Tech Startup

ยังโตได้อีก! โอกาสตลาด Health Tech เม็ดเงินสูงแตะ 400 ล้านบาท ตอบรับยุคผู้บริโภครักสุขภาพ

     ที่ผ่านมาธุรกิจสุขภาพและสถานพยาบาลได้ปรับตัวเพื่อตอบกระแสการดูแลสุขภาพแบบป้องกัน (Preventive Healthcare) ควบคู่ไปกับการรักษาโรค รวมถึงการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ของไทยในปี 2565 ที่จะมีจำนวนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป รวมกว่า 14 ล้านคน ทำให้มีความต้องการสินค้าและบริการด้านสุขภาพเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย โดยรูปแบบธุรกิจจะเปลี่ยนจากการรักษาโรคและดูแลผู้ป่วยเป็นหลัก ไปสู่การดูแลสุขภาพแบบครบวงจรโดย Health Tech ได้เข้ามามีบทบาทเพื่อตอบสนองความต้องการที่จะเพิ่มขึ้นดังกล่าว อีกทั้งสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ก็เร่งให้เกิดการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้มากขึ้นในการช่วยลดความเสี่ยงและยกระดับการบริการ


     แม้ที่ผ่านมาเริ่มมีการนำ Health Tech มาใช้ในไทยบ้างแล้ว แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นเทคโนโลยีที่ไม่ซับซ้อน ทั้งในส่วนของการนำมาใช้สำหรับภาคธุรกิจ (B2B) และการใช้งานของผู้บริโภคโดยตรง (B2C) โดยที่ผ่านมาตลาดผู้ใช้งาน Health Tech ในไทยส่วนใหญ่ยังเป็นภาคธุรกิจในรูปแบบ B2B มากกว่าการใช้งานของผู้บริโภคแบบ B2C โดยเฉพาะการใช้ในธุรกิจโรงพยาบาลและบริการสุขภาพรายใหญ่ 




     ในขณะเดียวกันพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาใส่ใจสุขภาพ ประกอบกับการระบาดของโควิด-19 ก็เร่งให้มีความต้องการด้านบริการสุขภาพและดูแลป้องกันโรคมากขึ้นด้วย


     การใช้ Health Tech ของภาคธุรกิจ (B2B) ได้นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้สำหรับการจัดการภายในองค์กรและยกระดับการบริการ เช่น ระบบจัดการข้อมูลผู้ป่วย ระบบการปรึกษาแพทย์ทางไกล หุ่นยนต์บริการดูแลผู้ป่วย โดยการลงทุนของภาคธุกิจใน Health Tech ส่วนใหญ่ยังจำกัดอยู่ในกลุ่มผู้เล่นรายใหญ่ เนื่องจากมีศักยภาพและความพร้อมในการลงทุน รวมถึงความคุ้มค่าในการใช้งานในระยะยาวมากกว่าผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ในขณะที่ธุรกิจสุขภาพ SME อาจไม่ได้ลงทุนในระบบ Health Tech ของตนเอง แต่อาศัยการใช้งานแพลตฟอร์มตัวกลางในการเข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น เช่น แพลตฟอร์มเชื่อมโยงร้านขายยา ร้านสินค้าสุขภาพในเครือข่าย เพื่อสั่งจ่ายยาให้ได้ในกรณีที่ผู้ป่วยพบแพทย์ทางไกลได้ 




     ในขณะที่ตลาดผู้ใช้งาน Health Tech แบบ B2C พบว่า ผู้บริโภคมีแนวโน้มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาทำกิจกรรมสุขภาพมากขึ้น และมีการใช้แอปพลิเคชันเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟน พร้อมกับอุปกรณ์ตรวจวัดข้อมูลสุขภาพต่างๆ เช่น สมาร์ทวอช หรืออุปกรณ์ออกกำลังกายมากขึ้น โดยเฉพาะวัยทำงานอายุ 30-39 ปี เป็นกลุ่มที่มีความถี่และค่าใช้จ่ายในการใช้งาน Health Tech มากที่สุด อาทิ คลาสออกกำลังกายออนไลน์ และปรึกษาแพทย์ทางไกล ถึงแม้ที่ผ่านมาการใช้งาน Health Tech อาจยังไม่แพร่หลายมากนัก แต่ในช่วงโควิด-19 ได้มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ไม่ว่าจะเป็นการติดตามการแพร่ระบาด ประเมินอาการเบื้องต้น รวมถึงลงทะเบียนรับวัคซีน เพื่อช่วยลดความเสี่ยงและสร้างความคุ้นเคยการใช้งานแอปพลิเคชันและระบบสุขภาพออนไลน์มากขึ้น
 

     ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า เม็ดเงินการใช้จ่ายสำหรับ Health Tech ในไทยปี 2564 จะอยู่ที่ประมาณ 300-400 ล้านบาท และคาดว่าในระยะ 3 -5 ปีข้างหน้า ตลาด Health Tech ของไทยน่าจะเติบโตได้ในช่วง 10-12% (CAGR) เป็นผลจากความต้องการบริการสุขภาพที่มีคุณภาพและทั่วถึงมากยิ่งขึ้น โดยมูลค่าตลาดส่วนใหญ่จะเป็นรูปแบบ B2B ผ่านการให้บริการของสถานพยาบาลและธุรกิจสุขภาพนำโดยผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีศักยภาพในการลงทุน มีสัดส่วน 65-75% ของมูลค่าตลาดรวม มากกว่าตลาดแบบ B2C เช่น แอปพลิเคชันสุขภาพบนมือถือ เนื่องจากธุรกิจสามารถเข้าถึงผู้ใช้บริการได้จำนวนมากและมีค่าใช้จ่ายต่อหน่วยในการลงทุน Health Tech ที่สูงกว่า ในอีกทางหนึ่ง ก็แสดงถึงโอกาสในการเข้าถึงตลาด B2C สำหรับผู้เล่นระดับรองลงมา ทั้งผู้พัฒนาแอปพลิเคชันหรือผู้ให้บริการสุขภาพที่นำ Health Tech มาใช้เป็นจุดขาย ที่จะตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าสำคัญอย่างวัยทำงานที่มีกำลังซื้อและสนใจทดลองใช้งานเทคโนโลยีใหม่ๆ


 

     ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ในระยะ 3-5 ปี ข้างหน้า ตลาด Health Tech ในไทยมีโอกาสเติบโตจากจำนวนธุรกิจและผู้ใช้งานที่จะหันมาใช้เทคโนโลยีสุขภาพมากขึ้น อย่างไรก็ดี การใช้งานในระยะนี้ยังคงเป็นการใช้งานเทคโนโลยีที่ยังไม่ซับซ้อน แต่มีการพัฒนาฟังก์ชันให้ตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้น ในขณะที่กลุ่มเทคโนโลยีที่มีความซับซ้อนและต้องใช้ความแม่นยำสูง น่าจะยังอยู่ในช่วงการศึกษาเพิ่มเติมและจำกัดอยู่ในกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ เนื่องจากมูลค่าการลงทุนค่อนข้างสูง


     โดยการใช้งานในภาคธุรกิจจะขยายจากการใช้งานในโรงพยาบาลไปสู่บริการสุขภาพอื่นๆ โดยเฉพาะธุรกิจ Nursing Home และ Retirement Community ที่มีจำนวนรวมกันไม่น้อยกว่า 2,000 รายซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจ SME และคาดว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งจะนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ให้สามารถดูแลผู้รับบริการได้ทั่วถึงและสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัย และการพัฒนาการให้บริการ Health Tech ของไทย น่าจะอยู่ในรูปแบบความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการรายเดิมในธุรกิจสุขภาพที่มีความเชี่ยวชาญกับผู้พัฒนาเทคโนโลยีรายย่อยหรือสตาร์ทอัพ ในการขยายตลาด Health Tech ในไทย โดยเฉพาะการขยายการใช้งานในธุรกิจบริการสุขภาพนอกสถานพยาบาล และอุปกรณ์การแพทย์ที่บ้าน ทั้งนี้ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับมาตรฐานความปลอดภัย ความแม่นยำ และบุคลากรที่ได้รับการรับรอง เพื่อให้สร้างความเชื่อมั่นในการใช้บริการ


     ในขณะที่ความต้องการใช้งานของผู้บริโภคก็คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากปัจจัยความตระหนักด้านสุขภาพของผู้บริโภค แต่สถานการณ์โควิด-19 ก็ทำให้ผู้บริโภคมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเพิ่มขึ้น ประกอบกับภาวะคนตกงานและขาดรายได้ในระยะนี้ ดังนั้นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของ Health Tech ก็จะเป็นกลุ่มที่อาจยังมีกำลังซื้อในการใช้จ่ายด้านสุขภาพเพิ่มเติมใน 3 กลุ่มหลัก คือ

1) กลุ่มผู้สูงอายุระยะต้น อายุ 60-69 ปี ที่มีสัดส่วนมากที่สุดในจำนวนประชากรผู้สูงอายุทั้งหมด ซึ่งเป็นกลุ่มที่อาจจะยังสามารถดูแลตนเองได้และยังต้องการทำกิจกรรมต่างๆ ทำให้มีความต้องการซื้อสินค้าและใช้บริการที่ใกล้เคียงกับวัยทำงาน แต่ปรับเปลี่ยนให้มีความสะดวกสบาย ปลอดภัย โดยใช้เทคโนโลยีที่ใช้ได้ง่ายมาช่วยในการบริการ

2) กลุ่มวัยทำงานที่อาศัยอยู่กับผู้สูงอายุหรือผู้ป่วย ซึ่งอาจไม่มีเวลาเพียงพอในการดูแลด้วยตนเอง ทำให้บริการและเทคโนโลยีที่มีความปลอดภัยสูง เชื่อมต่อกับอุปกรณ์พกพาให้สามารถติดตามกิจกรรมผู้สูงอายุจากระยะไกลได้ และ

3) วัยทำงานมีแนวโน้มทำกิจกรรมสุขภาพมากขึ้น เป็นกลุ่มที่มีความคุ้นเคยในการใช้งานและสนใจทดลองใช้งานเทคโนโลยีใหม่ๆ และมักจะใช้งานอุปกรณ์บันทึกข้อมูลสุขภาพหรือใช้บริการสุขภาพ/ออกกำลังกายผ่านช่องทางออนไลน์ เนื่องจากมีความสะดวกในการเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟน อุปกรณ์ออกกำลังกาย รวมถึงแอปพลิเคชันวิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพต่างๆ




     อย่างไรก็ดี ธุรกิจจะต้องพิจารณาปัจจัยกำลังซื้อและการเข้าถึงเทคโนโลยีของผู้บริโภค เพื่อให้สามารถเข้าถึงลูกค้าเป้าหมายได้ตรงจุด สำหรับตลาดกำลังซื้อปานกลาง จะเน้นการเข้าถึงการใช้งานของคนส่วนใหญ่ เน้นฟังก์ชันพื้นฐานที่ใช้งานง่าย และผู้บริโภคกว่า 48% ของกลุ่มตัวอย่าง ยังคงใช้บริการ Health Tech เฉพาะฟังก์ชันที่ไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม หรือเป็นค่าใช้จ่ายที่รวมไปกับการให้บริการของสถานพยาบาล ในขณะที่ตลาดกำลังซื้อสูง มีความเต็มใจที่จะจ่ายสูงกว่า แต่ต้องการฟังก์ชันและบริการแบบ 1:1 ที่ออกแบบเฉพาะบุคคลมากขึ้น ซึ่งสะท้อนด้วยว่าผู้บริโภคกลุ่มนี้มีโอกาสในการเข้าถึงและคุ้นเคยกับเทคโนโลยีมากกว่า แต่บริการที่มีค่าใช้จ่ายสูงก็ยังเป็นการรับบริการรักษาโรคที่มีความจำเป็นอย่าง Telemedicine หรือการให้คำปรึกษาสุขภาพ มากกว่าบริการสุขภาพทั่วไปที่ผู้บริโภคอาจมีทางเลือกที่หลากหลายมากกว่า นอกจากนี้ ปัจจัยที่จะทำให้ผู้บริโภคหันมาใช้ Health Tech มากขึ้น ยังมีประเด็นด้านความน่าเชื่อถือ ถูกต้องแม่นยำ รวมถึงมาตรฐานในการเก็บรักษาข้อมูลส่วนบุคคลด้วย




www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup