Tech Startup

ทำความรู้จัก AgriTech เทคโนโลยีจะมาพลิกโฉมเกษตรไทยขยับรายได้หลักหมื่นเป็นเงินแสน




     แม้ปัจจุบันการใช้เทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ หรือ AgriTech ในไทยจะยังอยู่ในระยะเริ่มต้น แต่จากราคาเทคโนโลยีที่ถูกลงและความรู้ด้านเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้ AgriTech ในทุกระดับตั้งแต่กลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ Startup และบริษัทขนาดใหญ่ มีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาพัฒนาการเกษตรทั้งในพื้นที่ขนาดใหญ่และพื้นที่ที่จำกัด จากการคาดการณ์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย  AgriTech ในไทยจะมีบทบาทมากขึ้นในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า 


     มีการประเมินว่า มูลค่าตลาด AgriTech ทั่วโลกจะมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีด้วยตัวเลขสองหลักถึงร้อยละ 12.1 ต่อปีในช่วงปี 2563-2570 โดยมีมูลค่า 17,443 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2562 และจะเพิ่มขึ้นเป็น 41,173 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2570 จากการที่หลายประเทศทั่วโลกได้มีการนำ AgriTech ซึ่งมีหลักการทำงานแบบเกษตรแม่นยำ (Precision Farming) ผ่านหัวใจสำคัญคือ IoT และ Big Data มาช่วยทำการเกษตรอย่างแพร่หลาย





     โดยมีแรงผลักดันมาจากข้อจำกัดด้านการเกษตรอย่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น พฤติกรรมผู้บริโภคที่ต้องการสินค้ามีคุณภาพมากขึ้น เช่น สินค้าออร์แกนิค ตลอดจนแนวโน้มการขาดแคลนแรงงานภาคเกษตร ซึ่ง AgriTech จะเข้ามาช่วยปลดล็อกข้อจำกัดดังกล่าว จึงเป็นคำตอบของเกษตรกรในอนาคตเพื่อใช้ยกระดับประสิทธิภาพด้านการเกษตรตลอดสายการผลิตให้ดีขึ้นทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ โดยจะเป็นภาพของการทำเกษตรที่คล้ายกับการดำเนินงานในอุตสาหกรรมในแง่ที่มีการตรวจวัดตัวแปรต่างๆ เพื่อให้สภาพแวดล้อมอยู่ในภาวะที่ควบคุมได้แบบ Real Time ทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าการทำเกษตรแบบดั้งเดิม     


     ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า AgriTech ที่ไทยควรมุ่งไป อาจจะเป็น AgriTech สำหรับการลงทุนในพื้นที่ที่จำกัด เนื่องจากสร้างมูลค่าเพิ่มได้สูงและสามารถเอาชนะข้อจำกัดของสภาพภูมิอากาศได้อย่างเต็มรูปแบบ แต่เงื่อนไขความสำเร็จ จะขึ้นอยู่กับการวิเคราะห์ภาพตลาดหรือกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ระบบโลจิสติกส์ตลอดสายการผลิต ความพร้อมด้านเงินทุนและเทคโนโลยี ทำเลที่ตั้ง ซึ่งจะมีผลต่อความสามารถในการแข่งขันและการทำกำไรในระยะยาว



 
     AgriTech ที่เกิดขึ้นในพื้นที่เกษตรขนาดใหญ่และพื้นที่ที่จำกัด มีรายละเอียด ดังนี้ 
 
 
     พื้นที่ขนาดใหญ่


     มี AgriTech หลายรูปแบบ เช่น โดรนเพื่อการเกษตร, เครื่องกำจัดวัชพืชควบคุมด้วยระบบ GPS, รถแทรกเตอร์อัตโนมัติติด GPS, เครื่องเก็บเกี่ยวอัตโนมัติ, เซนเซอร์ เป็นต้น แต่จะขอยกตัวอย่างโดรนเพื่อการเกษตร เนื่องจากเริ่มเห็นการนำโดรนเข้ามาใช้ในภาคเกษตรอย่างชัดเจนและเกษตรกรรู้จัก/ให้การยอมรับในเทคโนโลยีค่อนข้างสูง เหมาะในการนำไปใช้ในพืชกลุ่ม Commodity เช่น ข้าว อ้อย มันปะหลัง และข้าวโพด ซึ่งเป็นพืชเกษตรหลักของไทย


     โดยมองว่า ภาพของ AgriTech ที่ใช้ในพื้นที่การเกษตรขนาดใหญ่น่าจะเติบโตได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป จากราคาขายพืชที่ไม่จูงใจนักและต้องคำนึงถึงการประหยัดต่อขนาด (Economy of Scale) ร่วมด้วย ทั้งนี้ ประเมินเบื้องต้นว่า เงินลงทุนเริ่มต้นของโดรนเพื่อการเกษตรจะอยู่ที่ราว 0.17-0.25 ล้านบาท เพื่อทดแทนค่าจ้างแรงงานคนที่ใช้ในการฉีดพ่นคิดเป็นมูลค่าราว 14,400 บาทต่อเดือน ทำให้เป็นไปได้ว่า ผู้ลงทุนอาจมีระยะเวลาคืนทุนประมาณ 12-18 เดือน  




 
     พื้นที่ที่จำกัด


     มี AgriTech หลายรูปแบบ เช่น โรงงานผลิตพืช (Plant Factory), Green House, Low-Tech Plastic Hoop House, Container Farm, Indoor Deep-Water Culture เป็นต้น แต่จะขอยกตัวอย่างโรงงานผลิตพืช เนื่องจากสามารถผลิตพืชในระบบปิด ทึบแสง ด้วยการใช้ไฟ LED เป็นแหล่งกำเนิดของแสง และสามารถปลูกในแนวตั้งได้หลายชั้น ตอบโจทย์พื้นที่ที่จำกัดได้เป็นอย่างดีโดยเฉพาะในเมือง เหมาะในการนำไปใช้ในพืชกลุ่มมูลค่าสูง (High Value) เช่น ผักไฮโดรโปนิกส์ หรือพืชสมุนไพร เพื่อตอบโจทย์ตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) ที่มีกำลังซื้อสูง


    โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้โรงงานผลิตพืชได้รับความนิยม คือ ราคาขายพืชที่สูงกว่าในแปลงปลูกทั่วไปราว 2-3 เท่า พฤติกรรมผู้บริโภคที่ต้องการสินค้าเกษตรที่เป็นออร์แกนิคมากขึ้น รวมถึงเทรนด์ Farm to Table โดยมองว่า ภาพของ AgriTech ที่ใช้ในพื้นที่ที่จำกัดน่าจะเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด เนื่องจากมีมูลค่าเพิ่มสูง ทั้งนี้ ประเมินเบื้องต้นว่า เงินลงทุนเริ่มต้นของโรงงานผลิตพืชจะค่อนข้างสูงอยู่ที่ราว 2-3 ล้านบาท โดยมีรายได้ราว 0.52-0.69 ล้านบาทต่อปี ทำให้เป็นไปได้ว่า ผู้ลงทุนอาจมีระยะเวลาคืนทุนประมาณ 5-6 ปี   





     ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การใช้ AgriTech ที่ไทยควรมุ่งไป น่าจะเป็น AgriTech สำหรับพื้นที่ที่จำกัด เนื่องจากสร้างมูลค่าเพิ่มได้สูงและสามารถเอาชนะข้อจำกัดของสภาพภูมิอากาศได้อย่างเต็มรูปแบบ แต่เงื่อนไขความสำเร็จยังขึ้นอยู่กับการวิเคราะห์ภาพตลาดหรือกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ระบบโลจิสติกส์ตลอดสายการผลิต ความพร้อมด้านเงินทุนและเทคโนโลยี ทำเลที่ตั้ง ซึ่งจะมีผลต่อความสามารถในการแข่งขันและการทำกำไรในระยะยาว นอกจากนี้ คงต้องอาศัยการให้การสนับสนุนจากภาครัฐร่วมด้วย เช่น การส่งเสริมการลงทุน  สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี เป็นต้น


     สรุป การใช้ AgriTech ในภาคเกษตรไทยจะมีบทบาทมากขึ้นในระยะ 3-5 ปีข้างหน้า จากราคาเทคโนโลยีที่ถูกลงและความรู้ด้านเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้น ซึ่งไทยควรมุ่งไปสู่การใช้ AgriTech ในพื้นที่ที่จำกัด เพื่อเอาชนะข้อจำกัดของสภาพภูมิอากาศและยังสร้างมูลค่าเพิ่มสูง อันจะเป็นการยกระดับเกษตรกรไทยไปสู่นักธุรกิจเกษตรที่สามารถควบคุมการผลิตได้อย่างแม่นยำ ขายสินค้าได้คุณภาพและราคาดี โดยไม่ต้องเผชิญความผันผวนของราคาสินค้าเกษตรที่อิงไปกับตลาดโลกและยังเป็นการลดการพึ่งพามาตรการช่วยเหลือเฉพาะหน้าจากภาครัฐ อีกทั้งยังสอดคล้องกับแนวทางความยั่งยืนด้านวัตถุดิบและความสมดุลของสิ่งแวดล้อมตามกรอบโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG Model) ที่ต้องการยกระดับไปสู่นวัตกรรมการเกษตรที่เน้นการผลิตพืชมูลค่าสูงเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมเป้าหมายอย่างอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร (อาหารฟังก์ชัน/Super Food) และอุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ (พืชสมุนไพร) 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup