        “ถ้าเงินเท่ากัน Local ชนะ แต่เงินไม่เคยเท่ากัน ดังนั้น สตาร์ทอัพไทยจึงเริ่มต้นด้วยความเสียเปรียบตั้งแต่แรก”

        ดังนั้น ในเรื่องของเงินลงทุน ธนวิชญ์ จึงคิดว่า รัฐบาลควรจัดสรรเงินทุนให้เทียบเท่ากับประเทศชั้นนำอย่างสิงคโปร์ ซึ่งจัดสรรเงินลงทุนสูงถึง 200 ล้านบาทต่อบริษัท ผ่านกองทุน Matching Fund ที่ร่วมลงทุนกับนักลงทุนที่ได้รับการรับรอง

        “ยกตัวอย่าง ประเทศสิงคโปร์ 6 ล้านบาทแรก รัฐบาลนับสนุนลงเงินให้เลย 7 ส่วน หรือ 4.2 ล้าน ผ่านองค์กรรัฐชื่อ SEED Capital สตาร์ทอัพมีหน้าที่ไปหานักลงทุนมาลงอีก 3 ส่วนที่เหลือ หรือ 1.8 ล้าน และถ้าเกิน 6 ล้านแต่ไม่เกิน 50 ล้าน รัฐก็ยังช่วยลงให้อีกครึ่งหนึ่ง หรือในสัดส่วน 1:1”

        ในส่วนของเงินกู้ อย่างที่ทราบกันว่าสตาร์ทอัพไม่มีสินทรัพย์ที่จะเอาไปค้ำประกันเงินกู้ จึงควรมีการให้กู้ยืมแบบไม่ต้องมีสินทรัพย์ค้ำประกัน ผ่อนชำระ 5 ปี วงเงินสูงสุด 13 ล้านบาทต่อบริษัท  

        สำหรับการเพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน ควรบังคับใช้กฎหมาย Credit Term Guideline อย่างเคร่งครัด โดยกำหนดให้บริษัทใหญ่ต้องชำระเงินแก่คู่ค้าไม่เกิน 45 วัน โดยนโยบายนี้ไม่ต้องใช้เงินภาษีประชาชน นอกจากนี้ มี PO Financing  ใช้ใบสั่งซื้อเป็นหลักค้ำประกันเงินกู้ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ธุรกิจ

    3. การตลาด

        เพื่อเป็นการสร้างโอกาสในการเข้าถึง อย่างแรกจึงควรการผลักดันสู่ตลาดต่างประเทศ ผ่านเครือข่ายทูตพาณิชย์ทั่วโลก เพื่อเปิดโอกาสให้ธุรกิจไทยเติบโตในตลาดสากล และทำ Thailand First ซึ่งเป็นการกำหนดสัดส่วนงบประมาณด้านไอทีที่ต้องใช้ซื้อสินค้าหรือบริการจากสตาร์ทอัพไทย เพื่อส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจภายในประเทศ 

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup