เจ๋งได้อีก! สตาร์ทอัพสิงคโปร์เตรียมเปิดตัวน้ำนมแม่จากการเพาะเซลล์ในห้องแล็บรายแรกในเอเชีย
Text : Vim Viva
หากย้อนกลับไปในอดีตจะเห็นหลายประเทศทำแคมเปญรณรงค์ให้ประชาชนดื่มนมเพราะดีต่อสุขภาพ จนกระทั่งปัจจุบันเริ่มมีผลิตภัณฑ์นมทางเลือกออกสู่ตลาดมากมายให้ผู้บริโภคได้ลิ้มลอง โดยมากเป็นนมจากพืช แต่สำหรับเฟิงหรู หลิน ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งเทอร์เทิลทรี (TurtleTree) สตาร์ทอัพสิงคโปร์ที่มีสำนักงานในสหรัฐฯ มองว่าการผลิตนมโดยไม่ต้องมีวัวตัวเป็นๆ น่าจะดีต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า และนั่นจึงเป็นที่มาของการก่อตั้งบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพที่ผลิตนมจากการเพาะเซลล์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
จุดเริ่มต้นของของการดำเนินธุรกิจผลิตนมจากห้องแล็บเกิดขึ้นเมื่อหลินต้องการผลิตชีสเพื่อป้อนตลาดสิงคโปร์และเอเชีย แต่เนื่องจากสิงคโปร์ไม่มีฟาร์มโคนม เธอจึงเดินทางไปลายประเทศ ตั้งแต่อินโดนีเซียไปถึงไทยเพื่อเสาะหาน้ำนมคุณภาพดี สิ่งที่พบเจอคือปัญหาจากการใช้ฮอร์โมนและยาปฏิชีวนะในวัวซึ่งส่งผลต่อคุณภาพของน้ำนม และเมื่อนำไปผลิตชีสก็ด้อยคุณภาพเช่นกัน หลินจึงล้มเลิกความคิดในการผลิตชีส
ให้บังเอิญว่าหลินซึ่งเคยทำงานในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายบัญชีของกูเกิลได้รู้จักกับแม็ก ราย เมื่อคราวที่เขามาบรรยายเกี่ยวกับนวัตกรรมเนื้อสัตว์ที่มาจากการเพาะเซลล์ในห้องแล็บ เธอจึงเข้าไปพูดคุยและนำเสนอแนวคิดการผลิตนมโดยใช้วิธีการเดียวกัน และเมื่อปรึกษานักวิทยาศาสตร์และได้คำตอบว่าสามารถทำได้ ทั้งคู่จึงร่วมก่อตั้งบริษัทเทอร์เทิลทรีขึ้นที่สิงคโปร์ในปี 2019
ในการผลิตน้ำนมดิบจากเซลล์นั้นจะใช้วิธีนำเซลล์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมาเพาะในถังขนาดใหญ่โดยให้เซลล์เหล่านั้นเกาะที่หลอดเล็กๆ จากนั้นจะมีการผสมกับของเหลวที่มีการพัฒนาสูตรมาแล้ว เมื่อไหลผ่านไปอีกด้านของหลอดจะกลายเป็นน้ำนม ซึ่งการผลิตนมลักษณะนี้ สามารถผลิตจากเซลล์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดใดก็ได้ซึ่งก็รวมถึงมนุษย์ด้วย
ในช่วงขวบปีแรก การระดมทุนเป็นไปด้วยความลำบากเนื่องจากนักลงทุนไม่มั่นใจว่าปูมหลังของผู้ก่อตั้งจะสามารถพาบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพอยู่รอด แต่ทีมงานก็เดินหน้าทำงานวิจัยอย่างต่อเนื่องโดยตระหนักดีว่าเนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่ค่อนข้างใหม่ อาจต้องใช้เวลาโน้มน้าวนักลงทุนและผู้บริโภคให้เห็นประโยชน์ของเทคโนโลยีเซลล์เพาะเลี้ยง
อย่างไรก็ตาม ปลายปี 2020 เทอร์เทิลทรีก็สามารถระดมทุนได้ 6.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้เทอร์เทิลทรีขยับขยายไปเปิดศูนย์วิจัยและพัฒนาที่เมืองซาคราเมนโต รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ กระทั่งต่อมา ได้รับการสนับสนุนในรอบซีรีส์เอจากนักลงทุนทั่วโลกอีกกว่า 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเทอร์เทิลทรีมีแผนจะนำไปพัฒนาในส่วนงานวิจัยและพัฒนา รวมถึงการเพิ่มกำลังการผลิตก่อนที่จะมีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์เป็นครั้งแรกคาดว่าจะภายใน 12-18 เดือนข้างหน้า
ซีอีโอบริษัทกล่าวว่าเงินทุนสนับสนุนที่ได้รับจะเป็นใบเบิกทางให้เทอร์เทิลทีได้ขยายธุรกิจ และขยับเข้าสู่ยุคโภชนาการแบบยั่งยืน “กว่าผลิตภัณฑ์นมจากแล็บจะได้รับการอนุมัติให้จำหน่ายคงใช้เวลาหลายปี ระหว่างนี้เทอร์เทิลทรีได้ศึกษาลึกลงไปถึงส่วนประกอบของน้ำนม เช่น โปรตีนและน้ำตาลในนมที่สามารถเพิ่มคุณค่าและประโยชน์ได้มากกว่าที่มีอยู่”
สำหรับผลิตภัณฑ์แรกที่เทอร์เทิลทรีจะเปิดตัวคือแลคโตเฟอร์รินที่เกิดจากการเพาะเซลล์ของมนุษย์ แลคโตเฟอร์ริน (lactoferrin) คือโปรตีนของน้ำนมเหลืองซึ่งเป็นอาหารแรกของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และช่วยเสริมการทำงานของภูมิคุ้มกัน หลินกล่าวว่าหนึ่งในเป้าหมายของบริษัทคือการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คนในการบริโภคนม เธอมองว่านมจากการเพาะเซลล์ช่วยลดการทารุณกรรมสัตว์ ดีต่อสิ่งแวดล้อม และดีต่อสุขภาพ
อย่างไรก็ตาม สตาร์ทอัพที่ดำเนินธุรกิจนี้ยังค่อนข้างน้อย มีไม่กี่ราย หนึ่งในนั้นคือบริษัทวิลค์ เทคโนโลยีส์ (Wilk Technologies) สตาร์ทอัพจากอิสราเอลทีเพิ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และถือเป็นคู่แข่งของเทอร์เทิลทรี ถึงกระนั้น ผลิตภัณฑ์นมจากห้องแล็บก็ยังป็นผลิตภัณฑ์เฉพาะกลุ่ม แต่ก็มีโอกาสเติบโตในตลาดผลิตภัณฑ์นมทั่วโลกที่มีมูลค่า 871,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
สำหรับเทอร์เทอลทรี ในฐานะสตาร์ทอัพเอเชียรายแรกและรายเดียวที่ดำเนินธุรกิจผลิตนมที่ได้จากการเพาะเซลล์ในห้องแล็บ แม้ทุกอย่างจะดำเนินไปด้วยดี แต่หลิน ผู้บริหารบริษัทมองว่าคุณสมบัติที่ว่าดีต่อสุขภาพนั้นอาจไม่ดึงดูดใจผู้บริโภคพอ รสชาติจึงต้องถูกปากด้วย สิ่งที่หลินอยากเห็นคือผู้บริโภคซื้อโปรตีนทางเลือกไม่ใช่เพราะจำใจเนื่องจากรู้ว่าดีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม แต่ซื้อเพราะความต้องการอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ ผู้บริหารเทอร์เทิลทรีได้ว่าจ้างโดมินิก เครนน์ เชฟชื่อดังเจ้าของร้านอาหารดาวมิชลิน 3 ดวงในสหรัฐฯ เป็นที่ปรึกษาด้านนวัตกรรมอาหาร ซึ่งหน้าที่หนึ่งของเชฟคือการรังสรรค์อาหารที่ประกอบด้วยแลคโตเฟอร์รินที่เพาะจากแล็บให้ออกมามีรสชาติดี นอกจากนั้น เทอร์เทิลทรียังเสาะหาพันธมิตรในอุตสาหกรรมอาหารเพื่อให้นำผลิตภัณฑ์ของเทอร์เทิลทรีเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าใหม่ๆ อีกด้วย
ที่มา
-https://www.comstocksmag.com/web-only/startup-month-turtletree
-https://www.scmp.com/lifestyle/health-wellness/article/3196002/how-singapore-born-labs-cell-based-milk-alternative-could
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup