Tech Startup
บทเรียนจาก GOAT ธุรกิจรีเซลสนีกเกอร์ ล้มทุกครั้งลุกทุกคราสุดท้ายได้ดีเพราะสนีกเกอร์ปลอม
จากรองเท้าสนีกเกอร์แอร์จอร์แดนปลอมคู่เดียวนำไปสู่ไอเดียธุรกิจและต้นกำเนิด GOAT แพลตฟอร์มรีเซลสนีกเกอร์ที่มีสมาชิก 30 กว่าล้านคน มีคนขายกว่า 600,000 คนจาก 170 ประเทศทั่วโลก และขึ้นแท่นเป็นสตาร์ทอัพยูนิคอร์นที่มีมูลค่า 3,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไปดูเส้นทางความสำเร็จของ GOAT และผู้ที่อยู่เบื้องหลังกัน
ย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อน ไดชิน ซูกาโนะ ผู้ประกอบการหนุ่มแห่งนครลอสแองเจลิสได้สั่งซื้อรองเท้าสนีกเกอร์รุ่น Air Jordan 5 Retro Grapes จากเว็บอีเบย์ เมื่อได้รับสินค้ากลับพบว่าเป็นของปลอม ด้วยความผิดหวังจึงไปเล่าให้เอ็ดดี้ ลู หุ้นส่วนธุรกิจฟัง ไดชินและเอ็ดดี้เป็นเพื่อนกันตั้งแต่เรียนที่ยูซีเบิร์กลีย์ และร่วมทำธุรกิจด้วยกันตั้งแต่ปี 2007 เมื่อเอ็ดดี้ได้ฟังก็เกิดความคิดและชวนไดชินเปิดธุรกิจใหม่ นั่นคือการสร้างแพลตฟอร์มรีเซลรองเท้าสนีกเกอร์ที่เป็นของแท้และสร้างความเชื่อใจในวงการนักสะสมสนีกเกอร์
ไดชินและเอ็ดดี้เป็นคู่หูและหุ้นส่วนที่ทำธุรกิจหลายประเภทด้วยกันมานาน เริ่มจากธุรกิจนำเข้าส่งออก เปิดบริษัทจำหน่ายเสื้อผ้าและอุปกรณ์เกี่ยวกับกีฬากอล์ฟ ทำธุรกิจจำหน่ายชาออนไลน์ พัฒนาแอปพลิเคชั่นเกมบนไอโฟน ซื้อแฟรนไชส์ครีมพัฟแบรนด์ Beard Papa's จากญี่ปุ่น ธุรกิจท้ายสุดคือพัฒนาแอป GrubWithUs บริการดินเนอร์กับคนแปลกหน้า ทว่าไม่มีธุรกิจใดที่ประสบความสำเร็จเลย
แรงบันดาลใจจากรองเท้าแอร์จอร์แดนปลอม ทำให้ทั้งคู่ตั้งบริษัท GOAT Group ขึ้นในปี 2015 เพื่อขจัดความกังวลของลูกค้าที่จ่ายเงินหลายร้อยดอลลาร์เพื่อซื้อรองเท้ารุ่นที่ต้องการแล้วยังต้องระแวงว่าจะได้ของแท้หรือไม่ ณ จุดนี้ GOAT ซึ่งเป็นคำย่อมาจาก Greatest Of All Time จึงจะขอสร้างความเชื่อมั่นและดูแลตรงนี้ให้ลูกค้าแทน ซึ่งถือเป็นการดำเนินถูกแนวทาง
หลังเปิดธุรกิจได้ 4 เดือน จากแพลตฟอร์มโนเนม พอ GOAT ทำแคมเปญลดราคาช่วง Black Friday เท่านั้น ก็มีคนดาวน์โหลดแอปเพื่อใช้งานกว่า 100,000 ครั้ง ทำให้ GOAT กลายเป็นที่รู้จัก นับจากนั้นมา ธุรกิจก็ไม่เคยหยุดเติบโตอีกเลย ทั้งยังมีเงินทุนจากนักลงทุนเข้ามาสนับสนุน
ภายใต้การบริหารของเอ็ดดี้ ที่นั่งเก้าอี้ประธานบริหาร และไดชิน ผู้รั้งตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายผลิตภัณฑ์ ธุรกิจของพวกเขามีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะระบบที่ทำให้ผู้ซื้อและคนขายมือใหม่ใช้งานง่าย ระบบของ GOAT คือสินค้าที่จะลงขายบนแพลตฟอร์มจะต้องผ่านการตรวจสอบก่อน ซึ่งระบบตรวจสอบสินค้าที่ว่าก็ใช้ทั้งพนักงาน และปัญญาประดิษฐ์หรือ AI
ในการตรวจสอบ การใช้เทคโนโลยีควบคู่ไปกับสัญชาตญาณของคนจะทำให้การตรวจสอบแม่นยำขึ้น เอ็ดดี้เปิดเผยว่า ปี 2019 จากการตรวจสอบสินค้าที่ต้องการลงขายบนแพลตฟอร์มของบริษัท พบรองเท้าปลอมมากถึง 72 ล้านคู่ ซึ่งเพิ่มจาก 34 ล้านคู่ในปีก่อนหน้า ยิ่งธุรกิจเติบโตเท่าใด คาดว่าจำนวนสินค้าปลอมจะเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ GOAT จะรับประกันสินค้ากับผู้ซื้อหากสินค้าที่ซื้อมีมูลค่าเกิน 300 ดอลลาร์ และGOAT หักค่าธรรมเนียมจากผู้ขาย 9.5 เปอร์เซนต์ต่อออร์เดอร์ เทียบกับอีเบย์ที่หัก 13 เปอร์เซนต์
เนื่องจากไม่ใช่ผู้เล่นรายเดียวในตลาด ยังมีคู่แข่งสำคัญอย่าง StockX ที่ต้องต่อกร ปลายปี 2019 GOAT ขยายธุรกิจจากรองเท้ามือสองไปยังสินค้าแฟชั่น โดยร่วมมือกับแบรนด์แฟชั่นกว่า 350 แบรนด์มีทั้งทั้งสตรีทแวร์ และแฟชั่นแบรนด์เนมหรู โดยมีเป้าหมายต้องการเป็นศูนย์กลางการแต่งกายตั้งแต่ศีรษะจดเท้าแบบครบวงจร
ใช้เวลาเพียง 6 เดือนก็ติดลมบน ยอดขายเสื้อผ้าโดยเฉพาะเสื้อผ้าผู้หญิงได้รับความนิยมมาก ลูกค้าหลักของ GOAT ราว 80 เปอร์เซนต์เป็นกลุ่ม Gen Z และกลุ่มมิลเลนเนี่ยล ธุรกิจเติบโตถึง 500 เปอร์เซนต์ในช่วง 12 เดือน โดยร้อยละ 40 ของลูกค้าเป็นผู้หญิง การเติบโตของธุรกิจเสื้อผ้านี่เองที่ทำให้เงินทุนสนับสนุนรอบใหม่ไหลเข้าบริษัท โดยก้อนล่าสุด 195 ล้านดอลลาร์มาจากบริษัทพาร์ค เวสต์ แอสเสท เมเนจเมนต์ ส่งผลให้มูลค่าบริษัทเพิ่มเท่าตัวจาก 1,800 ล้านทะยานไปอยู่ที่ 3,700 ล้านดอลลาร์
เซน ซูกาโนะ หัวหน้าฝ่ายแบรนด์สินค้าของ GOAT เปิดเผยว่าธุรกิจเสื้อผ้าสตรีโตเร็วกว่า 2 เท่าเมื่อเทียบกับหมวดเสื้อผ้าผู้ชาย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการแนะนำคอลเลคชั่นใหม่ ๆ จากแบรนด์หรู เช่น อเล็กซานเดอร์ แมคควีน และเวอร์ซาเซ่ ทั้ง 2 แบรนด์เป็นพันธมิตรกับ GOAT ในการวางขายสินค้าใหม่บนแพลทฟอร์ม GOAT
อย่างไรก็ตาม แม้จุดเริ่มต้นของ StockX และ GOAT จะคือการรีเวลสนีกเกอร์ แต่หลังขยายไลน์สินค้า แนวทางของทั้งคู่กลับแตกต่างกัน โดย StockX นอกจากจำหน่ายเสื้อผ้าสตรีทแวร์ ยังเพิ่มสินค้าประเภทของสะสมและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนสนีกเกอร์นั้นก็เน้นรุ่นหายากหรือลิมิเต็ดเอดิชั่น แต่ GOAT มักใช้วิธีติดต่อกับแบรนด์เจ้าของสินค้าโดยตรงให้นำสินค้าใหม่มาลงขายในแพลตฟอร์มของบริษัท
จากผู้ประกอบการที่ล้มลุกคลุกคลานและไม่ประสบความสำเร็จเลยสักธุรกิจใด ต้องขอบคุณรองเท้าแอร์จอร์แดนปลอมคู่นั้น และความไม่ย่อท้อของเอ็ดดี้กับไดชิน คู่หูจอมอึดที่ทำให้พลิกสถานการณ์กลายเป็นผู้ให้กำเนิดสตาร์ทอัพยูนิคอร์มมูลค่า 3,700 ล้านดอลลาร์ ปัจจุบัน GOAT มีพนักงานราว 1,000 คน มีศูนย์กระจายสินค้า 13 แห่งทั่วโลก และมีแผนจะเพิ่มอีก 4 แห่งภายในปลายปี 2021 นี้เพื่อหวังเจาะตลาดนอกประเทศ
ที่มา
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup