Tech Startup

จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา จากเด็กเกเรสู่ยูนิคอร์นตัวใหม่ของไทย หลัง SCBX ซื้อหุ้น Bitkub 17,850 ล้าน

 

     จากกรณีกลุ่มเอสซีบี เอกซ์ ประกาศเข้าลงทุนใน Bitkub Online ด้วยการเข้าซื้อหุ้นสามัญในสัดส่วน 51% คิดเป็นมูลค่ารวม 17,850 ล้านบาท ผ่านบริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด  (SCBS)  ความสำคัญของดีลนี้ไม่เพียงสร้างความฮือฮาให้กับคนในวงการบิตคอยน์เท่านั้น ยังส่งผลให้ Bitkub ก้าวขึ้นสู่สถานะยูนิคอร์น หรือธุรกิจ Startup ที่มีมูลค่าบริษัทมากกว่า 1 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐของไทยอีกด้วย
 
     SME Startup จึงอยากจะพาคุณไปรู้จักเส้นทางของ ท็อป-จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้ง และ CEO ของ Bitkub ที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ หากแต่เต็มไปด้วยปัญหาอุปสรรคนานัปการกว่าจะมีวันนี้  เพียงแต่ “ผมโชคดีมากที่ได้เห็นอีกมุมหนึ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่เห็น” จึงทำให้เขาเลือกเข้าสู่ธุรกิจ Digital Currency และประสบความสำเร็จในวันนี้


จากเด็กเกเรสู่ผู้ก่อตั้ง Bitkub

     “ผมไม่ใช่เด็กที่เรียนเก่ง เป็นเด็กที่เกเรมาก จนถูกส่งไปเรียนที่นิวซีแลนด์เพื่อไปดัดนิสัย แต่มีจุดเปลี่ยนตอนสมัครเข้ามหาวิทยาลัย ผมเข้ามหาวิทยาลัยไทยไม่ได้เลย แต่สมัครมหาวิทยาลัยอังกฤษด้วยซึ่งเลือกได้ 5 มหาวิทยาลัยเท่านั้น ถ้า 5 มหาวิทยาลัยนี้ปฏิเสธก็ไม่มีที่เรียน ฉะนั้นต้องเลือกอย่าสูงเกินไปหรือต่ำเกินไป และโชคดีที่ University of  Manchester รับพอดี ก็เลยสัญญากับตัวเองว่าจะตั้งใจเรียน พอเปิดเรียนวันแรกเป็นครั้งแรกในชีวิตที่เดินเข้าห้องสมุด ทุกคริสต์มาส ทุกซัมเมอร์ที่ทุกคนกลับบ้าน ผมเป็นคนเดียวที่เข้าห้องสมุดทุกวันไม่ได้พักเลยตลอด 4 ปี สุดท้ายจบมาได้ที่ 1 ของมหาวิทยาลัย ที่นี่พอจะต่อปริญญาโททั้ง Oxford, Cambridge และ LSE รับหมดเลยกลายเป็นว่าผมเป็นฝ่ายเลือกมหาวิทยาลัยจากเมื่อก่อนที่มหาวิทยาลัยเป็นฝ่ายเลือกผม ซึ่งผมก็เลือกเรียนต่อที่ Oxford  

     "ส่วนตัวผมชอบเศรษฐศาสตร์ เรียนจบปริญญาโทเศรษฐศาสตร์ ก็เหมือนเด็กจบใหม่ทั่วไปที่ถูกหล่อหลอมมาว่าต้องไปทำงานด้าน Investment Banking ดังนั้น พอเรียนจบก็ไปสมัครงานกับสถาบันการเงินที่เซี่ยงไฮ้ ทีนี้ทำไปเดือนสองเดือนรู้สึกว่า ไม่ชอบการทำงานที่อยู่ในกรอบเลยลาออก แต่ช่วงที่ทำงานปี 2556 ไปอ่านเจอบทความ Why Bitcoin Matters ของ มาร์ก แอนเดอร์สัน เป็นบทความที่เปลี่ยนชีวิตของผมเลย เขาอธิบายว่าบิตคอยน์จะมาเปลี่ยนแปลงโลกอย่างไรบ้าง ซึ่งในตอนนั้นกว่า 10 ปีแล้ว คนไทยยังไม่เข้าใจว่าบิตคอยน์คืออะไรเลย แต่ผมโชคดีมากที่ได้เห็นอีกมุมหนึ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่เห็น  

    "จากนั้นมีโอกาสไปช่วยทำโปรเจกต์เล็กๆ กับเพื่อนที่ฟิลิปปินส์ชื่อ World Startup Report หน้าที่คือทำรีเซิร์ชในเมืองไทยว่า Startup มีอะไรบ้าง ก็เลยทำให้รู้ว่าตอนนั้น Startup ในเมืองไทยมีน้อยมาก และไม่มีใครทำเกี่ยวกับบิตคอยน์เลย ทำไปสักพักเพื่อนที่ฟิลิปปินส์ก็แนะนำให้รู้จักกับเพื่อนอีก 2 คนที่มาจากซิลิคอน วัลเลย์ ก็คุยกันถูกคอมากเป็นคนกลุ่มน้อยที่เชื่อมั่นเหมือนกันว่าบิตคอยน์จะมาเปลี่ยนแปลงโลก 



     

     "พอกลับมาเมืองไทย คุณพ่อคุณแม่ตกใจ เพราะบอกว่าจะมาเปิดบริษัทของตัวเองจะมาทำบิตคอยน์ ก็อีเมลไปคุยกับเพื่อนที่ฟิลิปปินส์มาเปิดบริษัทบิตคอยน์กันดีกว่า เขาบอกได้บินไปเริ่มเปิดบริษัทที่ฟิลิปปินส์ ชื่อ coins.ph จากนั้นก็กลับมาเปิดบริษัทในไทยชื่อ coins.co.th จำได้เด็กจบใหม่ไม่มีทุน มาเมืองไทยเริ่มออฟฟิศแรกคือ ชั้นลอยของที่บ้าน มีคอมพิวเตอร์เครื่องเดียว นั่งทำอะไรคนเดียวทั้งวัน ตอนนั้นคุณพ่อคุณแม่กลุ้มใจมาก แถมได้ยินว่าบิตคอยน์เป็นแชร์ลูกโซ่ไปอีก"  

 
ฝ่าสารพัดปัญหากว่าจะมาเป็นเศรษฐีดิจิทัลหมื่นล้าน

     "ความยากของการทำบิตคอยน์คือต้องทำให้คนเข้าใจ ต้องให้ความรู้คน ช่วงที่ผ่านมาผมไปพูดตามที่ต่างๆ ถึง 500 เวทีเพราะอยากให้คนเข้าใจว่า บิตคอยน์คืออะไร เราเป็นคนกลุ่มหนึ่งที่เข้าถึงบิตคอยน์ในขณะที่คนส่วนใหญ่เข้าไม่ถึง ทำให้มีโอกาสมหาศาล ดังนั้น ผู้ประกอบการควรจะทำในสิ่งที่คนส่วนน้อยเห็นความเป็นจริง ขณะที่คนส่วนใหญ่ไม่เห็น และถ้าวิชั่นของคุณตรงกับคนส่วนใหญ่ คุณห้ามทำธุรกิจนั้นเด็ดขาด

     "ช่วงที่ผมทำบิตคอยน์ ผ่านวิกฤตมาเยอะมาก ตอนนั้นเด็กมากอายุ 23 ปี พอจะเริ่มจ้างพนักงานเขามาเห็นออฟฟิศเป็นชั้นลอยที่บ้าน ทำอะไรก็ไม่รู้ จ้างใครก็ไม่มีใครมา สุดท้ายต้องจ้างญาติตัวเอง 2 คน มานั่งทำงานด้วยกัน แล้วก็จ้างเพื่อนของเพื่อนที่พอเชื่อใจกันได้ ทำไปสักพักแบงก์ชาติออกจดหมายบอกว่า บิตคอยน์อาจจะเป็นแชร์ลูกโซ่ มูลค่าอาจสูญได้ อย่าเข้าไปยุ่ง ตอนนั้นพ่อแม่เครียดมาก  

     "พอบริษัทเริ่มโตมีพนักงาน 7-8 คน ก็ย้ายออฟฟิศออกจากบ้านไปอยู่ Co-Working Space ช่วงนั้น สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ส่งจดหมายมาบอกบริษัทฟอกเงินซื้อ-ขายยาหรือเปล่า พ่อแม่ก็เครียดมากอีก บอกให้ปิดบริษัทไปเลย ตอนนั้นก็เป็นช่วงที่เครียดที่สุดในชีวิต พนักงานลาออกหลายคนเพราะไม่มีความเชื่อมั่น ผมก็ต้องไป ปปง.อธิบายให้ฟังว่า บิตคอยน์คืออะไร เรากำลังทำอะไรอยู่

     "ทำไปสักพักมีพนักงานเพิ่มขึ้น 20-30 คนก็ย้ายมาออฟฟิศอีกครั้ง คราวนี้สรรพากรมาตรวจสอบ ผมต้องไปให้ความรู้พูดให้สรรพากรฟัง จำได้ว่าไปหลายรอบมาก ตอนช่วงนั้นกลับบ้านตี 3 ตี 4 เป็นเดือน แล้วก็โดนแบงก์ชาติเรียกไปว่าทำอะไร ก็ไปอธิบายให้ฟังหลายครั้ง

     "สุดท้ายวันที่ 1 เมษายน 2560 ประเทศญี่ปุ่นออกมาประกาศว่า บิตคอยน์ถูกต้องตามกฎหมาย ทุกคนได้เห็นความจริง สุดท้ายความรู้ความเข้าใจต่างๆ ก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทรานแซกชั่นเยอะขึ้นเรื่อยๆ คนที่เข้ามาวงการนี้ก็เยอะขึ้นเรื่อยๆ จากตอนนั้นมีไม่กี่บริษัทที่ทำ ตอนนี้เยอะมากทั้งโลกน่าจะมีเกือบ 20,000 บริษัทแล้ว




 

     "พออยู่ในวงการมา 3-4 ปี เห็นโอกาสใหม่ เลยตั้งทีม Private Chane เข้าแข่งขัน FinTech Challenge ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยทีมของเราสร้างตลาดหลักทรัพย์ 2.0 ขึ้นมา สามารถซื้อ-ขายหุ้นได้โดยที่ไม่ต้องมีโบรกเกอร์ ตอนนั้นจำได้ ก.ล.ต.กับตลาดหลักทรัพย์ตื่นเต้นกันมาก พอชนะเลิศมา ก็เริ่มทำงานกับ ก.ล.ต. ซึ่ง ก.ล.ต.เขาคงเห็นว่าคนที่ชนะเลิศได้ที่ 1 ในโปรแกรมของเขาไม่สามารถเปิดบริษัทจริงๆ ได้เพราะติดกฎหมาย เลยแก้กฎหมายสร้างเป็นแซนด์บ็อกซ์ขึ้นมา ปี 2560 เป็นช่วง Cryptocurrency บูมมาก ทุกคนเริ่มรู้จัก สุดท้ายออกเป็นกฎหมาย Digital Asset Exchange ผมเลยเปิด Bitkub สร้างตลาดหลักทรัพย์ใหม่ แล้วมีการระดมทุนในรอบ Seed ที่มากที่สุดในวงการ Startup ไทย

     "Bitkub เป็นการซื้อ-ขายสินทรัพย์ดิจิทัล เหมือนหุ้นซื้อ-ขายทรัพย์สินได้ แต่เป็นทรัพย์สินดิจิทัล ตลาดเราแค่มีมือถือต่ออินเทอร์เน็ตก็เป็นลูกค้าได้แล้ว"
 

บล็อกเชนจะเปลี่ยนแปลงโลกอย่างไรบ้าง

     "อิมแพ็กต์ของบล็อกเชนไม่ต่างอะไรจากอินเทอร์เน็ต  โลกก่อนมีอินเทอร์เน็ต มีข้อเสียตรงที่ว่าทุกทรานแซกชั่นที่เราแชร์ข้อมูลมีค่าใช้จ่าย เป็นระบบปิดแต่ละคนมีระบบของตัวเอง คุยคนละภาษา วิทยุคุยกับโทรทัศน์คุยกับหนังสือพิมพ์มีค่าแปลภาษา ไม่สามารถทำงานได้ 24 ชั่วโมง 7 วันต่อสัปดาห์ ซึ่งไม่มีประสิทธิภาพเลย พอมีอินเทอร์เน็ตทำให้มีแอปฯ เฟซบุ๊ก ไลน์ ยูทูบ ทำให้ทุกวันนี้เราสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูล แชร์ข่าวสารต่างๆ ได้ 24 ชั่วโมง 7 วันต่อสัปดาห์ ไม่มีค่าใช้จ่าย ไฟล์ที่อยู่บนเฟซบุ๊กอัพโหลดลงไลน์ ยูทูบ ทวิตเตอร์ คนละเจ้าของก็จริงแต่พูดภาษาเดียวกัน มันมีประสิทธิภาพมากขึ้น ผลก็คือไม่จำเป็นต้องพึ่งพาตัวกลางที่เรียกว่าบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ทำให้ตัวกลางค่อยๆ ละลายหายไป ฉะนั้นมันเลยมา Disrupt การแลกเปลี่ยนข้อมูลทุกชนิด

     "ส่วนการมาของบล็อกเชน มีข้อแตกต่างคือ มันทำให้เราแลกเปลี่ยนทุกอย่างที่เป็นมูลค่าได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาตัวกลางอีกต่อไป วงการการแชร์มูลค่ากำลังเดินตามหลังวงการการแชร์ข้อมูลเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา ลองสังเกตแต่ละแบงก์จะมีระบบของตัวเองเป็นระบบปิด เวลาจะโอนเงินข้ามแบงก์ต้องมีค่าแปลภาษา ซื้อ-ขายหุ้นก็ต้องมีค่าใช้จ่ายให้กับโบรกเกอร์ จะโอนมูลค่าหนึ่งครั้งก็ต้องมีค่าใช้จ่ายให้กับตัวกลาง ซึ่งทำให้การแชร์มูลค่าไม่มีประสิทธิภาพเลย แต่เมื่อบล็อกเชนมาอิมแพ็กต์จะคล้ายๆ กับอินเทอร์เน็ต ตรงที่ว่าในอนาคตเราสามารถที่จะอัพโหลดมูลค่าทุกชนิด ทำให้เราสามารถแลกเปลี่ยนมูลค่าได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาตัวกลางอีกต่อไป ซึ่งจะทำให้การแลกเปลี่ยนมูลค่ามีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถโอนระหว่าง Peer to Peer ได้เลย 24 ชั่วโมง 7 วันต่อสัปดาห์ ไม่มีค่าใช้จ่ายอีกต่อไป แล้วพูดภาษาเดียวกันทั่วโลก โกงกันไม่ได้"

 
     แม้การปิดดีลกว่า 17,800 ล้านบาทของ BITKUB กับ SCBX จะถือเป็นความสำเร็จอีกขั้นหนึ่งของจิรายุส แต่กว่าจะมีวันนี้ก็ต้องแลกมาด้วยความเหนื่อยยากแสนสาหัส เพราะการเลือกเข้าสู่ธุรกิจ Digital Currency ที่เป็นเรื่องใหม่ในเวลานั้น ทำให้เขาต้องฝ่าแรงกดดัน และกระแสธุรกิจที่ถูกมองด้านลบ จนทำให้เกือบถอดใจยกธงขาวยอมแพ้ในหลายครั้ง ทุกการก้าวเดินจึงเต็มไปด้วยเรื่องราวและประสบการณ์ที่น้อยคนนักมีโอกาสได้เจอ

 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup