ถอดรหัสทีมแบบไหนที่ทำให้ Startup ไทยโตไม่ได้ไปไม่รอด
ความท้าทายหนึ่งของการทำธุรกิจสตาร์ทอัพให้ประสบความสำเร็จ คือการสร้างทีม เพราะในช่วงเริ่มต้นจะมีเพียงกลุ่มผู้ก่อตั้ง หรือ Co-founders เท่านั้นที่ช่วยกันทำทุกสิ่งทุกอย่าง ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อสตาร์ทอัพเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและนวัตกรรม ธุรกิจนี้จึงต้องมีส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างธุรกิจและเทคโนโลยี
ดร.ชาญวิทย์ ตรีเดช ผู้จัดการกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund) เชื่อว่าการสร้างทีมสตาร์ทอัพมีความสำคัญมากนอกจากจะทำให้สามารถทำงานด้วยกันราบรื่นแล้วยังทำให้เป้าหมายประสบความสำเร็จด้วย
“ทีมสำหรับสตาร์ทอัพ จะต้องมีองค์ประกอบที่เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน เพราะธุรกิจสตาร์ทอัพ เป็นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการทำธุรกิจ ถ้ามองง่ายๆ องค์ประกอบของทีมจึงควรมีทั้งคนที่มีความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีและนวัตกรรม สามารถนำนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีมาช่วยแก้ปัญหาให้กับลูกค้าได้ แต่สิ่งที่มีนวัตกรรมนั้นไม่ได้หมายความว่าจะขายได้ทุกอย่าง ดังนั้น จึงต้องมีคนที่มีความรู้ความเข้าใจในการทำธุรกิจมาร่วมอยู่ในทีมด้วย เพราะจะช่วยมองว่าอะไรที่ขายได้อะไรที่ขายไม่ได้ และจะทำธุรกิจอย่างไรให้เกิดผลกำไรและมีความยั่งยืนได้”
ดร.ชาญวิทย์ ฉายภาพจุดเริ่มต้นของการสร้างทีมที่เป็นหัวใจของการเริ่มต้นธุรกิจสตาร์ทอัพว่าต้องผสมผสานฝั่งนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีและฝั่งธุรกิจให้ลงตัว ซึ่งจากประสบการณ์การสร้างทีมสตาร์ทอัพ มักจะมีปัญหาที่เกิดในช่วงการเริ่มต้น 2 ประการคือ
ประการแรก การสร้างทีมกับเพื่อนที่เติบโตหรือเรียนมาด้วยกัน ซึ่งความเป็นเพื่อนอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ เพราะเพื่อนอาจจะไม่ได้เก่งหรือมีความถนัดในสิ่งที่เราต้องการ ดังนั้นถ้าในความเป็นเพื่อนคุยกันได้แล้วมิตรภาพยังดีอยู่เมื่อรู้ว่าทีมขาดสิ่งใดก็ควรไปดึงคนที่มีความสามารถด้านนั้นเข้ามาเสริม ก็จะทำให้ต่อยอดไปสู่ความสำเร็จได้ แต่ถ้าเพื่อนไม่ยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างกันก็จะทำให้ทีมแตกพ่ายได้ตั้งแต่แรก
ประการที่สอง การสร้างทีมที่เกิดขึ้นจากการทำ Senior Project มาด้วยกัน ซึ่งจะเห็นปัญหาชัดเจนคือทั้งคู่จะมีทักษะด้านเดียวกัน เช่น มีความเก่งในสายโปรแกรมเมอร์ ทำให้ขาดทักษะความเข้าใจและเข้าถึงลูกค้า ในทางตรงข้ามถ้าเป็นการรวมทีมจากฝั่งคณะบริหารธุรกิจก็จะมีแต่ไอเดีย แต่ขาดคนที่จะมาพัฒนาเทคโนโลยี สุดท้ายหนีไม่พ้นที่หันไปพึ่ง Software House ซึ่งในระยะยาวแล้วจะไม่มีความมั่นคงต่อธุรกิจของทีม
“ความยากในการสร้างทีมอยู่ที่จุดเริ่มต้น ถ้าเริ่มด้วยความเป็นเพื่อนก็ต้องไปหาความเชี่ยวชาญที่ขาดเข้าไปเพิ่มเติม แล้วตกลงผลประโยชน์ให้ชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้น นอกจากนี้ แต่ละคนมาจากพื้นฐานทางครอบครัวและสังคมที่แตกต่างกัน เช่น บางคนมาจากครอบครัวนักธุรกิจก็จะคุ้นเคยกับความเสี่ยงเป็นอย่างดี ขณะที่บางคนมาจากครอบครัวข้าราชการ ที่ไม่อยากเสี่ยงอะไรมากมาย เหล่านี้ก็ทำให้รูปแบบในการทำธุรกิจและวิธีการไม่เหมือนกัน
อย่างไรก็ตาม ในระยะแรกของสตาร์ทอัพ จะมีเพียงกลุ่มผู้ก่อตั้งที่ช่วยกันทำทุกอย่าง จนเมื่อธุรกิจเริ่มตั้งไข่ก็จะต้องมีองค์ประกอบอื่นๆ ที่จำเป็นตามมาเพื่อรองรับการเติบโตนั้น เช่น กฎหมาย การตลาด ทรัพยากรมนุษย์ ฯลฯ ทำให้ทีมขยายใหญ่ขึ้นถึงตอนนั้นการบริหารทีมก็จะมีความยากในอีกระดับ
การทำสตาร์ทอัพเริ่มต้นจากคนไม่กี่คน ดังนั้น นอกจากความสามารถ ความพยายาม และอดทนแล้วจะต้องมีความคิดมีเป้าหมายในแนวทางเดียวเพื่อนำธุรกิจให้เติบโตได้ในอนาคต
ขอบคุณข้อมูลจาก Ted Fund/ภาพ จาก Ted Fund
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup