Tech Startup

สำรวจตลาดฟินเทคเวียดนามขึ้นแท่นสมรภูมิแข่งเดือดทั้งสตาร์ทอัพในและนอกประเทศ

Text : Vim Viva

 

     การเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามที่แข็งแกร่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมาบวกกับจำนวนชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้นและการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตของประชากรเป็นวงกว้างได้ส่งผลเศรษฐกิจดิจิทัลเฟื่องฟู ด้วยศักยภาพดังกล่าว จำนวนสตาร์ทอัพในกลุ่มฟินเทคหรือเทคโนโลยีทางการเงินในเวียดนามจึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แค่ช่วงไตรมาสแรกของปี 2017 ก็มีจำนวนเกือบ 40,000 บริษัทแล้ว   


     ภายในชั่วระยะเวลาไม่กี่ปี อุตสาหกรรมฟินเทคของเวียดนามเติบโตแบบก้าวกระโดด ส่วนหนึ่งมาจากการสนับสนุนของรัฐบาล โดยรัฐบาลได้ก่อตั้งหน่วยงานชื่อ NATEC (National Agency for Technology, Entrepreneurship and Commercialisation Development) เพื่อฝึกอบรม ให้ปรึกษา ตั้งศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ และให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่สตาร์ทอัพที่เพิ่งก่อตั้งใหม่ รวมถึงการลดภาษีรายได้ให้กับบริษัทเหล่านั้น  




     นโยบายดังกล่าวของรัฐบาลทำให้นักลงทุนต่างชาติพากันเทเม็ดเงินสนับสนุนสตาร์ทอัพในเวียดนาม บ้างก็เข้ามาลงทุนเองเนื่องจากเกิดความเชื่อมั่น ยกตัวอย่าง อาลีบาบา ยักษ์อี-คอมเมิร์ซจากจีนที่จับมือกับกลุ่มพันธมิตรธนาคารของเวียดนามเพื่อปูทางไปสู่การติดตั้งระบบการชำระเงินผ่าน Alipay อำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวจีนที่มาเที่ยวเวียดนาม 


     สำหรับธุรกิจฟินเทคที่ได้รับความนิยมประกอบด้วย ระบบการชำระเงินออนไลน์ สินเชื่อออนไลน์ และการระดมทุนแบบคราวด์ฟันดิ้ง โดยสตาร์ทอัพที่เข้ามาจับธุรกิจนี้เพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าตัวในช่วงระหว่างปี 2017-2020 จำนวนสตาร์ทฟินเทคอัพเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 127 บริษัท และดูเหมือนสมรภูมิที่แข่งขันกันดุเดือดสุดเห็นจะเป็นธุรกิจการพัฒนาระบบการชำระเงินออนไลน์นั่นเอง


     หากจะพูดถึงสตาร์ทอัพที่น่าจับตามองสุดที่ดำเนินธุรกิจนี้คงจะเป็น MOMO (ย่อมาจาก Mobile Money) แม้จะเป็นบริษัทท้องถิ่นในโฮห์จิมินห์แต่กลับสามารถต่อกรกับบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่อย่าง Grab และ SEA ที่พยายามเข้ามาชิงส่วนแบ่ง เป็นที่น่าสนใจว่า MOMO ใช้กลยุทธ์อะไรจึงยังสามารถยืนหนึ่งในฐานะผู้ให้บริการชำระเงินผ่านอี-วอลเล็ตบนมือถือรายใหญ่สุดของประเทศ โดยมีผู้ใช้งาน 25 ล้านคน ครองส่วนแบ่ง 60 เปอร์เซนต์ในตลาดและมียอดการทำธุรกรรมมูลค่าปีละ 14,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ




     เจือง เหงียน ซีอีโอ MOMO ให้สัมภาษณ์ว่าก่อนรัฐบาลประกาศล็อคดาวน์ครั้งล่าสุดเนื่องจากโควิด ทางบริษัทได้ทำโปรโมชั่นกับเครือข่ายร้านกาแฟใหญ่ในประเทศ รวมถึงร้านไฮแลนด์ คอฟฟี่ที่มีสาขากว่า 300 แห่ง โดยผู้ใช้บริการที่ร้านกาแฟจะได้รับส่วนลดเมื่อชำระเงินผ่านแอปพลิเคชั่น MOMO 


     แม้ผู้บริโภคเวียดนามจะใช้โทรศัพท์มือมากขึ้นแต่ 80 เปอร์เซนต์ของการซื้อขายสินค้าในประเทศยังเป็นการซื้อตามร้านค้าออฟไลน์ การทำโปรโมชั่นแบบซื้อกาแฟแก้วเดียวก็จ่ายผ่านมือถือได้เป็นการสร้างความสะดวกและกระตุ้นให้ผู้บริโภคได้ชำระค่าสินค้าและบริการอื่น ๆ ในแอป MOMO เช่น ซื้อตั๋วภาพยนต์ สั่งอาหารเดลิเวอรี จองตั๋วเครื่องบิน หรือเล่นเกม เป็นต้น “ธุรกิจของเราค่อนข้างสมดุล เรามั่นใจว่าต่อให้แย่ที่สุด รายได้ต่อเดือนก็ยังได้ไม่ต่ำกว่า 75 เปอร์เซนต์ของช่วงเวลาปกติ แน่นอนว่าเราอยากให้ธุรกิจโตขึ้นเรื่อย ๆ จึงต้องพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส” ผู้บริหาร MOMO กล่าว  


     อย่างไรก็ตาม การทะยานพุ่งของ MOMO ในอีกทางหนึ่งก็ดึงดูดให้คู่แข่งจากต่างชาติเข้ามามากขึ้น ส่งผลให้เวียดนามกลายเป็นหนึ่งในตลาดที่มีการแข่งขันในธุรกิจฟินเทคมากสุดของเอเชียโดยมีผู้เล่นกว่า 10 ราย นักวิเคราะห์มองว่าแต่บริษัทเหล่านั้นก็จะควบรวมธุรกิจจนเหลือผู้เล่นแค่ 2-3 รายและนักลงทุนที่อยู่เบื้องหลังผู้เล่นที่เหลืออยู่สายป่านจะยาวมาก ก็ถือเป็นการแข่งขันที่ห้ำหั่นกันน่าดู 


     ด้วยเหตุนี้ สตาร์ทอัพท้องถิ่นจึงพยายามระดมทุนเพื่อต่อยอดธุรกิจ อย่างบริษัทวีเอ็นไลฟ์ ผู้ให้บริการกระเป๋าสตางค์อิเล็กทรอนิกส์ VNPay ที่มีบริษัทซอฟต์แบงค์จากญี่ปุ่นหนุนหลังก็เพิ่งได้รับเงินทุนก้อนใหม่ 250 ล้านดอลลาร์จากบริษัทร่วมลงทุน (vc) หลายราย ขณะที่ MOMO เองได้ทุนเพิ่ม 100 ล้านดอลลาร์จากกองทุนหุ้นนอกตลาดของบริษัทในสหรัฐฯ และเตรียมเพิ่มพันธมิตรที่เป็นร้านค้าต่าง ๆ รวมถึงขยายบริการใหม่ ๆ อาทิ ประกันรถจักรยานยนต์ และสินเชื่อส่วนบุคคล และในอนาคตอาจผลักดันให้เป็นธนาคารดิจิทัลเต็มรูปแบบตามรอยยักษ์ใหญ่อย่างแอนท์ กรุ๊ปของอาลีบาบา และ Paytm ของอินเดีย 




     เวียดนามมีขนาดเศรษฐกิจ 340,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แม้จะเล็กกว่าอินโดนีเซีย ไทย และฟิลิปปินส์ แต่สิ่งที่ดึงดูดนักลงทุนด้านฟินเทคคือจำนวนผู้ใช้โทรศัพท์มือถือที่สูงถึง 80 เปอร์เซนต์ แต่จำนวนสาขาธนาคารในประเทศกลับมีน้อยสวนทางกัน ซึ่งการเปิดทางของรัฐบาลจะเอื้อให้บริษัทฟินเทคสามารถให้บริการด้านการเงินผ่านสมาร์ทโฟนง่ายขึ้น 


     การเกิดโควิดระบาดจะว่าไปกลับเร่งให้เวียดนามเข้าสู่สังคมไร้เงินสดเร็วขึ้น การเชิญชวนร้านค้าต่าง ๆ ให้ใช้ระบบอี-วอลเล็ตซึ่งเคยเป็นเรื่องยากเพราะส่วนใหญ่นิยมรับเงินสด การล็อคดาวน์อย่างเข้มข้น ทำให้ร้านค้าต้องปรับตัวขายสินค้าผ่านออนไลน์มากขึ้นจึงต้องหันมาใช้ระบบการชำระเงินออนไลน์ไปโดยปริยาย แต่สิ่งที่บริษัทฟินเทคต้องแข่งขันกันคือการช่วงชิงพื้นที่บนหน้าจอสมาร์ทโฟน กล่าวคือทำอย่างไรให้แอปอี-วอลเล็ตของบริษัทถูกใช้งานเป็นหลักเพราะคงไม่มีใครที่จะดาวน์โหลดแอปกระเป๋าตังค์คราวละ 5-6 ลงบนมือถือ  



ที่มา
https://theaseanpost.com/article/vietnam-regions-fintech-hub



 www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup