Tech Startup

‘Nanka’ เปลี่ยนขนุนเป็นผลิตภัณฑ์ Plant-based ทดลอง 167 ครั้งกว่าจะ Success!

Text: Vim Viva
 





     ความต้องการเนื้อสัตว์ทางเลือกในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาได้เพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากผู้บริโภคได้หันมาเน้นอาหารเพื่อสุขภาพ หรือปรับวิถีชีวิตไปสู่การรับประทานอาหารมังสวิรัติหรือวีแกนมากขึ้น ตลาดโปรตีนทดแทนจากพืชจึงเติบโตเร็วมาก อย่างที่มาเลเซีย อาหารแปรรูปทดแทนเนื้อสัตว์ที่ผลิตจากพืชตระกูลถั่ว เต้าหู้ เห็ด และพืชอื่น ๆ ได้เริ่มวางจำหน่ายตามซูเปอร์มาร์เก็ตแล้ว และพืชอีกชนิดหนึ่งที่กำลังมาแรงและถูกจับตามองคือขนุนนั่นเอง 




     แม้จะมีร้านอาหารและร้านคาเฟ่บางแห่งนำขนุนมาปรุงเป็นเมนูทดแทนเนื้อสัตว์ แต่ถ้าพูดถึงในแง่ของการผลิตปริมาณมากเพื่อจำหน่ายในตลาดขนาดใหญ่ ยังถือว่าน้อยมาก ด้วยเหตุนี้ อาหมัด ไซอาฟิก จาฟาร์ นักบัญชีชาวมาเลเซียจึงชักชวนภรรยาก่อตั้งบริษัท  Nanka เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์จากขนุน


     “ตั้งแต่เด็กจนโตผมคุ้นเคยกับอาหารมาเลย์และอินเดียที่ใช้ขนุนเป็นวัตถุดิบในการปรุงอาหาร ดังนั้นจึงค่อนข้างคุ้ยเคยกับอาหารที่ทำจากขนุน อันที่จริง ถ้าลองเดินตามตลาดสดของมาเลเซีย จะเห็นมีขนุนอ่อนวางขายเพราะชาวมาเลเซียบางคนก็นำไปทำอาหาร “ ไซอาฟิกให้สัมภาษณ์และอธิบายอีกว่าโดยธรรมชาติของขนุนอ่อนจะไม่มีรสชาติ เนื้อสัมผัสหยุ่นเหนียวเมื่อนำไปทำอาหารสามารถเพิ่มรสชาติได้ด้วยเครื่องปรุงและเครื่องเทศต่าง ๆ ส่วนขนุนสุกซึ่งมีกลิ่นแรงและรสหวานจัด นิยมรับประทานสด ๆ  




     ไซอาฟิกกล่าวอีกว่าโดยทั่วไปกลุ่มเป้าหมายของผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือกจากพืชมักเป็นกลุ่มมังสวิรัติและวีแกน แต่ผู้ก่อตั้ง Nanka ไม่ต้องการจำกัดแค่กลุ่มนี้ หากยังต้องการขยายไปยังผู้บริโภคทั่วไปที่บริโภคเนื้อสัตว์ด้วย ด้วยเหตุนี้ ผลิตภัณฑ์ของบริษัทจึงมี 2 แบบให้เลือก คือ แบบทำจากขนุนกับเห็ดปลอดเนื้อสัตว์ 100 เปอร์เซนต์ กับแบบผสมในสัดส่วนขนุน 70 เปอร์เซนต์ เนื้อไก่หรือเนื้อวัว 30 เปอร์เซนต์ 


     “ปณิธานของเราคือการรณรงค์ให้พี่น้องชาวมาเลเซียรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพโดยการลดการบริโภคเนื้อสัตว์ลง รวมถึงอาหารที่แปรรูปหนักหน่วง ดังนั้น กลุ่มเป้าหมายของเราจึงเป็นคนทั่วไปที่ทานเนื้อสัตว์ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ โดยผลิตภัณฑ์ของเราที่เป็นขนุนผสมเนื้อสัตว์จะสามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคกลุ่มนี้ได้ ถ้ายังหยุดทานเนื้อสัตว์ไม่ได้ อย่างน้อยก็ได้ทานแต่ทานน้อยลง” 


     ผู้บริหาร Nanka ยังกล่าวอีกว่าผลิตภัณฑ์ขนุนผสมเนื้อสัตว์ของบริษัทใช้เนื้อคุณภาพดีมันน้อย ไม่ใช่เศษเนื้อหรือเครื่องในอย่างที่ผู้ผลิตเนื้อบดหลายรายทำ ส่วนขนุนก็ได้จากแหล่งปลูกในประเทศ Nanka เริ่มจากการผลิตแพตตี้สำหรับทำเบอร์เกอร์ ก่อนขยายไปยังผลิตภัณฑ์อื่น ได้แก่ นักเก็ต ลูกชิ้น ฮอทด็อก และเนื้อ (เทียม) บด แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ ต้องใช้เวลาถึง 5 ปี และทดลองสูตรรวมแล้ว 167 ครั้งจึงลงตัว 


     “ผมยังจำได้ แพตตี้สูตรแรกที่ทำออกมา รสชาติเหมือนเนื้อไก่ในข้าวหมกไก่เนื่องจากใส่เครื่องเทศเยอะ ส่วนเนื้อสัมผัสก็ยังไม่ดีเท่าไร เวลาพลิกกลับด้านตอนปรุง แพตตี้จะแตกออก แต่ผมก็ไม่ยอมแพ้แม้จะมีคนบอกให้ล้มเลิกความตั้งใจแล้วไปทำอย่างอื่นเถอะ”  ไซอาฟิกกล่าว 




     ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ไซอาฟิกได้ผูกสัมพันธ์กับมิตรสหายหลายคน ส่วนใหญ่เป็นเชฟ นักเทคโนโลยีด้านอาหาร ผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุดิบ หรือแม้กระทั่งคนที่เป็นแม่บ้านที่พร้อมแบ่งปันสูตรอาหารประจำตระกูล กลุ่มคนเหล่านี้มีส่วนช่วยเหลือให้ทีมของเขาปรับปรุงสูตร และค้นหาวัตถุดิบที่ใช่จนเป็นที่พึงพอใจ   


     ในส่วนของการกำหนดราคาจำหน่าย แพตตี้ 4 ชิ้น ถ้าเป็นเวอร์ชั่นปลอดเนื้อสัตว์ ราคาแพ็คละ 18 ริงกิตหรือประมาณ 140 บาท ส่วนเวอร์ชั่นมีเนื้อสัตว์ผสม ราคา 19-20 ริงกิต จะเห็นว่าราคาไม่จากการผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์จริง ๆ เลย ซึ่งอธิบายได้ว่าเนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ในตลาดและความต้องการยังไม่มากจึงทำให้ราคายังสูงอยู่ หากความต้องการในตลาดเพิ่มมากขึ้น และมีการผลิตมากขึ้น ก็มีแนวโน้มที่ราคาจะปรับลดลง 




     นอกจากจำหน่ายปลีกให้กับผู้บริโภค Nanka ยังเข้าหาลูกค้าที่เป็นกลุ่มธุรกิจ เช่น โรงแรม ร้านอาหาร คาเฟ่ และผู้ประกอบการที่ทำอาหารขายทางออนไลน์แบบไม่มีหน้าร้าน ที่ผ่านมา มีลูกค้าซื้อ Naka ไปทำเมนูต่าง ๆ หลากหลาย เช่น แกงถั่ว กะหรี่ปั๊บ และแซนด์วิช 


     ผลิตภัณฑ์โปรตีนจากขนุนเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของ Nanka โดยขณะนี้ไซอาฟิกได้รุกสู่ผลิตภัณฑ์ plant-based อื่น รวมถึงผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ที่ได้จากการเพาะเนื้อเยื่อเซลล์ในห้องแล็บเพื่อขยายผลิตภัณฑ์ให้หลากหลายขึ้น นอกเหนือจากกลุ่มเนื้อสัตว์ เขายังสนใจผลิตภัณฑ์นม เนย และไข่จากพืชอีกด้วยเนื่องจากผู้บริโภคเอเชียรวมถึงตัวเขาเองมักมีปัญหาด้านสุขภาพเมื่อบริโภคนมวัว  


 
ที่มา
https://vulcanpost.com/749524/nanka-plant-based-meat-jackfruit-malaysia/



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup