พาส่องอินโดนีเซียในมุมใหม่ สตาร์ทอัพไทยจะคว้าโอกาสได้อย่างไร
Text : Methawee T.
เมื่อเจาะลึกตลาดสตาร์ทอัพในภูมิภาคอาเซียน อินโดนีเซียเป็นอีกหนึ่งตลาดที่ร้อนแรง การันตีด้วยการเป็นประเทศที่กำเนิดยูนิคอร์นมากที่สุดในอาเซียน วันนี้เราเลยอยากชวนทุกคนมานั่งจับเข่าคุยกับ แคสเปอร์-ธนกฤษณ์ เสริมสุขสัน Founder-really CasperExecutive Vice President, Global & Strategy-Thai Startup Association และอดีต Co-founder ของ Kulina สตาร์ทอัพรุ่นบุกเบิกตั้งแต่สมัยที่อินโดนีเซียยังไม่มียูนิคอร์นแม้แต่ตัวเดียว
“แคสเปอร์ทำงานที่บริษัทสตาร์ทอัพใน Silicon Valley สหรัฐอเมริกาได้สักพักใหญ่ หลังจากนั้นตัดสินใจอยากย้ายมาทำงานที่ภูมิภาคอาเซียนซึ่งใกล้บ้าน เลยได้ปรึกษานักลงทุนที่รู้จัก ด้วยความบังเอิญนักลงทุนท่านนั้นลงทุนใน Kulina และเขามองหาคนไปช่วยในการ Scale หรือขยายสตาร์ทอัพ ก็เลยมีโอกาสได้ไปบุกเบิกตลาดสตาร์ทอัพอินโดนีเซีย” แคสเปอร์เล่าเหตุการณ์ที่จับพลัดจับผลูไปทำงานในอินโดนีเซียให้ฟัง
จุดเริ่มต้นของสตาร์ทอัพอินโดนีเซีย
ในช่วงที่แคสเปอร์ย้ายไปอินโดนีเซีย เป็นยุคแรกเริ่มที่ผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพกลุ่มแรกเป็นกลุ่มนักเรียนที่เรียนจบจากประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ทดลองทำงานสาย Tech ช่วงเวลาหนึ่ง และตัดสินใจนำสิ่งที่เรียนรู้ นำโมเดลธุรกิจที่มีอยู่ในสหรัฐอเมริกามาทดลองที่บ้านเกิด
“การเติบโตของตลาดดิจิทัลในอินโดนีเซีย แบ่งได้เป็น 2 ช่วง ได้แก่ Platform Wave เนื่องจากตอนแรกที่ไม่มีโครงสร้างและข้อมูลออนไลน์ ก็จะมีความต้องการของบริษัทที่เป็น Platform/Marketplace ซึ่งเป็น Generic Platform หรือแพลตฟอร์มทั่วไป เช่น E-commerce, Ride Hailing, Travel หลังจากมีบริการดิจิทัลพื้นฐานก็เข้าสู่ Sector-specific Platform เป็นนวัตกรรมเชิงลึกที่มีความเฉพาะทางมากขึ้น เช่น FinTech และ HealthTech”
ขนาดตลาดที่เต็มไปด้วยโอกาสและดึงเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ
ประเทศอินโดนีเซีย คิดเป็น 30-40 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปรียบเทียบกับประเทศไทยที่มีสัดส่วนที่ 15 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงประเทศอินโดนีเซียมีประชากรเยอะ ประมาณ 275,000,000 คน ทำให้ตลาดนี้เป็นที่จับตามองจากนักลงทุนทั้งสหรัฐอเมริกา จีน และสิงคโปร์
“VC ที่รู้จักกันหลายท่านแนะนำให้แคสเปอร์ไปทำงานในสตาร์ทอัพอินโดนีเซีย เนื่องจากเขามองเห็นว่าอินโดนีเซียเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่กำลังเติบโต ที่สำคัญตลาดคนชั้นกลางกำลังขยาย ทำให้กำลังซื้อของคนเพิ่มขึ้น ด้วยขนาดตลาดและอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ ทำให้นักลงทุนที่คาดหวังการเติบโตแบบก้าวกระโดดสนใจลงทุนในตลาดอินโดนีเซีย”
การส่งเสริมจากภาครัฐกระตุ้นการเติบโตของนวัตกรรม
ภาครัฐเป็นอีกหนึ่งกลไกในการขับเคลื่อนให้สตาร์ทอัพเติบโตทั้งในแง่การดึงเม็ดเงินลงทุนและการปลดล็อกข้อจำกัดต่างๆ เพื่อให้การสร้างนวัตกรรมเกิดขึ้นง่าย
“ในมุมมองของแคสเปอร์ ภาครัฐของอินโดนีเซียค่อนข้างเปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพได้ทดลอง หากข้อไหนที่ไม่มีกฎหมายห้าม สตาร์ทอัพสามารถทำได้ เพราะถือว่าไม่มีกฎหมายไม่ผิด และค่อยมาเขียนกฎหมาย มาร่างกฎหมายเพื่อการกำกับดูแลภายหลัง ด้วยแนวคิดแบบนี้ทำให้เปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพได้สร้างนวัตกรรมอย่างแท้จริง โดยไม่ถูกปิดกั้น นอกจากนั้น ประธานาธิบดี รัฐมนตรี ค่อนข้างให้ความสำคัญกับการสนับสนุนและส่งเสริมสตาร์ทอัพ ในหลายๆ ครั้งเป็นเจ้าภาพในการเชิญนักลงทุนต่างประเทศเพื่อพูดคุยกับสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพเพื่อให้เกิดการลงทุน”
โอกาสของตลาดอินโดนีเซียสำหรับสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการไทย
เนื่องจากขนาดตลาดในประเทศมีมูลค่ามหาศาล ทำให้ในหลายๆ ครั้งสตาร์ทอัพอินโดนีเซียเก่งทำธุรกิจในประเทศตัวเอง แต่ไม่สามารถขยายตลาดในต่างประเทศได้
“Traveloka เป็นหนึ่งในสตาร์ทอัพสัญชาติอินโดนีเซียไม่กี่เจ้าที่ประสบความสำเร็จในการขยายตลาดในต่างประเทศ เมื่อพูดถึงความเก่งของผู้ประกอบการอินโดนีเซียในการทำธุรกิจในประเทศ หลายคนอาจสงสัยว่าแล้วผู้ประกอบการไทยจะสามารถเจาะตลาดนี้ได้อย่างไร คำตอบคือ ผู้ประกอบการไทยต้องมีความพร้อม ถ้าไม่พร้อม ไม่แข็ง สู้ในตลาดนี้ยาก แต่หากมีความพร้อม แม้จะมีคู่แข่งเป็นเบอร์ใหญ่ในอินโดนีเซีย อย่าลืมว่าตลาดนี้มีขนาดใหญ่พอที่จะให้เป็นเบอร์สอง เบอร์สาม และเบอร์สี่ ที่มีความแตกต่างและมีจุดแข็ง”
นอกจากนั้น แคสเปอร์ได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า “ในช่วงก่อน COVID-19 แคสเปอร์ได้มีโอกาสจัดทริปพาผู้ประกอบการไทยไปทำความรู้จัก Eco-System และเชื่อมโยงกับนักลงทุนและกลุ่มสตาร์ทอัพของอินโดนีเซีย เพราะตลาดอินโดนีเซียมีความเฉพาะเราเลยอยากให้ทุกคนได้รู้จักให้ครบทุกมิติก่อนที่จะตัดสินใจขยายตลาดหรือหาแหล่งเงินทุน ตอนนี้อินโดนีเซียกลับมาเปิดประเทศอีกครั้ง แคสเปอร์มองว่าเป็นโอกาสดีที่เราจะช่วยผู้ประกอบการไทยค้นหาโอกาสในตลาดที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในภูมิภาค”
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup