8 ข้อต้องรู้ ทำ Pitch Deck อย่างไรให้ได้ใจนักลงทุน
Pitch Deck เป็นหนึ่งในขั้นตอนสำคัญในการขอระดมทุนจากนักลงทุน เป็นการแสดงข้อมูลให้กับนักลงทุนได้เข้าใจ และตัดสินใจที่จะลงเงินทุน จึงได้สรุปข้อคิดต่างๆ ที่ต้องรู้ อะไรที่ควรทำ อะไรที่ควรหลีกเลี่ยงในการทำ Pitch Deck จาก TED Fund Talk ซึ่งมีกูรูผู้มากประสบการณ์ ได้แก่ เกริก ปทุมานันท์ Co-Founder Quest Edtech นิติ มุขยวงศา CMO Lean Innovation และ ชัชนาท จรัญวัฒนากิจ CEO SeekONE มาร่วมแชร์ประสบการณ์ ดังนี้
1. อย่ายึดตามรูปแบบมากเกินไป ต้องเข้าใจด้วยว่าบริบทคืออะไร
Startup มักไปหาข้อมูลต่างๆ จากอินเทอร์เน็ต ซึ่งข้อมูลนั้นอาจจะไม่สอดคล้องกับคอนเทนต์ของธุรกิจ ในฐานะคนฟังและเป็นกรรมการ หลักๆ แล้วสิ่งที่อยากรู้คือ ลอจิกในการคิดว่าธุรกิจนี้จะเติบโตไปได้อย่างไร ขนาดตลาดมีศักยภาพประมาณไหน
ดังนั้น จะต้องพยายามหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับตัวธุรกิจ แล้วพยายามเข้าใจจุดประสงค์ของสไลด์นั้นๆ ด้วย ไม่ใช่แค่ใส่ข้อมูลให้เต็ม แต่ละสไลด์จะต้องมีอิมแพ็กต์ ต้องมีพลังที่จะโน้มน้าวคนฟังด้วย
2. Startup เป็นคนเล่าเรื่องไม่ใช่ Pitch Deck เล่าเรื่อง
Pitch Deck ยิ่งน้อยยิ่งทำให้คนฟังจดจำได้ แต่ถ้า Pitch Deck ยิ่งยาวยิ่งน่าเบื่อ ถ้าเล่าแต่เรื่องของเทคโนโลยีนักลงทุนอาจจะเบื่อ คนฟังก็จะลืมว่าแท้จริงแล้วธุรกิจทำอะไร ดังนั้น ทุกสไลด์จะต้องมีอะไรที่เป็น Key Takeaway ที่จะสื่อออกไป ขณะที่ Demo นั้นไม่จำเป็นต้องยาวแค่ให้รู้เรื่องก็พอ เพราะอย่างไรก็ตาม Startup ก็จะต้องเป็นผู้เล่าเรื่องอยู่ดี
ทั้งนี้ มี Startup หลายคนที่ให้ Pitch Deck นำ แต่คนเป็นคนเล่าเรื่องไม่ใช่ Pitch Deck ดังนั้น ไม่ว่าเวทีไหน Startup ต้องเป็นคนนำเล่าเรื่องนั้น เพราะฉะนั้น Startup จึงควรโฟกัสที่สตอรี่คืออะไร แล้วให้สไลด์ตาม ซึ่งที่สุดแล้วเมื่อทำ Pitch Deck เสร็จแล้ว ลองส่ง Pitch Deck นั้นให้คนรู้จักช่วยดู ซึ่งถ้าพวกเขาเหล่านั้นเข้าใจเชื่อว่านักลงทุนก็จะเข้าใจ
3. Demo ไม่จำเป็นก็ได้
Startup บางรายพยายามเอา Demo มาโชว์ ซึ่งต้องยอมรับว่าส่วนใหญ่แล้วในการพัฒนาโปรดักต์นั้นจะยังไม่สมบูรณ์เท่าไหร่ ดังนั้น การเอา Demo มาโชว์โดยที่ยังไม่สมบูรณ์จึงมีความเสี่ยง ที่สำคัญมักจะเกิดเหตุการณ์ขัดข้องบนเวทีอยู่บ่อย ซึ่งตรงนี้จะยิ่งทำให้เสียเวลา เสียสมาธิ และทำให้ภาพลักษณ์ดูไม่ดีได้
4. ฝึกฝนเตรียมตัวจะทำให้เพิ่มโอกาสมากขึ้น
สิ่งสำคัญคือ การต้องหมั่นฝึกซ้อมและต้องระวังเรื่องเวลาด้วย บางครั้งการอธิบายอะไรยาวเหยียดก็จะเกินเวลาได้ สำหรับคนที่พูดไม่เก่งก็ควรเตรียมสคริปต์เอาไว้ล่วงหน้า บางครั้งนักลงทุนไม่รอให้พูดจบ เขาจะซักถามกลางคัน ดังนั้น คำแนะนำก็คือถ้าพูดไม่เก่งก็ยิ่งต้องซ้อมให้เยอะและเข้าใจธุรกิจให้ดี ซึ่งต้องยอมรับการจะเป็นผู้ประกอบการหรือเป็นผู้นำในองค์กร ทักษะการสื่อสารเป็นสิ่งจำเป็น ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารกับลูกค้า พนักงาน หรือพาร์ตเนอร์ ดังนั้น การใช้เวทีตรงนี้ฝึกฝน ค่อยๆ พัฒนาทักษะตัวเอง และลองไปทุกเวทีไม่ว่าเล็กหรือว่าใหญ่ ในประเทศหรือต่างประเทศ เชื่อว่าจะช่วยพัฒนาทักษะการสื่อสารได้ ไม่ว่าคุณจะเป็น Introvert หรือ Extrovert ก็ตาม
5. หา Mentor
แนะนำว่าถ้าจะให้สะดวกและง่ายขึ้น ลองมองหา Mentor ที่ใช่มาช่วยเป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำต่างๆ รวมถึงมาช่วยดูแล้วก็ฟัง ก็จะช่วยทำให้การทำงานนั้นง่ายขึ้น และมีความมั่นใจมากขึ้นด้วย
6. Pitch Deck คือเครื่องมือหนึ่งเท่านั้น
Pitch Deck คือ อุปกรณ์หรือเครื่องมือหนึ่งเท่านั้น ที่สำคัญคือ เราต้องเข้าใจตัวเราเองแล้วก็เข้าใจผู้ฟัง ก็จะทำให้สามารถร้อยเรียงเรื่องราวได้ตรงใจผู้ฟังและโดดเด่นมากขึ้น โดยควรจะเลือกชูประเด็นพิเศษขึ้นมาสักเรื่องว่า วันนี้กำลังพูดให้ใครฟัง เรื่องอะไร นอกจากนี้ เนื้อหาตั้งแต่ต้นจนจบควรสอดคล้องเป็นเนื้อหาเดียวกัน และอะไรที่ไม่เกี่ยวข้องไม่ใช่ข้อมูลที่จำเป็นก็ควรตัดออกไปจาก Pitch Deck
7. ต้องเข้าใจธุรกิจมากๆ
ต้องเข้าใจธุรกิจของตัวเองให้มากๆ ว่าปัญหาที่แท้จริงคืออะไร แล้วโซลูชั่นที่มีความน่าสนใจในลักษณะไหนบ้าง ปกติเรามักจะเริ่มต้นด้วยการค้นหาปัญหาให้ได้ กลุ่มลูกค้ามีความชัดเจนว่าเป็นใคร และ Value ของเราไปช่วยแก้ปัญหาได้อย่างไร ส่วนสไลด์นั้นเอาไว้ร้อยเรียงเพื่อสนับสนุนไอเดียให้ชัดเจนขึ้น
8. แต่ละเวทีแตกต่างกัน
การทำ Pitch Deck มีหลายรูปแบบ เช่น ถ้าอยู่บนเวทีก็อาจจะต้องทำให้ดูอลังการ มีเรื่องของจังหวะ เป็นการดึงดูดความสนใจนักลงทุนเพื่อให้ไปคุยต่อ ขณะเดียวกันเนื้อหาก็จะมีความแตกต่างกัน เช่น ถ้า Pitch Deck แบบไปคุยกับนักลงทุน อาจจะเตรียมเรื่อง Traction ทีม สถิติหลังบ้าน แต่ถ้าเป็น Pitch Deck คุยกับลูกค้า ก็อาจจะนำเรื่องปัญหาของลูกค้านั้นมาพูดคุย และนำเสนอว่าเราสามารถช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างไร
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup