Tech Startup

มาแรงไม่แพ้ plant-based ธุรกิจอาหารทะเลเทียมจากห้องแล็บ Startup สิงคโปร์ลุยก่อนเจ้าแรกในอาเซียน

Text: Vim Viva




     ในขณะที่ฟู้ดเทคสตาร์ทอัพรายอื่นพุ่งเป้าไปที่การพัฒนาเนื้อสัตว์ทดแทนจากพืช แต่มีไม่กี่บริษัทที่ผลิต cultured meat หรือเนื้อสัตว์ที่ได้จากการเพาะเนื้อเยื่อในห้องทดลอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตอาหารทะเล อาทิ กุ้ง หอย ปู ปลาด้วยเทคโนโลยีนี้ เรียกได้ว่ามีน้อยมาก และเป็นอีกกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ยังไม่ค่อยมีสตาร์ทอัพเข้าไปแตะมากนัก ด้วยเล็งเห็นช่องว่างในตลาด สนธยา ศรีราม นักวิจัยด้านจุลชีววิทยาวัย 36 ปีซึ่งผันตัวเองมาเป็นผู้ประกอบการจึงก่อตั้งบริษัท Shiok Meats ขึ้นมาเมื่อปี 2018 เพื่อผลิตอาหารทะเลเทียมจากห้องแล็บ
               

      สนธยาในฐานะซีอีโอลงมือทำแทบทุกอย่างด้วยตัวเอง เนื่องจากสตาร์ทอัพที่เธอก่อตั้งยังขาดแคลนอุปกรณ์และห้องแล็บ ทุก ๆ เช้าเธอจึงนั่งเรือเฟอร์รี่ข้ามฟากไปยังเกาะเซนต์จอห์นซึ่งอยู่ห่างจากแผ่นดินใหญ่ 6.5 กม. ไปฝังตัวที่ห้องปฏิบัติการทางทะเลแห่งชาติบนเกาะเซนต์จอห์น พอตกเย็นก็เดินทางกลับขึ้นฝั่ง จนกระทั่งในที่สุดเธอก็มีพื้นที่ห้องแล็บเป็นของตัวเองและได้ทำการทดลองแยกสเต็มเซลล์จากกุ้ง
               




      กระทั่งเดือนพย. ปี 2020 Shiok Meats ก็ประสบความสำเร็จในการผลิตเนื้อกุ้งล็อบสเตอร์จากการเพาะเซลล์ในห้องแล็บ จากนั้นก็ผลิตเนื้อกุ้งธรรมดาตามมา และกำลังอยู่ระหว่างพัฒนาเนื้อปู โดยที่เนื้อกุ้งเทียมจากห้องแล็บนั้นจะมีสัมผัสคล้ายเนื้อบด แต่รสชาติเหมือนกุ้ง  ส่งผลให้ Shiok Meats ขึ้นแท่นบริษัทแรกในอาเซียนที่ผลิตเนื้อกุ้งจากแล็บเชิงพาณิชย์โดยคาดว่าจะเริ่มวางจำหน่ายในปี 2022 ทั้งนี้ ต้นทุนการผลิตเนื้อกุ้งเทียมจากแล็บยังคงสูงอยู่ โดยปัจจุบัน ต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 5,000 ดอลลาร์ต่อตัน แต่สนธยาตั้งเป้าจะพยายามทำให้ราคาจำหน่ายลดลงกว่านี้
               

      บนเส้นทางก่อนที่กลายมาเป็นเจ้าของฟู้ดเทคสตาร์ทอัพ สนธยาเป็นชาวรัฐคุชราต อินเดียโดยกำเนิด ตั้งแต่เด็ก สนธยามีความสนใจเกี่ยวกับโครงสร้างมนุษย์ พืช และสัตว์ จึงไม่แปลกเมื่อเข้ามหาวิทยาลัยตั้งแต่ปริญยาตรีจนถึงปริญญาโท เธอจะเลือกเรียนสาขาจุลชีววิทยา กระทั่งเรียนจบเป็นมหาบัณฑิตตอนอายุเพียง 23 ปี เธอก็บินมาศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยนันยาง สิงคโปร์ และได้รับการเสนองานในตำแหน่งนักวิทยาศาสตร์ประจำสถาบันวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและวิจัยของสิงคโปร์ ก่อนตัดสินใจตั้งรกรากถาวรบนเกาะเล็ก ๆ แห่งนี้
               

      อาชีพการงานของสนธยาในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านสเต็มเซลล์ก้าวหน้าด้วยดี แต่วิญญาณของการเป็นผู้ประกอบการที่กรุ่นอยู่ภายในทำให้เธอก้าวออกจากพื้นที่ปลอดภัยและชักชวนดร. คา ยี หลิง เพื่อนร่วมงานก่อตั้งบริษัท Shiok Meats ขึ้นมา Shiok เป็นภาษามาเลย์ อ่านว่า “โชก” แปลว่า ดี หรือ อร่อย หลังประสบความสำเร็จในการผลิตเนื้อกุ้งจากห้องแล็บ บริษัท Shiok Meats ก็มีเม็ดเงินจากนักลงทุนไหลเข้ามาสนับสนุน 12.6 ล้านดอลลาร์ และเธอได้ตัดสินใจลาออกจากงานประจำเพื่อทุ่มเทให้กับธุรกิจนี้ท่ามกลางเสียงคัดค้านของคนรอบข้าง 
               




      ต้องยอมรับว่าสนธยามีวิสัยทัศน์เกี่ยวกับธุรกิจเนื้อสัตว์จากห้องแล็บ เธอมองว่าอย่างธุรกิจเกี่ยวกับกุ้งซึ่งมีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์นั้นก็มีประเด็นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเยอะ องค์การอาหารและเกษตรกรรมของสหประชาชาติระบุ ปี 2018 ทั่วโลกมีการบริโภคอาหารทะเลรวม 150 ล้านตัน โดย 70 เปอร์เซ็นต์เป็นการบริโภคในเอเชีย ขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมประมงก็เริ่มถดถอยเนื่องจากปริมาณสัตว์ทะเลโดยเฉพาะปลาที่จับได้มีแนวโน้มลดลง ดังนั้น การพัฒนาเนื้อสัตว์ทะเล ไม่ว่าจะเป็น กุ้ง หอย ปู ปลาจึงน่าจะเป็นทางเลือกที่ทดแทนได้ดี ทั้งยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
               

    ในสหรัฐฯ ผลิตภัณฑ์อาหารทะเลจากพืชยังเพิ่งเริ่มต้น คิดเป็นสัดส่วน 0.06 เปอร์เซ็นต์ของตลาดค้าปลีกอาหารทะเลในสหรัฐฯ ที่มีมูลค่า 15,000 ล้านดอลลาร์ ตลาดอาหารทะเลทางเลือกจึงถือเป็นตลาด blue ocean หรือตลาดน่านน้ำสีครามที่การแข่งขันยังไม่สูง และเทคโนโลยีการเพาะเซลล์ในห้องแล็บเพื่อให้เกิดเนื้อเทียมก็เป็นวิธีการที่ดี สามารถตอบโจทย์ความต้องการอาหารทะเลที่สูงขึ้นในตลาด 
               

     สนธยาเชื่อมั่นราวปี 2030 หรืออีกไม่ถึง 10 ปีข้างหน้าอาหารทะเลจากห้องแล็บจะกลายเป็นสินค้าหลักที่บริโภคทั่วไป เมื่อประชาชนเดินเข้าแผนกเนื้อสัตว์ในซูเปอร์มาร์เก็ตจะเห็นเนื้อสัตว์และอาหารจากห้องแล็บวางจำหน่ายรวมกับเนื้อสัตว์และอาหารทะเลจากพืช ขณะเดียวกัน ความต้องการของผู้บริโภคต่ออาหารประเภทนี้ก็จะสูงขึ้นเรื่อย ๆ
 
 
ที่มา
https://asia.nikkei.com/Business/Startups/Singapore-cultured-shrimp-meat-maker-fights-for-fishery-resources
https://asia.nikkei.com/Spotlight/DealStreetAsia/Shiok-Meats-raises-12.6m-as-it-refines-faux-shrimp


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup