Tech Startup

สิงคโปร์เตรียมแจ้งเกิด Food-tech รายใหม่ได้ทุน 1.7 ล้านดอลลาร์พัฒนาเนื้อหมูทำจากขนุนขายสิ้นปี


Text : vim viva





     ต้องยอมรับว่าโปรตีนจากพืชเป็นเทรนด์อาหารที่ได้รับความนิยมต่อเนื่องมาหลายปี โดยมี Startup หลายรายนำร่องกรุยทางจนกลายเป็นกระแส อาทิ Beyond Meat และ Impossible Foods สองบริษัทที่ผลิตเนื้อสัตว์จากถั่วจนเป็นที่โด่งดังไปทั่วโลก สิงคโปร์ก็เป็นประเทศหนึ่งที่ให้ความสำคัญด้านเทคโนโลยีอาหาร และ “กรณะ” (Karana) ฟู้ดเทคสตาร์ทอัพของสิงคโปร์ก็เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่กำลังถูกจับตามองหลังจากที่ประสบความสำเร็จในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุน 1.7 ล้านดอลลาร์เพื่อต่อยอดในการดัดแปลงขนุนอ่อนทดแทนเนื้อหมู โดยคาดว่าจะวางตลาดได้ในปลายปีนี้   
               




     บริษัทกรณะก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2018 โดยแดน รีเกลอร์ และแบลร์ คริชตัน แรงบันดาลใจมาจากครั้งที่แดนไปลอนดอนแล้วได้ชิมทาโก้ไส้ขนุนอ่อนจากรถขายอาหารข้างทางเป็นครั้งแรก ทำให้เขาติดใจอย่างมากเพราะมีความใกล้เคียงกับเนื้อหมู เมนูดังกล่าวจุดประกายให้เขาครุ่นคิดเกี่ยวกับขนุนอ่อนมาตลอดว่าน่าจะต่อยอดไปเป็นเมนูอื่นได้ เนื่องจากแดนทำงานคลุกคลีกับ Startup หลากหลายสาขา ทั้งเกษตรกรรม ฟู้ดเทค และฟินเทค ทำให้รู้จักคนเยอะ เขาจึงตัดสินใจชวนแบลร์ซึ่งเคยทำงานกับ Impossible Foods และบริษัทอาหารหลายแห่งในซิลิคอน วัลเลย์มาทำธุรกิจด้วยกัน


    ทั้งคู่เปิดบริษัทกรณะ (Karana) ขึ้นที่สิงคโปร์ กรณะเป็นภาษาสันสฤตหมายถึง “การกระทำ” ถ้าเป็นภาษาบาลีจะเปรียบกับการสร้างสมดุลกับธรรมชาติเพื่อนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรือง แดนและแบลร์ รวมถึงทีมของเขาทั้ง 5 คนได้พัฒนาขนุนอ่อนให้มีรสชาติเหมือนเนื้อหมูและนำไปใช้ในเมนูต่าง ๆ อาทิ เป็นไส้ติ่มซำ ไส้ซาลาเปา และไส้บั๋นหมี่ (แซนด์วิชเวียดนาม) เหตุที่รังสรรค์ให้ทดแทนเนื้อหมูเนื่องจากคนเอเชียบริโภคโปรตีนจากหมูมากที่สุด และ กรณะวางแผนจะเน้นตลาดเอเชียเป็นอันดับแรกก่อน อย่างไรก็ตาม ในอนาคตจะมีการพัฒนาขนุนอ่อนให้ทดแทนเนื้อสัตว์อื่นมากขึ้นนอกเหนือจากหมู





     รายงานระบุแม้จะเป็นอาหารจากพืชเหมือนกัน แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้กรณะแตกต่าง คือแม้จะพัฒนาอาหารจากพืชเหมือนกันแต่ Startup ส่วนใหญ่ใช้พืชเศรษฐกิจ เช่น ถั่วเหลือง แป้งสาลี และมันฝรั่งที่ปลูกในเชิงอุตสาหกรรมและผ่านการแปรรูปอย่างมากซึ่งมีผลต่อสิ่งแวดล้อม ยกตัวอย่างการปลูกถั่วเหลืองที่ทำลายพื้นที่ป่ามากเป็นอันดับสองรองจากการเลี้ยงวัว ด้วยเหตุนี้ กรณะจึงเลือกใช้ขนุนที่นอกจากจะให้สัมผัสแบบเนื้อโดยธรรมชาติ ยังเป็นพืชที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ใช้พื้นที่หรือน้ำปริมาณมากในการปลูก และเป็นพืชยั่งยืน ทนทานเนื่องจากปลูกแทรกระหว่างพืชอื่น ๆ ได้


     ที่สำคัญขนุนเมื่อนำมาใช้ทดแทนเนื้อสัตว์ไม่จำเป็นต้องผ่านกระบวนการแปรรูปซับซ้อน หรือใช้เคมีแต่อย่างใด เรียกได้ว่าสามารถนำเนื้อขนุนเดิม ๆ มาปรุงก็ได้รสชาติและเนื้อสัมผัสแบบธรรมชาติ นอกจากกากใยอาหารสูง และเมื่อทานแล้วดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือดช้า ทั้งยังอุดมด้วยแร่ธาตุแมกนีเซียม และโปแทสเซียม ทั้งนี้ กรณะได้เสาะหาขนุนจากศรีลังกาโดยมีการติดต่อกับเครือข่ายเกษตรกรที่นั่นเพื่อจัดหาวัตถุดิบให้





      หลังจากที่ได้รับทุนสนับสนุน 1.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากบรรดาบริษัทร่วมลงทุนมา กรณะก็มีแผนจะจำหน่ายผลิตภัณฑ์เนื้อหมูทดแทนจากขนุนในปลายปีนี้ โดยลูกค้ากลุ่มแรกจะเป็นร้านอาหารต่าง ๆ และในปีหน้าจึงจะเริ่มวางจำหน่ายตามซูเปอร์มาร์เก็ตหรือร้านค้าปลีกทั่วไป ความสำเร็จเบื้องต้นครั้งนี้ส่งผลให้กรณะขึ้นแท่น  foodtech Startupที่ทำเนื้อสัตว์ทดแทนจากพืชเป็นแบรนด์แรกของสิงคโปร์


     แม้การระบาดของโควิดจะส่งผลกระทบต่อหลายอุตสาหกรรม แต่สำหรับกรณะ ยังไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใดวิกฤติไวรัสโควิด และไข้หวัดหมูทำให้เชื่อว่าผู้บริโภคจะหันหาอาหารทางเลือกจากพืชมากขึ้น อย่างในเอเชีย ราว 60 เปอร์เซนต์ของประชากรให้ความสนใจอาหารเพื่อสุขภาพทำให้ตลาดเนื้อสัตว์ทดแทนจากพืชเติบโตอย่างเห็นได้ชัดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ดังจะเห็นว่าเชนร้านอาหารชื่อดัง เช่น เคเอฟซี และแมคโดนัลด์ก็เริ่มนำเสนอเมนูจากพืชเป็นทางเลือกให้ลูกค้า อาหารจากพืชทดแทนเนื้อสัตว์จึงมีแนวโน้มจะเติบโตอย่างมีศักยภาพในอนาคต
 

อ้างอิง
https://vulcanpost.com/707756/karana-plant-based-pulled-pork-substitute-singapore/
https://www.climateandcapitalmedia.com/a-chat-with-karana-singapores-first-whole-plant-based-meat-brand/
https://futurefoodtech.com/interview-with-karana/
https://www.theedgesingapore.com/options/food/jackfruit-all-trades


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup