Tech Startup

เจาะลึก ARI-Tech 3 นวัตกรรมทำแล้วรุ่ง โอกาสของ Startup สาย DEEPTECH อยากโตระดับพันล้าน




     หากพูดถึงแนวโน้มการเติบโต และความน่าสนใจสำหรับการลงทุนใน Startup ขณะนี้หลายฝ่ายมุ่งเป้าไปที่สตาร์ทอัพเทคโนโลยีเชิงลึก หรือดีพเทคสตาร์ทอัพ (DeepTech Startup) ซึ่งเป็นกลุ่มเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ผู้ใช้งานและผู้บริโภคได้อย่างหลากหลาย และเป็นกลุ่มที่มีแต้มต่อในการแข่งขันเนื่องจากเลียนแบบได้ยาก ตลอดจนมีวงจรการดำเนินธุรกิจที่ยาวนานกว่าเนื่องจากสามารถบูรณาการในอุตสาหกรรมได้หลายรูปแบบ โดยเฉพาะ ARI Tech (Artificial Intelligence – Robotics – Immersive, IoT) ซึ่งเป็นกลุ่มที่สามารถตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมได้หลากหลายด้าน และคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าสูงมากถึง 3 แสนล้านดอลล่าร์สหรัฐ 


     จากข้อมูลพบว่าการทำ DeepTech Startup ในภูมิภาคอาเซียนมี 2 ประเทศที่ให้ความสำคัญอย่างจริงจังนั่นคือ ประเทศสิงคโปร์และประเทศไทย ในส่วนของสิงคโปร์นั้นมีสตาร์ทอัพกลุ่มดีพเทคเกิดขึ้นแล้วประมาณ 65 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มการเงินและทั้งหมดที่เกิดขึ้นได้รับการลงทุนจากนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง





     สำหรับในประเทศไทยกลุ่ม DeepTech ก็กำลังเป็นกลุ่ม Startup ที่มีทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนให้ความสนใจในการส่งเสริมเช่นเดียวกัน แม้จะยังมีจำนวนดีพเทคสตาร์ทอัพไม่มากนัก แต่ถือว่ามีจำนวนผู้ให้ความสนใจอยู่ในระดับที่ดี


   ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า  แม้ Deeptech จะเป็นการใช้เทคโนโลยีชั้นสูง และต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3-5 ปีเพื่อจะสร้างธุรกิจให้เกิดขึ้นมาได้ แต่ถ้าไม่เริ่มทำวันนี้ไม่ใช่แค่ช้าไปแต่อาจจะถือเป็นความเสี่ยงที่สร้างความเสียหายในระดับประเทศ 





     “ขณะนี้โลกกำลังเข้าสู่พลังงานยานยนต์ทางเลือก หลายๆ ประเทศกำลังออกกฎให้ใช้ยานยนต์สมัยใหม่ ภายใน 5 ปีข้างหน้า ถ้าเราไม่พัฒนาปรับตัวให้เป็น advanced manufacturing หรือ deeptech ก็จะมีความเสี่ยงตามมาแน่นอน”


    ดร. พันธุ์อาจ อธิบายเพิ่มเติมว่าในการทำ Deeptech นั้นนอกจากต้องใช้เวลานานแล้วยังต้องมี ecosystem ที่เข้มแข็ง ด้วยเหตุนี้ภาครัฐจึงมีนโยบายที่จะผลักดันให้ EEC (Eastern Economic Corridor) มีความพร้อมหลายด้าน ทั้งความพร้อมของพื้นที่พิเศษที่มีโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวก มีอุตสาหกรรมทั้งขนาดเล็กขนาดใหญ่ จึงเหมาะที่จะเป็นพื้นที่ Sandbox เพื่อต่อยอด Startup สาย Deeptech





      โอกาสเติบโต ARI-Tech


     ดร.พันธุ์อาจ กล่าวว่า ปัจจุบัน NIA เร่งแผนพัฒนาดีพเทคสตาร์ทอัพในประเทศ ชูเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเป็นแซนด์บ็อกซ์แห่งใหม่ มีการทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรมได้มากขึ้น พร้อมเตรียมสนับสนุนสตาร์ทอัพกลุ่มอารีเทค:  ARI Tech (Artificial Intelligence – Robotics – Immersive, IoT ซึ่งเป็นกลุ่มที่ประเทศไทยมีความพร้อมและมีโอกาสเติบโตในตลาดโลก 
 

     ทั้งนี้จากข้อมูลตั้งแต่ปี 2018-2021 นี้มูลค่าของ AI มีการเติบโต 10 เท่า มีการประมาณการว่าตลาด AI ทั่วโลกมีมูลค่าถึง 3 หมื่นล้านเหรียญ และภายใน 5 ปีข้างหน้ามีมูลค่าถึง 2 แสนล้านเหรียญ


     ขณะที่ตัว robotics เฉพาะที่ใช้เป็นแขนหุ่นยนต์อุตสาหกรรม มีมูลค่าประมาณหมื่นกว่าล้าน และจะมีมูลค่า 5 หมื่นกว่าล้านเหรียญ ภายใน 5 ปีข้างหน้า


     ทางด้าน Immersive แม้จะมีมูลค่าน้อยสุดหลักพันล้านเหรียญ แต่อาจถึง 3 หมื่นล้านเหรียญในอีก 5 ปีข้างหน้า 


     “คาดว่าในปี 2566 จะมี Startup กลุ่มนี้เกิดขึ้นอย่างน้อย 10 ราย และได้รับการลงทุนไม่ต่ำกว่ารายละ 30 ล้านบาท”





      ดร.พันธุ์อาจ กล่าวต่อไปว่า โอกาสการเติบโตของดีพเทคสตาร์ทอัพสาย ARItech ในพื้นที่อีอีซีนั้นมีค่อนข้างมาก เพราะปัจจุบันมีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรินิกส์ เกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และอาหาร เป็นต้น


     "ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีของทั้งดีพเทคสตาร์ทอัพและบริษัทเอกชนในพื้นที่ ทั้งนี้ แม้ว่าดีพเทคจำเป็นต้องใช้เวลานานกว่า 3-5 ปีในการสร้างเทคโนโลยี แต่ NIA มองว่าประเทศไทยจะต้องเริ่มทำตั้งแต่วันนี้ เพื่อสร้างความพร้อมในการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคอตสาหกรรม 4.0 อย่างเต็มรูปแบบและฟื้นฟูประเทศหลังจากเกิดวิกฤติ ในรอบนี้ผ่านพ้นไป


     ดร.พันธุ์อาจ กล่าวทิ้งท้ายว่า ในปี 2564-2566 NIA มีแผนและนโยบายส่งเสริมให้สตาร์ทอัพไทยเริ่มผันตัวเองเข้ามาทำดีพเทคผ่านโครงการส่งเสริมธุรกิจนวัตกรรมที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกระดับภูมิภาค (Deep-Tech Regionalization) ซึ่งเป็นการกระจายองค์ความรู้ นวัตกรรมไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ


     โดยตั้งเป้าหมายว่าในปี 2566 จะต้องมีบริษัทที่สามารถจดทะเบียนเป็นบริษัทดีพเทคได้ประมาณ 100 ราย และหนึ่งในจำนวนดังกล่าวต้องมีบริษัทสตาร์ทอัพด้านอารีเทคประมาณ 10 ราย พร้อมทั้งคาดการณ์ไว้ว่าจะเกิดการลงทุนในสตาร์ทอัพในระดับ Pre-series A อย่างน้อยประมาณรายละ 30 ล้านบาท โดยนอกเหนือจาการผลักดันกลุ่มอารีเทคให้เติบโตในพื้นที่อีอีซีแล้ว สาขาอื่น ๆ ที่มีศักยภาพก็จะได้รับการสนับสนุนในรูปที่เหมาะสมเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ หากทั้งสตาร์ทอัพและกลุ่มอุตสาหกรรมได้พัฒนาไปพร้อมกัน NIA เชื่อว่าจะได้เห็นพื้นที่อีอีซี เต็มไปด้วยความทันสมัยและมีความเชื่อมั่นในการลงทุนเทียบเท่ากับประเทศชั้นนำด้านเทคนโลยีได้แน่นอน 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup