Tech Startup
รู้จัก Khatabook ฟินเทคดาวรุ่ง แอปฯ ถูกดาวน์โหลดกว่า 20 ล้านบัญชี มีผู้ใช้งาน 8 ล้านรายแค่ปีเศษ
อินเดียเป็นประเทศเอเชียอันดับต้นๆ ที่เป็นจุดกำเนิดของ Tech Startup ชุกชุมสุดพอๆ กับจีน และขึ้นแท่นประเทศที่มี Startup ยูนิคอร์นมากมายเมื่อเทียบกับประเทศอื่น วันนี้มีเรื่องราวของ Startup ดาวรุ่งที่แม้เปิดตัวไม่นานแต่น่าจับตามอง เนื่องจากเป็นหนึ่งในฟินเทคที่เติบโตเร็วสุดในฐานะผู้พัฒนาแอปพลิเคชันบัญชีที่ใช้งานง่ายสำหรับผู้ประกอบการขนาดจิ๋วหรือร้านค้าขนาดเล็กทั่วไป
แอปฯ ดังกล่าวมีชื่อว่า Khatabook เปิดตัวเมื่อปี 2562 ภายในระยะเวลาไม่ถึง 2 ปี แอปฯ ถูกดาวน์โหลดไปแล้วกว่า 20 ล้านบัญชี และมีผู้ใช้งานราว 8 ล้านราย ใน 4,000 เมือง ล่าสุดเมื่อต้นปีที่ผ่านมา แม้จะอยู่ในช่วงการระบาดของโควิด-19 แต่บริษัทก็สามารถระดมทุนในซีรีส์ B ได้ 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้บริษัทมีมูลค่า 300 ล้านดอลลาร์ฯ ในตลาด
จุดแข็งของ Khatabook คือ เป็นแอปฯ บัญชีแยกประเภทที่ใช้งานง่ายโดยฟีเจอร์ต่างๆ ในแอปฯ จะคล้ายแอปฯ ที่ชาวอินเดียคุ้นเคย เช่น WhatsApp ทำให้สะดวกแม้คนที่ไม่คล่องแคล่วเรื่องเทคโนโลยีก็ใช้ได้ นอกจากนั้น มีภาษาต่างๆ ให้เลือกใช้มากถึง 13 ภาษาเพื่อรองรับผู้ใช้งานในแต่ละภาคของประเทศ และสามารถใช้ได้กับทั้งมือถือ iOS และแอนดรอยด์
ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จนี้คือ รวิช นเรศ ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง Khatabook ที่สังเกตเห็นว่าแม้ร้านค้าปลีกรายเล็ก ประเภทร้านโชห่วยจะใช้สมาร์ทโฟนในการทำกิจกรรมต่างๆ แต่เมื่อต้องทำบัญชีร้าน กลับยังใช้ปากกาจดลงบนสมุด รวิชจึงเกิดความคิดพัฒนาแอปฯ ที่นำพาผู้ประกอบการรายเล็กไปสู่การทำบัญชีแบบดิจิทัล ซึ่งจะช่วยประหยัดเวลาได้มากเมื่อเทียบกับการจดลงสมุด
รวิชเล่าว่า เขาเริ่มต้นจากการยืมเงินบิดาจำนวน 1 ล้านรูปี (ราว 5 แสนบาท) เป็นทุนในการตั้งบริษัท ในการดำเนินธุรกิจช่วงแรก เงินมักขาดมือจึงต้องระดมทุนอย่างจริงจัง แต่ไม่นานหลังจากที่ธุรกิจขยายตัว การสนับสนุนจากนักลงทุนก็เพิ่มขึ้น ปัญหาอย่างหนึ่งที่เผชิญในการผลักดันให้มีการใช้งานแอปฯ Khatabook เห็นจะเป็นการโน้มน้าวให้เจ้าของร้านหันมาทำธุรกรรมผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลในขณะที่พวกเขาเคยชินกับระบบเดิมๆ
อย่างไรก็ตาม แม้บรรดาผู้ใช้งาน Khatabook จะเริ่มบอกกันปากต่อปากทำให้แอปฯ เป็นที่รู้จักมากขึ้น แต่การพยายามดึงร้านค้าให้เข้าสู่ระบบดิจิทัลก็ยังต้องดำเนินควบคู่กันไป ทั้งนี้ ร้านค้าที่ใช้แอปฯ Khatabook โดยมากอยู่ในเมืองเล็กๆ ซึ่งห่างจากเมืองใหญ่ และดำเนินธุรกิจร้านขายของชำหรือทำธุรกิจเกี่ยวกับการเกษตร ถึงกระนั้นมูลค่าการทำธุรกิจผ่านแอปฯ ในแต่ละวันก็สูงถึง 200 ล้านดอลลาร์ฯ ต่อวัน
จุดเด่นของ Khatabook ที่ทำให้โดดเด่นเหนือคู่แข่ง เช่น 1.ร้านค้าสามารถส่ง SMS ได้ฟรี ไม่ว่าจะผ่านแอปฯ Khatabook เอง หรือผ่าน WhatsApp 2.ระบบความปลอดภัยสูงในการทำธุรกรรมหรือการจัดการบัญชี 3.รองรับร้านค้าได้จำนวนมากทำให้การทำงานลื่นไหลไม่สะดุด 4.สามารถบันทึกข้อมูลในรูปแบบไฟล์ PDF 5.ใช้ได้ในหลายอุปกรณ์โดยลงทะเบียนเพียงครั้งเดียว เป็นต้น
ข้อมูลระบุในปี 2562 Khatabook สามารถระดมทุนรอบซีรีส์ A ได้รวม 87 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และปีต่อมาในการระดมทุนซีรีส์ B มีผู้ให้การสนับสนุนที่มีชื่อเสียงมากมาย เช่น บริษัท บี แคปิตัล ของเอกวาร์ดอ เซเวริน ผู้ร่วมก่อตั้งเฟซบุ๊ก บริษัท เทนเซนต์ และบริษัท ยูนิลีเวอร์ เวนเจอร์ โดยรอบนี้ได้มา 60 ล้านดอลลาร์ฯ
ดูเหมือนว่าการเกิดวิกฤตโควิด-19 จะส่งผลดี เมื่อบวกกับหลายปัจจัยทำให้พบว่าธุรกิจอยู่ตัวมากขึ้น การใช้งานแอปฯ Khatabook เริ่มขยายจากเมืองใหญ่ไปยังเมืองขนาดกลางและขนาดเล็ก เนื่องจากรัฐบาลประกาศล็อกดาวน์เพื่อลดการระบาดของโรค กิจกรรมการซื้อ-ขายออนไลน์ได้รับความนิยมมากขึ้น รวิชมองเห็นโอกาสอีกครั้ง จึงแนะนำแอปฯ ใหม่ MyStore ที่จะเอื้อให้ร้านค้าทั้งหลายเปิดร้านออนไลน์ได้รวดเร็วในเวลา 15 วินาที และมีระบบการชำระเงินที่สะดวกทั้งร้านค้าและลูกค้า เพียงแค่เดือนเดียวก็มีร้านค้ากว่า 2.5 ล้านแห่งดาวน์โหลดและใช้งาน MyStore
เท่านั้นยังไม่พอ การต่อยอดธุรกิจยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด Khatabook เปิดตัว Pagarkhata App แพลตฟอร์มที่ช่วยให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กบริหารจัดการพนักงานในสังกัด โดยนายจ้างสามารถบันทึกข้อมูล เช่น ชั่วโมงการทำงาน การลากิจ ลาป่วย การคำนวณค่าแรง สลิปเงินเดือน และรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับพนักงาน และเช่นเคย Pagarkhata App ถูกพัฒนาให้ใช้งานง่ายเหมือน 2 แอปฯ ที่ผ่านมา มีภาษาให้เลือกดาวน์โหลดถึง 13 ภาษา รวิชกล่าวว่า Pagarkhata ถือเป็นจิ๊กซอว์ที่จะทำให้ SME อินเดียเข้าสู่ธุรกิจแบบดิจิทัลเต็มตัว
ต้องยอมรับว่าระยะเวลาไม่ถึง 2 ปีกับการเปิดตัว 3 แอปพลิเคชัน มีพนักงานในสังกัดกว่า 100 ทีม และกำลังขยายทีมเพิ่ม นับได้ว่า Khatabook เป็น Startup ที่เติบโตเร็วมาก สำหรับแผนในอนาคตที่รวิชวางไว้ในอีก 5 ปีข้างหน้าคือ การผลักดันธุรกิจให้เติบโต 2-3 เท่าตัวโดยการแนะนำผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพิ่มมากขึ้นในการตอบสนองการใช้งานของลูกค้า โดยจะยังเน้นที่กลุ่ม SME เหมือนเดิม
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup