Tech Startup

มาเลย์เปลี่ยนตู้คอนเทนเนอร์เป็นสมาร์ทฟาร์มใช้เทคโนโลยีกำหนดรสชาติของผักที่ปลูก

Text : Vim Viva
 
 

     เป็นยุคที่เรียกได้ว่าสูงสุดคืนสู่สามัญ ธุรกิจเกี่ยวกับการเกษตรจึงกลับมาเป็นที่สนใจของคนรุ่นใหม่อีกครั้งหลังตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมและความมั่นคงด้านอาหาร BoomGrow เทคสตาร์ทอัพด้านการเกษตรก็เป็นอีกรายที่เข้ามาจับธุรกิจนี้ และใช้เวลาลองผิดลองถูกนานนับ 5 ปีกว่าจะค้นพบวิถีการปลูกผักในแบบที่พึงพอใจ และทำให้ธุรกิจเลี้ยงตัวได้ 


     BoomGrow ก่อตั้งเมื่อปี 2015 โดยหุ้นส่วน 3 คน ประกอบด้วยคู่สามีภรรยา มูราลี กับเจย์ เดชาน และชาน ปาลานี เพื่อนสนิทของทั้งคู่ เจย์ ซึ่งจบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยลอนดอนเล่าว่าเธอทำงานเป็นที่ปรึกษาด้านความยั่งยืนให้กับหลายองค์กร รวมถึงบริษัทระดับโลกมานาน 20 ปี 




     จากประสบการณ์การทำงานทำให้เห็นว่าระบบอาหารทั่วโลกนั้นเสียหายเพียงใด เจย์กล่าวว่าแม้เราจะพูดความก้าวหน้าในแง่ของความยั่งยืนด้านอาหารแต่ในความเป็นจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่เนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่เคยรู้ว่าอาหารที่พวกเขากินเป็นอย่างไร แหล่งกำเนิดจากไหน หรือมีสารเคมีปนเปื้อนหรือไม่ เพราะผู้บริโภคไม่ได้ไปเห็นซัพพลายเชน หรือกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นจนจบ     


     ด้วยเหตุนี้ เจย์จึงเกิดความคิดถึงเวลาแล้วที่จะต้องเปลี่ยนแปลงและจัดหาอาหารที่สดสะอาดให้ประชาชน “มูราลี สามีของฉันและฉันต้องการผลผลิตทางการเกษตรที่ปลอดภัยสำหรับลูก ๆ เราแต่พบปัญหาคือราคาค่อนข้างสูง และหาซื้อยากในกัวลาลัมเปอร์ ส่วนใหญ่เป็นผักนำเข้าราคาแพง”  BoomGrow จึงเกิดขึ้น แต่กว่าจะกลายเป็นเทคสตาร์ทอัพด้านการเกษตรในร่มที่ได้รับการยอมรับและธุรกิจสามารถเลี้ยงตัวได้ก็ผ่านการลองผิดลองถูกมานานหลายปีเลยทีเดียว 


     ภายใต้ปูมหลังที่แตกต่างกันของ 3 ผู้ร่วมก่อตั้ง BoomGrow โดยเจย์เป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทผลิตอาหารและการเกษตรทำให้สามารถประเมินข้อมูลต่าง ๆ ได้ไม่ยาก ขณะที่มูราลี สามีของเธอเป็นอดีตนักกรีฑาทีมชาติก็มีความรู้ด้านโภชนาการว่าอาหารดี ๆ สร้างความแตกต่างได้อย่างไร ส่วนชาน ผู้เป็นสหายของครอบครัวเป็นสถาปนิกที่สนใจงานด้าน sustainable design หรือการออกแบบที่สอดคล้องกับบริบทโดยรอบและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจึงรับหน้าที่ออกแบบระบบโรงเรือนที่ใช้ปลูกผัก 




     แม้ BoomGrow จะก่อตั้งมา 7 ปีแล้ว แต่หุ้นส่วนทั้ง 3 ใช้เวลานานถึง 5 ปีในการทดลองทำการเกษตรด้วยวิธีต่าง ๆ ตั้งแต่การปลูกพืชไร้ดินทั้งแบบไฮโดรโปนิกส์และอะควาโปนิกส์ ไปจนถึงการเพาะต้นกล้าในกระบะก่อนย้ายไปปลูกกลางแจ้ง จนกระทั่งมาลงตัวที่การเกษตรแนวตั้งในร่มแบบไร้ดินที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์หรือ AI โดยมีการดัดแปลงตู้คอนเทนเนอร์ให้เป็นพื้นที่เพาะปลูกซึ่งการปลูกผักแนวตั้งทำให้ประหยัดพื้นที่ 1 ตู้คอนเทนเนอร์ขนาดพื้นที่ 360 ตารางฟุตจึงเทียบเท่าการปลูกพืชบนดินขนาด 1 เอเคอร์หรือประมาณ 2.5 ไร่


     การใช้เทคโนโลยีในการควบคุมสภาพแวดล้อมตั้งแต่อุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ แสง น้ำ ค่าความเป็นกรดและด่างที่เหมาะสมต่อการเติบโตของพืชโดยไม่ต้องใช้สารเคมีหรือยาฆ่าแมลง นอกเหนือจากความสะอาดแล้วยังทำให้ผักที่ปลูกมีรสชาติอร่อยขึ้นด้วย ซึ่ง BoomGrow ระบุว่ารสชาติของผักที่ปลูกเป็นผลจากการคำนวณสูตรต่าง ๆ ให้สมดุลนั่นเอง ซึ่งผักแต่ละชนิดจะใช้สูตรการปลูกที่แตกต่างกัน   


     ทั้งนี้ ผักที่ปลูกหมุนเวียนราว 20 ชนิด รวมถึงผักกาดหอมบัตเตอร์เฮด ผักกาดโรเมน ผักเคล โหระพา และสาระแหน่ซึ่งบางชนิดเป็นผักเมืองหนาวที่ปกติต้องนำเข้าจากประเทศอื่น แต่ BoomGrow สามารถปลูกได้ทั้งปี ปัจจุบัน สมาร์ทฟาร์มของ BoomGrow กระจายในหลายพื้นที่ทั้งในกัวลาลัมเปอร์ และลังกาวี 




     แม้จะต้องลงทุนด้านเทคโนโลยีแต่การใช้พื้นที่ไม่มากเมื่อเทียบกับการเกษตรแบบดั้งเดิมจึงทำให้ลดต้นทุนลงได้ ราคาผักของ BoomGrow จึงไม่แพงมากเมื่อเทียบกับผักออร์แกนิกทั่วไปที่จำหน่ายในตลาด สำหรับโมเดลธุรกิจมีทั้งแบบ B2C ซึ่งเป็นการค้าปลีกให้กับลูกค้าทั่วไปและลูกค้าที่เป็นสมาชิก และแบบ B2B ที่จัดส่งให้กับลูกค้าร้านอาหารและโรงแรม โดยผลผลิตของ BoomGrow เป็นที่นิยมในกลุ่มเชฟโรงแรม 5 ดาวเนื่องจากความสะอาดและรสชาติ 


     อย่างไรก็ตาม การเกิดโควิด-19 ระบาดช่วงต้นปีที่แล้วได้ส่งผลกระทบต่อ BoomGrow พอสมควรเนื่องจากร้านอาหารและโรงแรมสั่งซื้อผักน้อยลง แต่โชคดีที่จำนวนลูกค้าที่สมัครสมาชิกเพื่อรับผักจาก BoomGrow  เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจึงทำให้ชดเชยได้ การเกิดโรคระบาดทำให้ประชาชนซึ่งถูกจำกัดการเคลื่อนไหวหันมาดูแลสุขภาพมากขึ้น ผักออร์แกนิกจึงเป็นที่ต้องการ โดยลูกค้าสามารถเลือกได้ว่าต้องการผักในความถี่ประมาณไหน ทุกสัปดาห์ ทุกครึ่งเดือน หรือเดือนละครั้ง 




     ในการเริ่มต้นธุรกิจ BoomGrow ก็เหมือนเทคสตาร์ทอัพหลายบริษัทที่เสาะหาแหล่งเงินทุน ช่วงก่อตั้งใหม่ ๆ เคยได้รับการสนับสนุน 1 ล้านริงกิต (เกือบ 8 ล้านบาท) จากหน่วยงานด้านเอสเอ็มอี จนถึงปัจจุบัน BoomGrow ก็ยังระดมทุนอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่งเสร็จสิ้นการเจรจารอบนักลงทุนอิสระไปเมื่อต้นปี 2021 และขณะนี้กำลังวางแผนระดมทุนในรอบซีรีส์เอเพื่อพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ และขยายธุรกิจให้ครอบคลุมทั่วมาเลเซีย 
 
ที่มา
https://injuredly.com/smart-farm-malaysia-grows-and-delivers-organic-vegetables/




www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup