กองทุน TED Fund ช่วยปั้นธุรกิจสตาร์ทอัพ! เริ่มต้นได้แม้ไม่มีเงินทุน
กองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund) เป็นกองทุนที่สนับสนุนผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อผลักดันการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ในเชิงพาณิชย์ ดังนั้น องค์กรแห่งนี้จึงอยู่เบื้องหลังการก่อร่างสร้างตัวของผู้ประกอบการมากมาย
“TED Fund เป็นกองทุนหมุนเวียนที่อยู่ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการจะนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในการทำธุรกิจ โดยมองว่างานวิจัยไม่ควรจะอยู่แค่ในห้องแล็บหรืออยู่บนหิ้ง แต่ควรจะมีโอกาสนำมาทำในเชิงพาณิชย์ เราไม่ใช่ทุนวิจัยแต่เป็นทุนสำหรับผู้ประกอบการที่อยากจะเอางานวิจัยมาต่อยอดและทำให้เกิดธุรกิจเชิงเทคโนโลยีและนวัตกรรมขึ้น คำว่าลงทุนของ TED Fund ถือเป็นเงินช่วยเหลือที่ให้เปล่าเพียงแต่ว่าผู้ประกอบการจะต้องสำรองเงินไปก่อน หลังจากนั้นค่อยมาเบิกคืนกับเรา เราไม่ได้ให้เงินลงทุนเพื่อแลกกับหุ้นบริษัท”
ดร.ชาญวิทย์ ตรีเดช ผู้จัดการกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund) อธิบายพันธกิจของ TED Fund ที่มีต่อผู้ประกอบการไทย ซึ่งมีความสำคัญเพราะเป็นเหมือนการเพาะเมล็ดพันธุ์ สร้างผู้ประกอบการคนรุ่นใหม่ ให้สามารถเริ่มต้นการทำธุรกิจได้ภายใต้พื้นฐานของเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งในปีนี้ได้เตรียมเงินทุนสำหรับ Youth Startup Fund เพื่อส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนไปสู่การเป็นผู้ประกอบการถึง 300 ทุนจากใบสมัครที่มีเข้ามากว่า 1,000 โครงการ โดยมีผู้ผ่านการคัดเลือกแล้วกว่า 100 โครงการ
“น้องๆ หรือผู้ประกอบการที่มาขอทุนส่วนใหญ่มีไอเดียหรือเทคโนโลยีที่จะเริ่มต้นทำธุรกิจอยู่แล้ว จะเป็นจากงานวิจัยในห้องแล็บหรือเปเปอร์ก็ตาม แต่การที่จะทำ Prototype หรือต้นแบบออกมานั้น ไม่ค่อยมีแหล่งเงินทุนที่จะให้กับผู้ประกอบการในส่วนนี้ ซึ่ง Prototype เป็นการพิสูจน์ว่าเทคโนโลยีนั้นสามารถสเกลขึ้นมาได้ ขณะที่ฝั่งนักลงทุนก็ไม่อยากลงทุนเพราะว่าเป็นเทคโนโลยีที่ Early Stage มากๆ ยังมีความเสี่ยงอยู่ จึงเป็นหน้าที่ของ TED Fund ที่จะต้องลงไปช่วยเหลือสนับสนุน เพื่อจะพิสูจน์แนวคิดและพัฒนาต้นแบบให้สามารถไปต่อได้ในเชิงธุรกิจได้”
ดร.ชาญวิทย์ บอกว่าเงินทุนจากโครงการ Youth Startup Fund จะลงไปสู่เด็กๆ ระดับมหาวิทยาลัย ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีพี่เลี้ยงคอยดูแลในเรื่องการทำธุรกิจ โดย TED Fund ตั้งกลไกหนึ่งขึ้นมาเรียกว่า TED Fellow ซึ่งจะเข้ามามีบทบาทในการช่วยดูแลผู้ประกอบการทั่วประเทศที่ขาดทักษะและประสบการณ์ทั้งในด้านเทคโนโลยีและการทำธุรกิจ โดยเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 โดยที่ผ่านมามีผู้ประกอบการที่ได้รับทุนจาก TED Fund จนสามารถต่อยอดสร้างธุรกิจขึ้นมาได้ มียอดขายเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก 30 เปอร์เซ็นต์ แม้จะไม่ได้ไปต่อในโครงการหรือโปรดักต์ที่ TED Fund ให้ทุนช่วยเหลือ แต่ก็ได้มีการแตกหน่อหรือปรับเปลี่ยนโปรดักต์จนสามารถก้าวต่อไปได้
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่จะสามารถขอทุนจาก TED Fund นั้นจะต้องอยู่ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือ S-Curve โดยพื้นฐานเป็นเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยในปี 2565 จะโฟกัสเพิ่มใน 3 อุตสาหกรรมคือ การท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ, อาหารแห่งอนาคต และสมุนไพร หากผู้ประกอบการทำธุรกิจนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับ 3 กลุ่มนี้ก็จะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ
“ทุนของ TED Fund เหมือนเป็น Pre-Seed Fund ที่เริ่มต้นให้กับน้องๆ ด้วยความที่เป็นเงินทุนให้เปล่า แต่ถ้าสามารถเริ่มต้นขึ้นมาได้แล้วอยากจะเติบโตในแบบ Startup ต่อไป ในส่วนของเงินลงทุน Stage ถัดไป เราก็มีโปรแกรมตัวใหม่ขึ้นมา เรียกว่าเป็น TED Matching Fund ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการดึงดูดนักลงทุนมาร่วมลงทุนได้ง่ายมากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่าง มีผู้ประกอบการต้องการทุนต่ออีก 2 ล้านบาท เขามองแล้วว่า 2 ล้านบาทนี้น่าจะไปต่อได้ใน Stage ต่อไป อาจจะไปหาเงินทุนจาก Angel Investor มาได้ 1 ล้านบาท อีก 1 ล้านบาท TED Matching Fund จะช่วยออกให้ แต่เป็นรูปแบบของโครงการที่จะต้องมีการ Output-Outcome มีการรายงาน ตรงนี้น่าจะทำให้หลายดีลเกิดได้ง่ายขึ้น ช่วยลดความเสี่ยงของทั้ง Angel Investor และตัว Startup เอง เป็นกลไกที่เราคิดไว้ที่จะช่วยให้เขาไปต่อได้อีก”
สำหรับในปีงบประมาณ 2565 นั้น TED Fund ได้เตรียมเงินทุนสำหรับ 3 โครงการสำคัญ ได้แก่ 1.โครงการ Youth Startup Fund จำนวน 150 ทุน ที่จะให้กับน้องๆ มีทั้งทุนที่เป็นไอเดียและทุนพิสูจน์แนวคิดพัฒนาต้นแบบ 2.โครงการ TED Fund Market Scaling Up ที่เน้นในการขยายตลาดให้กับผู้ประกอบการ จำนวน 10-20 ทุน และ 3.โครงการ TED Matching Fund จำนวน 5-10 ทุน
วันนี้โลกเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เป็นโลกของเทคโนโลยีและนวัตกรรม ดังนั้นการจะเป็นผู้ประกอบการที่อยู่ในโลกนี้ได้อย่างแข็งแกร่ง นับเป็นความท้าทาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์โควิด-19 ดร.ชาญวิทย์ จึงฝากข้อแนะนำสำหรับผู้ประกอบการไทยว่า ต้องตามเทรนด์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นให้ทัน และทุกๆ วิกฤตย่อมจะมีโอกาสอยู่เสมอ ดังนั้น ต้องกล้าเปลี่ยนแปลง และต้องปรับตัวเองให้เร็ว เมื่อปัญหาเปลี่ยนไปก็จะต้องปรับเปลี่ยนมุมมองของตัวเองแล้วหา Pain Point ใหม่ที่เกิดขึ้นใน New Normal เพื่อที่จะเติบโตต่อไป
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup