บทเรียนจากสตาร์ทอัพ Mr Yum ทำเมนูดิจิทัลให้ผับบาร์คาเฟ่ ปังจนมีผู้ใช้งานกว่า 13 ล้านคนใน 3 ปี
Text : Vim Viva
ปฏิเสธไม่ได้ว่าในโลกของ Tech Startup โดยส่วนใหญ่มักถูกนำโดยผู้ประกอบการชาย ส่วนผู้ประกอบการหญิงแม้จะไม่โดดเด่นเท่าแต่ก็ใช่ว่าจะไม่มี วันนี้มีเรื่องราวของ Mr Yum ซึ่งเป็น Startup สัญชาติออสเตรเลียที่ริเริ่มโดย คิม เตียว ผู้ประกอบการสาวเชื้อสายเอเชีย
เมื่อเทียบออสเตรเลีย ในแง่ของจำนวน Startup อาจจะไม่เฟื่องฟูเหมือนกับสหรัฐฯ จีน และอินเดีย แต่ออสเตรเลียก็มี Tech Startup ระดับโลกอยู่เหมือนกัน เช่น AfterPay ผู้บุกเบิกโมเดลซื้อก่อนผ่อนทีหลังซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก และกลายเป็นแรงบันดาลใจให้คิม หญิงสาวผู้ปักหลักในนครเมลเบิร์นและเคยผ่านงานในบริษัทที่ปรึกษา บริษัทเพื่อลงทุน และคลุกคลีในวงการ Startup พอสมควรอยากเจริญรอยตาม
จุดเริ่มต้นไอเดียในการทำ Mr Yum เกี่ยวข้องกับการมองเห็นสิ่งต่างๆ ของคน โดยส่วนตัว เวลาไปร้านคาเฟ่ หรือร้านอาหาร แล้วดูเมนูแต่วาดภาพไม่ออกว่าจานที่สนใจหน้าตาแบบไหน คิมมักจะมองหาภาพจากกูเกิล หรืออินสตาแกรม หรือไม่ก็มองดูว่าโต๊ะอื่นสั่งอะไร น่ารับประทานแค่ไหน
“ด้วยเหตุนี้ เราจึงคิดเรื่องการออกแบบเมนูอาหารว่าจะทำให้น่าสนใจ ใช้งานง่ายได้อย่างไร” คิมบอกเล่า ซึ่งคำตอบของเธอคือ การเปลี่ยนเมนูที่มีแต่ตัวอักษรให้เป็นภาพจะต้องมี QR Code เข้ามาเกี่ยวข้อง และแทนที่จะพัฒนาแอปพลิเคชันใหม่ Startup อาจทำในสิ่งที่ตรงข้ามกับกระแส
QR (Quick Reader) Code เป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นช่วงกลางทศวรรษ 1990 โดยบริษัทญี่ปุ่นแห่งหนึ่ง แต่การใช้งานไม่หวือหวานัก กระทั่งช่วงหลังมีการพัฒนากล้องในสมาร์ทโฟนทั้งแอนดรอยด์ และไอโอเอสให้สามารถสแกน QR Code ได้โดยไม่ต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน ทำให้การใช้เทคโนโลยีนี้กลับมาได้รับความนิยมและแพร่หลายมากขึ้น
ปลายปี 2561 คิมและหุ้นส่วนอีก 3 คน ได้แก่ เอเดรียน อังเดร และ เคอร์รี่ ก็ตั้ง Mr Yum ขึ้นมา เป็น Startup ที่ให้บริการจัดทำเมนูดิจิทัลให้กับผับ บาร์ คาเฟ่ และร้านอาหาร โดย Mr Yum จะช่วยออกแบบเมนูที่มี QR Code กำกับบนอาหารแต่ละอย่าง เมื่อลูกค้าไปใช้บริการในร้าน และสแกนเข้าไป จะปรากฏภาพและข้อมูลจำเพาะของอาหารนั้นๆ ลูกค้าสามารถเปิดกล้องในมือถือเพื่อสแกนสั่งอาหารได้โดยไม่ต้องรอพนักงานมารับออร์เดอร์
หลังได้ฤกษ์เปิดบริการโดยเน้นพื้นที่เมืองใหญ่อย่าง เมลเบิร์น และซิดนีย์ แม้ในช่วงแรกจะมีบ้างที่ลูกค้าซึ่งเป็นเจ้าของร้านอาหารจะลังเลและมองว่า QR Code ในเมนูอาหารเป็นสิ่งไม่จำเป็น หรือบางรายก็คิดว่าการที่ลูกค้าสแกนสั่งอาหารเองทั้งที่มาใช้บริการที่ร้าน อาจทำให้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างลูกค้ากับพนักงานลดลงก็เป็นได้
แต่คิมผู้นั่งเก้าอี้ซีอีโอมองว่าเป็นการแบ่งเบาภาระพนักงาน และทำให้การบริการรวดเร็วขึ้น เธอและทีมงานจึงมุ่งมั่นเดินหน้ากับธุรกิจนี้ จนฐานลูกค้าเริ่มขยายมากขึ้น ทุกอย่างดูเหมือนจะกำลังไปได้ดี ช่วงปี 2562 ถึงกลางปี 2563 ธุรกิจเติบโตแบบก้าวกระโดด แต่บริการยังเน้นที่ลูกค้ามาใช้บริการในร้านแบบ 100 เปอร์เซ็นต์
กระทั่งเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในขณะที่ธุรกิจต่างๆ ได้รับผลกระทบ คิมกล่าวว่าวิกฤตโควิดเป็นเหมือนปฏิกิริยาเร่งให้ Mr Yum ต้องปรับตัวและหาหนทางอยู่รอดเนื่องจากมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม ทำให้ผู้คนไม่สามารถรับประทานอาหารที่ร้านได้ โชคดีที่มีเม็ดเงินจากนักลงทุนไหลเข้ามาก้อนแรก 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ทีม Mr Yum เร่งพัฒนาแพลตฟอร์มใหม่ ใช้เวลาเพียง 9 วัน และทำงานแบบหามรุ่งหามค่ำ 24 ชั่วโมงจนสามารถทำระบบเมนูบนเว็บไซต์ที่เอื้อให้ลูกค้าร้านอาหารสามารถสั่งอาหารและชำระค่าอาหารโดยการสแกน QR Code โดยลูกค้าสามารถเลือกว่าจะรับอาหารเองที่ร้าน หรือใช้บริการดิลิเวอรีก็ได้
ช่วงระยะเวลาไม่ถึง 2 ปีของการก่อตั้งบริษัท Mr Yum ได้เติบโตจากพนักงาน 12 คนก็เพิ่มมาเป็นกว่า 100 คน และเริ่มขยายบริการไปยังเมืองอื่นในออสเตรเลีย คิมกล่าวว่าร้านอาหารที่ใช้แพลตฟอร์ม Mr Yum พบว่าลูกค้าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 20-40 เปอร์เซ็นต์ นอกจากรายได้ของร้านอาหารจะเพิ่มขึ้น รายได้ของ Mr Yum ที่มาจากการหักคอมมิสชันในแต่ละคำสั่งซื้อก็เพิ่มตามไปด้วย อย่างไรก็ดี Mr Yum จะหักค่าธรรมเนียมน้อยกว่าเมื่อเทียบกับแพลตฟอร์มอื่น เช่น อูเบอร์อีท หรือเดลิเวอรู
จนช่วงเมษายน ปี 2564 Mr Yum ได้รับเงินลงทุนก้อนที่ 2 อีก 11 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้สามารถรุกตลาดนอกประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ และอังกฤษ และจากที่จับกลุ่มร้านอาหารก็ผลักดันให้แพลตฟอร์มของ Mr Yum ได้ใช้ในสนามบิน สนามกีฬา และศูนย์การค้าอีกด้วย ล่าสุดเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 Mr Yum สามารถระดมทุนจำนวน 89 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นก้อนใหญ่อันดับ 3 รอบซีรีส์ A ในบรรดา Startup ออสเตรเลีย และเป็นก้อนใหญ่สุดในกลุ่ม Startup ที่นำโดยผู้หญิง
ซีอีโอคิมกล่าวทิ้งท้ายว่า การระบาดของโควิดที่กลายเป็นวิกฤตของหลายธุรกิจ แต่สำหรับ Mr Yum กลับเป็นแรงกระตุ้นให้บริษัทปรับตัว หากเป็นเวลาปกติ Mr Yum อาจใช้เวลานานถึง 5 ปีในการค่อยๆ พัฒนาบริการ แต่เมื่อสถานการณ์บีบบังคับ เลยทำให้ Startup ที่เพิ่งก่อตั้งได้เพียง 3 ปีได้แสดงศักยภาพ ทำให้นักลงทุนไว้ใจ หว่านเม็ดเงินให้บริษัทได้ต่อยอดธุรกิจ ปัจจุบัน Mr Yum ให้บริการในออสเตรเลีย สหรัฐฯ อังกฤษ แอฟริกาใต้ และฟิลิปปินส์ มีพันธมิตรที่เป็นร้านค้าเข้าร่วม 1,500 กว่าแห่ง และมีผู้ใช้งานกว่า 13 ล้านคน
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup