Tech Startup

อาหารขยะล้น! UglyFood สตาร์ทอัพขายผักผลไม้มีตำหนิ รับเทรนด์บริโภคยั่งยืน

 

Text : Vim viva 

 

     เรียกได้ว่าวิญญาณของผู้ประกอบการเข้าสิงออกัสติน ตัน หนุ่มสิงคโปร์วัย 27 ปีตั้งแต่เขาเริ่มบบรลุนิติภาวะ เขาเคยลองมาแล้วหลายอย่าง ทั้งขายไอศกรีม ขายน้ำผลไม้ และชาผลไม้ แต่แรงบันดาลใจที่ทำให้ลงเอยกับธุรกิจ

 

 

     "UglyFood" ร้านจำหน่ายผักผลไม้ออนไลน์มาจากตอนเป็นนักศึกษาที่ SUTD (University of Singapore School of Design and Technology) เมื่อ 5 ปีก่อน เขาไปซื้อผลไม้ที่ร้านและพบว่าผลไม้ที่ไม่สวยหรือมีตำหนิแม้เพียงเล็กน้อย ทางร้านก็จะนำมาลดราคาถูกมาก

     ประสบการณ์จากการซื้อผลไม้ครั้งนั้นทำให้ออกัสตินบริโภคอย่างมีสติมากขึ้นเพื่อลดขยะจากอาหาร และเมื่อต้องทำโครงงานส่งในวิชาหนึ่งซึ่งทำให้มีโอกาสได้พูดคุยกับพนักงานในซูเปอร์มาร์เก็ต เกษตรกรท้องถิ่น และพ่อค้าแม่ค้าแผงลอยในตลาดสด ยิ่งได้คุยกับคนขายมากเท่าไรก็ยิ่งตระหนักว่าผักผลไม้ที่มีตำหนิจะขายยากเนื่องจากลูกค้าปฏิเสธไม่ซื้อ ไอเดียในการทำธุรกิจเกี่ยวกับผักผลไม้ที่ไม่สมบูรณ์แบบจึงเกิดขึ้นในใจ แต่ยังไม่มีโอกาสลงมือทำ

 

 

     กระทั่งปี 2021 ออกัสตินมีความพร้อมจึงได้รวบรวมทีมงานเพื่อทำธุรกิจอี-คอมเมิร์ซโดยเปิดร้าน UglyFood จำหน่ายผักผลไม้ทางออนไลน์ และผ่านเว็บไซต์ เป้าหมายและภารกิจที่ตั้งไว้คือการกำจัดขยะจากอาหาร และยืดระบบนิเวศน์ทางอาหารโดยเน้นสินค้าที่เป็นผักผลมีตำหนิ ผิดรูปร่าง ไม่สวยงามได้มาตรฐาน รวมถึงผักผลไม้ที่ผลิตออกมามากจนเหลือขาย หรือผักผลไม้ที่มาจากแหล่งผลิตที่ยั่งยืน   

     แม้ธุรกิจจำหน่ายผักผลไม้จะเป็นตลาดที่ค่อนข้างอิ่มตัวในสิงคโปร์เนื่องจากมีผู้ประกอบการรายย่อยจำนวนมาก แต่ก็ยังมีพื้นที่ให้ UglyFood แทรกเข้าไปเนื่องจากผู้บริโภคสิงคโปร์จำนวนมากขึ้นที่เริ่มตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมและให้ความสนใจในอาหารที่บริโภคโดยหันมาอุดหนุนผลิตผลทางการเกษตรที่ปลูกแบบยั่งยืน ส่งผลให้สินค้าของ UglyFood ได้รับการยอมรับ ธุรกิจจึงดำเนินต่อไปได้อีกทั้งยังเติบโตขึ้นจนต้องเพิ่มทีมงานเข้ามาร่วมทำงาน  

 

 

     ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สิงคโปร์ให้ความสนใจประเด็นความยั่งยืนทางอาหารมากยิ่งขึ้นเนื่องจากช่วงเกิดวิกฤติโควิด-19 มีการปิดพรมแดนระหว่างประเทศ จึงกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารเพราะสิงคโปร์พึ่งพาการนำเข้าอาหารจากต่างประเทศจำนวนมาก สิ่งที่เกิดขึ้นนำไปสู่เทรนด์การบริโภคอย่างมีสติในหมู่ประชาชน ข้อมูลระบุ ปี 2020 สิงคโปร์มีขยะจากอาหารปริมาณ 665,000 ตันซึ่งลดลง 11 เปอร์เซนต์เมื่อเทียบกับ 5 ปีก่อน

     “ประชาชนเริ่มตระหนักถึงปัญหาขยะอาหารมากขึ้นและพยายามร่วมกันลดปริมาณขยะประเภทนี้ อย่างธุรกิจของ UglyFood เองก็ลดขยะอาหารลงได้ประมาณ 50 ตันในปี 2021 อาจมีลูกค้าบางกลุ่มที่ไม่ได้สนใจอะไรแบบนี้ ยังคงเลือกซื้อผักผลไม้ที่สวยงามไม่มีที่ติ แต่ก็เป็นส่วนน้อย และอาจต้องใช้เวลาระยะหนึ่งกว่าจะเปลี่ยนความคิดได้ แต่ลูกค้าส่วนใหญ่จะไม่รังเกียจและอุดหนุนผักผลไม้ที่กินได้ในราคาที่ถูกกว่า” ออกัสตินกล่าว

 

 

     นอกจากทำแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซ UglyFood ยังออกแบบ “เว็บตูน” ซึ่งเป็นแพลทฟอร์มการ์ตูนดิจิทัลเพื่อทำคอนเทนต์ให้ความรู้เกี่ยวกับการซื้อผักผลไม้ รวมถึงสินค้าที่ UglyFood จำหน่ายโดยหวังว่าจะช่วยเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคให้หันมาซื้อผักผลไม้ไม่สวยงามแต่กินได้มากขึ้น ออกัสตินเผยว่าผักผลไม้ที่สรรหามาขายมาจากแหล่งผลิตในประเทศเป็นส่วนใหญ่จึงทำให้สามารถลดราคาได้มาก โดยลดถึง 60 เปอร์เซนต์จากราคาขายทั่วไปก็มี

     กลยุทธ์อย่างหนึ่งที่ UglyFood ใช้ในการระบายสินค้าคือการทำกล่องสุ่มผักผลไม้คละ ๆ กัน และขายถูกลง 25 เปอร์เซนต์เมื่อเทียบกับการเลือกซื้อทีละอย่าง ผลตอบรับเรียกว่าดีทีเดียว อย่างช่วงเทศกาลตรุษจีนที่ผ่านมา ห้างร้านต่าง ๆ สั่งซื้อกล่องสุ่มผักผลไม้เพื่อแจกพนักงานก็มาก ออกัสตินย้ำว่าสินค้าของ UglyFood ไม่แตกต่างจากที่วางขายตามร้านทั่วไปเพียงแค่ไม่ได้มีรูปลักษณ์สวยงาม ซึ่งก่อนวางขายจะมีทีมงานคัดกรองคุณภาพอีกครั้งว่าสามารถบริโภคได้ และหากลูกค้าซื้อไปแล้วไม่พอใจก็สามารถคืนสินค้าได้ โดยมากไม่ค่อยมีลูกค้าคืนสินค้าสักเท่าไร ยกเว้นบางรายการเช่น สตรอเบอรี่ หรือลูกพีชสดที่อาจเน่าเสียระหว่างจัดส่ง ซึ่งทาง UglyFood ก็จะจัดส่งให้ใหม่หรือไม่ก็คืนเงินให้

 

 

     ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมการบริโภคแบบยั่งยืนในสิงคโปร์ ออกัสตินเชื่อว่านโยบาย 30x30 ของรัฐบาลกำลังเริ่มเป็นรูปร่าง ประชาชนเริ่มเรียนรู้เกี่ยวกับนโยบายดังกล่าวซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงทางอาหารโดยรัฐบาลมีเป้าหมายผลิตอาหารในประเทศให้ได้ 30% ของความต้องการของผู้บริโภคในประเทศภายใน2030

     UglyFood เองก็กำลังอยู่ระหว่างระดมทุนเพื่อหาผู้สนับสนุนให้ธุรกิจเติบโตและขยายใหญ่ขึ้น สำหรับผู้บริโภคที่ไม่ได้เป็นลูกค้าของ UglyFood ก็สามารถส่งเสริมเทรนด์การลดขยะจากอาหารด้วยการมีส่วนในโครงการ “ธนาคารอาหาร” ที่ UglyFood จัดขึ้นเพื่อแบ่งปันผักผลไม้ อาหารและเครื่องดื่มให้แก่ครอบครัวยากไร้ โครงการนี้ UglyFood ได้รับความร่วมมือจากบริษัทผู้ผลิตอาหารหลายรายในการมอบบัตรกำนัลส่วนลดในการซื้อสินค้าแบรนด์ต่าง ๆ ให้แก่ลูกค้าที่บริจาคให้โครงการธนาคารอาหารนี้ 

 

ข้อมูล

https://news-primer.com/this-27-year-old-sporean-grocery-startup-sells-ugly-produce-for-up-to-60-off/

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup