Tech Startup
FLASHBACK หนุ่มไฟแรงวัย 25 ปี สร้างปรากฎการณ์ตู้สติกเกอร์คัมแบค! 7 เดือนมีลูกค้ามาถ่ายรูปมากกว่าแสนคน
ย้อนกลับไปในครั้งที่หลายคนยังเยาว์วัย คงได้ผ่านประสบการณ์ถ่ายรูปที่ตู้สติกเกอร์ แต่เมื่อเวลาผ่านไปที่โลกเราก้าวเข้าสู่ยุคดิจิตอล ตู้สติกเกอร์เหล่านี้ก็เลือนหายไปตามกาลเวลา จนกระทั่งมีผู้ปลุกกระแสตู้สติกเกอร์ให้กลับมา พวกเขาคือ Flashback ที่ก่อตั้งโดยคนรุ่นใหม่ไฟแรงวัย 25 ปี โอม - พิธิวัฒน์ ศิริอำพันธ์กุล เดียร์ - ธนพล พิมพ์ผิว และแป๊ก - ภควัต ปัทมะ
จุดเริ่มต้นของตู้สติกเกอร์ Flashback
โดยพิธิวัฒน์ได้เล่าย้อนให้ฟังว่าก่อนที่จะเกิดเป็นตู้สติกเกอร์ Flashback นั้น พวกเขาคือ Creative Technologist ชื่อบริษัท โฟตอน คอร์เปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นผู้ให้บริการด้าน Interactive Media อาทิ การทำ Installation art โดยใช้เทคโนโลยีและซอฟแวร์ในการสร้างสรรค์ชิ้นงาน
“ก่อนหน้าที่เราจะดัน Flashback ออกมาเป็นโพรดักส์ เราเป็นเซอร์วิสมาก่อน เรานิยามตัวเองว่าเป็น Creative Technologist อย่างที่เราร่วมกับ Bangkok Design Week ในการทำ Installation art หรืองาน Interactive ทีมีการเล่นกับเซ็นเซอร์ต่างๆ จนมาถึงช่วงโควิดปีที่แล้ว เราเริ่มคุยกันว่าอยากหาโพรดักส์หนึ่ง เรายังคงรับงานเซอร์วิสแต่ด้วยความชอบของคนในทีมเราก็พยายามหาโพรดักส์ที่ตอบโจทย์ช่วงโควิด ที่มันมีความ Automate ไม่ต้องมีพนักงานคอยเฝ้าตู้เพื่อป้องกันในส่วนของการแพร่เชื้อและลดการสัมผัส เราก็มีการทำรีเสิร์ชและเจาะทาเก็ตคือกลุ่มวัยรุ่น และเราเจอเทรนด์ต่างๆ จากฝั่งยุโรป เกาหลีเรื่องเทรนด์การทำ Photo booth เราก็เอ๊ะ ในไทยยังไม่มี จากเดิมที่เรารับงานเซอร์วิสอยู่แล้ว อย่าง Photo booth ของอีเวนต์ของ Andy Warhol เราพัฒนาซอฟต์แวร์และทำได้เอง เราเลยอยากทำ Photo booth ออกมาให้คนไทยได้เล่น”
เป้าหมายหลักของตู้สติกเกอร์ Flashback นั้นคือการเปรียบตัวเองเป็นแพลตฟอร์มหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถเก็บความทรงจำดีๆ ของตนเองเอาไว้ เมื่อย้อนดูเมื่อไรก็รู้สึกได้ถึงความสุขในห้วงเวลานั้น
"เรามองเข้าไปในตัวโพรดักส์ว่าพื้นเพของการทำตู้ถ่ายรูป หลักๆ คือการเก็บความทรงจำ ไม่ว่าจะกับเพื่อน คนรัก ครอบครัว ฉะนั้น การที่เราตั้งชื่อ Flashback คือการย้อนกลับไปในความทรงจำช่วงเวลานั้น"
กลยุทธ์ปั้นธุรกิจโต
เปิด 7 เดือนลูกค้าใช้บริการหลักแสนคน
เปิด 7 เดือนลูกค้าใช้บริการหลักแสนคน
หลังจากที่ตู้สติกเกอร์ Flashback เปิดตัวในช่วงต้นปีที่ผ่านมาที่ Gump Ari ในระยะเวลาเพียงไม่นานก็กลายเป็นไวรัล มีลูกค้ามาใช้บริการอย่างล้นหลามรวมถึงเหล่า Influencer หรือสื่อที่เข้ามารีวิว โดยปัจจุบันตู้สติกเกอร์ Flashback มีมากกว่า 10 สาขา อาทิ Gump Ari, theCOMMONS, ASAP เป็นต้น
โดยกลยุทธ์ที่ทำให้ตู้สติกเกอร์ของ Flashback เติบโตเร็วนั้นคือการวาง Business Model ที่เข้มแข็ง ซึ่งพิธิวัฒน์ได้เล่าถึง Business Model ของเขาว่าแบ่งออกเป็นทั้งหมด 4 ส่วนด้วยกันนั่นคือ Customer Centric, Product Customization, Omnichannel และ Data collection system
- Customer Centric - คิดถึงลูกค้าก่อน
กลยุทธ์สำคัญยืนหนึ่งในการทำธุรกิจของ Flashback คือ Customer Centric โดย พิธิวัฒน์ ได้เล่าถึงการวางกลุ่มเป้าหมายและการรีเสิร์ชอย่างเข้มข้นเพื่อเข้าใจถึงกลุ่มลูกค้าของเขาอย่างแท้จริง
“ช่วงแรกของ Flashback ก่อนที่จะเป็นกระแสดัง ตอนนั้นเราไปเริ่มที่ Gump Ari และสร้างปรากฎการณ์ที่สำนักข่าว Influencer ต่างมารีวิว มาสัมภาษณ์ ซึ่งเราเริ่มหาทาร์เก็ตก่อนว่าลูกค้าเราคือใคร เรามองว่า Gump Ari เป็นจุดที่รวมกลุ่มลูกค้าเราค่อนข้างเยอะ ช่วงแรกทีมเราทั้งบริษัท ไปอยู่ที่สถานที่จริง เราศึกษา UX/UI ทำ Development เราไปดูแลทุกจุด ทำรีเสิร์ชและพัฒนาจนถึงปัจจุบัน เราไม่เคยหยุดทำ R&D เป็นส่วนสำคัญี่ทำให้โพรดักส์ของเราดีขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ตู้สติกเกอร์ในแต่ละโลเคชั่นก็แตกต่างกัน เราเป็นเหมือนแพลตฟอร์มหนึ่งในการดึงสตอรี่ของสถานที่ออกมา เช่น Gump Ari ตัวเฟรมหรือตู้จะสดใส น่ารัก หรือถ้า theCOMMONS ทองหล่อ, ศาลาแดง จะปรับดีไซน์ให้มีความวินเทจมากขึ้น ค่อนข้างฮิปสเตอร์นิดๆ เพราะทาร์เก็ตของทั้งสองที่จะแตกต่างกัน”
- Product Customization - ปรับเปลี่ยนตามโจทย์ให้ตรงใจ
สำหรับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของ Flashback ไม่ได้มองแค่กลุ่ม B2C เท่านั้น แต่เขายังครอบคลุมทั้ง B2B และ Event ด้วย ซึ่ง Product Customization คือจุดที่ทำให้ตู้สติกเกอร์ของ Flashback นั้นสตรองมาก เนื่องจากความเชี่ยวชาญด้านซอฟต์แวร์และมีพาร์ทเนอร์ที่ดี
“เราค่อนข้างเชี่ยวชาญด้านซอฟต์แวร์และมีพาร์ทเนอร์ที่ดี ทำให้เราพัฒนาตัวโพรดักส์ได้มีประสิทธิภาพและตรงจุด เราตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าทั้ง 3 กลุ่มได้ เราสามารถปรับเปลี่ยนได้ทั้งหมด ทั้งตัวเฟรมของรูปที่จะพิมพ์ออกมา เราทำ Cuztomize ให้แบรนด์หรือพาร์ทเนอร์ได้หมดเลย เช่น ตัวเฟรมของ theCOMMONS เราร่วมกับ Bunny Shoot Film ออกแบบเฟรมพิเศษ และเราทำให้ Traffic ของ theCOMMONS โตมากกว่า 100% อย่าง Gump Ari ทุกร้านในนั้นแฮปปี้ เพราะเราดึง Traffic ได้ค่อนข้างเยอะ เราไม่ได้เป็นแค่โพรดักส์แต่เป็น Marketing Tool ให้พาร์ทเนอร์ได้ด้วย ”
- Omnichannel - ไร้รอยต่อระหว่างออนไลน์และออฟไลน์
“กลยุทธ์อีกอย่างของเราคือการเป็น Omnichannel เราผนวกออนไลน์กับออฟไลน์เข้าด้วยกัน เราให้ราคา 100 บาทในการถ่ายรูป 1 ครั้ง ลูกค้าได้รูปพิมพ์ออกมาแบบดั้งเดิม รวมถึงการสแกน QR เพื่อเก็บไฟล์ดิจิตอลได้ ตรงนี้ไม่จำเป็นต้องมีสตาฟ ลูกค้าทำการจ่ายเงินได้ เรามีตู้เก็บเงิน เก็บธนบัตรรวมถึงการจ่ายออนไลน์ เรากำลังพัฒนาให้รวดเร็วมากขึ้นเพื่อที่จะทำให้ลูกค้ารู้สึกปลอดภัยและอยากมาเล่นตู้เรา”
- Data collection system - ใช้ดาต้าพัฒนาโพรดักส์
เมื่อข้อมูลคือสิ่งที่มีมูลค่า ยิ่งธุรกิจยุคใหม่ยิ่งต้องใช้ข้อมูลที่มีในมือให้เป็นประโยชน์ อย่าง Flashback มีการเก็บข้อมูลของผู้ใช้งานเพื่อนำมาพัฒนาโพรดักส์ให้ดียิ่งขึ้น
“เรามีการเก็บดาต้าทุกอย่าง ทุกการเล่นต่อหนึ่งครั้งของลูกค้าเพื่อที่เราสามารถนำไปใช้รวมถึงการพัฒนา ว่าเราจะเลือกใช้เฟรมรูปแบบไหนที่กลุ่มลูกค้าชื่นชอบ ช่วงเวลาไหนที่ลูกค้ามี Traffic แน่น เรามีการจัดการในส่วนของ Frontend และ Backend มาประมวลผลและแชร์ให้พาร์ทเนอร์ของเราเพื่อเอาไปพัฒนาต่อในส่วนการทำ Online Marketing หรือ Targeting ได้ โดยตอนนี้เรายังไม่เห็นตัวยูนีคยูเซอร์ รวมๆ ถ้าเอายูเซอร์อย่างเดียว ก็นับว่าเป็นแสนคนเหมือนกันที่มาเล่นกับทางเราแล้ว เราไม่เคยนึกมาก่อนว่าจะมีคนมาเล่นจำนวนครั้งเยอะกับเราขนาดนี้”
นี่คือเรื่องราวความสำเร็จของแบรนด์ที่เติบโตได้โดยฝีมือของผู้ก่อตั้งทั้ง 3 คนตั้งแต่อายุแค่ 25 ปี โดยพวกเขาแต่ละคนมีความเชี่ยวชาญกันคนละด้าน ทำให้มีมุมมองของการดำเนินธุรกิจที่กว้างขึ้น ลึกขึ้น
“เรามองกันคนละมุม สุดท้ายมา Brainstorm กัน ทำให้เราตอบโจทย์ในหลายรูปแบบและการแก้ปัญหาจะมองกันหลายมุม ในปัจจุบัน เรามองว่าลูกค้าสำคัญมาก เราต้องส่งมอบโพรดักส์หรือเซอร์วิสที่เหนือความคาดหวังของลูกค้า ตรงนี้มองว่าเป็นสิ่งสำคัญในการที่ทำให้เราก้าวมาถึงจุดนี้ได้” เขากล่าวปิดท้าย
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup