“นิค มอลนาร์” จากนศ.ขายของออนไลน์สู่เศรษฐีหมื่นล้านอายุน้อยสุดในออสฯ
Text : Vim Viva
ในแวดวง Startup ออสเตรเลีย น้อยคนนักที่จะไม่รู้จักนิค มอลาร์ ผู้ร่วมก่อตั้ง “อาฟเตอร์เพย์” (Afterpay) Startup ด้านเทคโนโลยีการเงินผู้ขึ้นแท่นมหาเศรษฐี “ที่สร้างตัวเอง” อายุน้อยสุดในดินแดนดาวน์อันเดอร์ โดยเขาครอบครองหุ้น 1,800 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (ประมาณ 44,000 ล้านบาท) ในบริษัทอาฟเตอร์เพย์ ฟินเทคที่เติบโตเร็วสุดใช้เวลาไม่กี่ปี ล่าสุดมูลค่าบริษัทก็ทะยานพุ่งไปอยู่ที่ 26,700 ดอลลาร์ หรือราว 6.5 แสนล้านบาท
สิ่งที่ทำให้นิคซึ่งปัจจุบันมีวัยเพียง 31 ปีมาถึงจุดนี้ได้นอกจากการมีสัญชาตญาณทางธุรกิจแล้วยังเป็นเพราะเขาได้รับการชี้แนะและความช่วยเหลือจากคนรอบข้างนั่นเอง ย้อนกลับไปช่วงเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาพาณิชยศาสตร์ มหาวิทยาลัยซิดนีย์ นิคหารายได้พิเศษด้วยการขายเครื่องประดับออนไลน์ เนื่องจากครอบครัวเขาเปิดหน้าร้านขายสินค้าประเภทนี้อยู่แล้ว นิคเพียงแต่เพิ่มช่องทางจำหน่ายโดยโพสต์ขายในอีเบย์ และผลลัพธ์ก็ออกมาดีมาก ร้านเครื่องประดับของนิคขึ้นแท่นร้านอันดับ 1 ในอีเบย์ออสเตรเลีย
กระทั่งปี 2012 นิคในวัย 22 เรียนจบและได้งานในตำแหน่งนักวิเคราะห์การลงทุนที่บริษัทเอ็ม.เอช. คาร์เนกี้ โดยอยู่ใต้บังคับบัญชาของมาร์ค คาร์เนกี้ หุ้นส่วนบริษัท ถึงกระนั้น นิคก็ยังไม่ทิ้งงานขายเครื่องประดับออนไลน์ แถมยังคิดพัฒนาและขยับขยายธุรกิจเล็กๆ ของเขา จุดเปลี่ยนในชีวิตเกิดขึ้นเมื่อมาร์ค คาร์เนกี้ ผู้เป็นเจ้านายคงมองเห็นศักยภาพในตัวเด็กหนุ่มคนนี้จึงเอ่ยปากขึ้นว่า “ผมไม่รู้ว่าทำไมคุณยังทำงานที่นี่ ทำไมคุณไม่ออกไปทำธุรกิจเต็มตัวล่ะ”
ไม่ใช่แค่พูด แต่เจ้านายยังเสนอให้นิคออกไปตามล่าหาฝันบนเส้นทางธุรกิจเป็นเวลา 1 ปี หากไปแล้วไม่เวิร์กก็สามารถกลับมาทำงานในตำแหน่งเดิมได้ นั่นทำให้นิครู้สึกอุ่นใจที่จะออกไปเผชิญอะไรใหม่ๆ ท้ายที่สุดเขาก็ทำได้โดยสามารถสร้างพันธมิตรกับบริษัทอัญมณีรายใหญ่ในสหรัฐฯ จนสามารถใช้ชื่อ Ice.com จำหน่ายเครื่องประดับออนไลน์ทั้งในออสเตรเลียและอเมริกา ธุรกิจไปได้สวยเลยทีเดียว เฉพาะในออสเตรเลีย เขาทำรายได้ปีละ 2 ดอลลาร์
ไม่นานหลังธุรกิจเริ่มอยู่ตัว ก็เกิดจุดเปลี่ยนที่สองซึ่งเป็นครั้งสำคัญในชีวิตเมื่อนิคสังเกตพฤติกรรมลูกค้าและพบว่าคนรุ่นใหม่จำนวนมากที่ไม่อยู่ในเกณฑ์ทำบัตรเครดิต และไม่สามารถจ่ายเงินสดในคราวเดียวในการซื้อสินค้า แนวคิดธุรกิจแบบ “ซื้อก่อนผ่อนทีหลัง” หรือ BNPL (buy Now Pay Later) จึงเกิดขึ้น ประจวบเหมาะกับนิคได้พูดคุยกับแอนโทนี่ ไอเซ่น เพื่อนบ้านซึ่งทำงานสายไฟแนนซ์ และคุ้นเคยกับนิคตั้งแต่เขาเป็นนักศึกษา ทั้งคู่จึงจับมือทำธุรกิจด้วยกัน
เดือนตุลาคม 2014 บริษัทอาฟเตอร์เพย์ก็ถือกำเนิดขึ้น เป็นฟินเทคที่ให้บริการระบบแบ่งชำระเงินเป็นงวดๆ ยกตัวอย่าง หากซื้อสินค้าราคา 100 ดอลลาร์ (อาฟเตอร์เพย์ให้วงเงินสูงสุด 2,000 ดอลลาร์) ลูกค้าสามารถแบ่งจ่าย 4 ครั้ง ครั้งละ 25 ดอลลาร์โดยไม่เสียดอกเบี้ย ซึ่งรายได้ของอาฟเตอร์เพย์จะมาจากการหักเปอร์เซนต์กับร้านค้าประมาณ 4-6 เปอร์เซนต์ต่อทุกธุรกรรม และการคิดค่าธรรมเนียมกับลูกค้าเมื่อผิดนัดชำระหนี้ในอัตรา 25 เปอร์เซนต์ของราคาสินค้า
บริการของอาฟเตอร์เพย์เป็นที่ถูกใจของบรรดาลูกค้าวันรุ่นอย่างมาก สอดคล้องกับผลการสำรวจของ Bankrate.com ที่พบว่าจำนวนแค่ 1 ใน 3 ของลูกค้าอายุระหว่าง 18-29 ปีเท่านั้นที่มีบัตรเครดิต ขณะที่กลุ่มมิลเลนเนี่ยลก็หลีกเลี่ยงการใช้บัตรเครดิตเพราะเกรงประสบปัญหาหนี้สินท่วมท้น ทั้งนี้ ลูกค้าอาฟเตอร์เพย์โดยเฉลี่ยมีอายุ 33 ปี สำหรับกลยุทธ์การตลาด อาฟเตอร์เพย์อาศัยลูกค้ากลุ่มนี้เป็นกระบอกเสียงไปแจ้งร้านค้าหรือแบรนด์ที่ตัวเองชื่นชอบมาเข้าระบบอาฟเตอร์เพย์ ทำให้แบรนด์ต่างๆ เข้าร่วมจำนวนมากเพราะหลังจากที่ใช้ระบบอาฟเตอร์เพย์ทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้น 20-50 เปอร์เซนต์เลยทีเดียว บางร้านค้าพบว่ายอดสั่งซื้อ 1 ใน 3 ชำระผ่านอาฟเตอร์เพย์ ปัจจุบัน อาฟเตอร์เพย์มีร้านค้าพันธมิตรราว 15,000 ร้านและมีลูกค้าลงทะเบียนใช้งาน 2 ล้านราย
อย่างไรก็ตาม ในการปล่อยสินเชื่อ อาฟเตอร์เพย์จะคำนวณความเสี่ยงโดยใช้หลักเกณฑ์เดียวกับการทำประกัน นั่นคือการตรวจสอบข้อมูลลูกค้า เช่น ประวัติการชำระหนี้ และสินค้าที่สั่ง หากเป็นสินค้าหรูราคาแพงและสั่งซื้อจำนวนมาก อาฟเตอร์เพย์มักปฏิเสธการทำธุรกรรมเพราะมีโอกาสจะเป็นมิจฉาชีพสูง ที่ผ่านมา มีการปฏิเสธการทำธุรกรรมประมาณ 20 เปอร์เซนต์ และตัดหนี้สูญราว 1 เปอร์เซนต์
หลังเปิดบริการได้ 2 ปี นิคได้นำอาฟเตอร์เพย์เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลียเมื่อปี 2016 และสามารถระดมทุนได้ 25 ล้านดอลลาร์ ปีต่อมา มูลค่าการทำธุรกรรมค้าปลีกผ่านอาฟเตอร์เพย์เพิ่มมาอยู่ที่ 561 ล้านดอลลาร์ ทำรายได้ให้บริษัท 23 ล้านดอลลาร์ ส่วนปีนี้ ยอดซื้อขายผ่านระบบทะลุทะลวงถึง 2,000 ล้านดอลลาร์ นำไปสู่รายได้ 80 ล้านดอลลาร์ จำนวนลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้นวันละ 3,000-5,000 ราย ส่วนหนี่งเป็นผลจากค้าปลีกรายใหญ่หลายรายเข้าร่วมใช้ระบบ และอาฟเตอร์เพย์ต่างจากคู่แข่งตรงไม่คิดดอกเบี้ยกับลูกค้า
เมื่อเดือนสค.ที่ผ่านมา เกิดความเคลื่อนไหวที่สร้างความฮือฮาในวงการ Startup ออสเตรเลียเมื่ออาฟเตอร์เพย์บรรลุข้อตกลงในการควบรวมกิจการกับบริษัทสแควร์ ผู้ให้บริการชำระเงินระบบดิจิทัล โดยสแควร์ได้ทุ่ม 39,000 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลียซื้ออาฟเตอร์เพย์ ซึ่งการควบรวมกิจการจะแล้วเสร็จประมาณเดือนมีนาคมปีหน้า และนั่นก็ส่งผลให้สถานะของนิค มอลนาร์ และแอนโทนี่ ไอเซ่นมั่งคั่งยิ่งขึ้นโดยที่ฝ่ายแรกขึ้นแท่นมหาเศรษฐีผู้สร้างตัวเองอายุน้อยสุดในออสเตรเลีย
ที่มา
www.dailymail.co.uk/news/article-9854197/Afterpay-founder-Nick-Molnars-bold-email-helped-launch-billion-dollar-business.html
www.forbes.com/sites/jeffkauflin/2018/07/03/how-a-28-year-old-turned-layaway-for-millennials-into-a-2-billion-business/?sh=4b1480d359db
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup