Tech Startup

ปั้นแอปหาคู่เกย์ยังไงให้ขึ้นแท่นบริษัทมีมูลค่า 2,600 ล้านบาท ในถิ่นที่รักร่วมเพศเป็นสิ่งต้องห้าม




Main Idea
 
  • ท้าทายขนาดไหนเมื่อต้องทำตลาดกับเรื่องประเด็นอ่อนไหว แต่ที่ทำให้อดีตตำรวจเจ้าของแอป Blued น้ำตาไหล ไม่ใช่เพราะมูลค่าบริษัทที่ทะยานพุ่งแต่เป็นเพราะได้รับแรงสนับสนุนอย่างมากมายจากชุมชนชาวเกย์ทั่วโลก
 
  • ทำให้เกิดแอปหาคู่ชาวเกย์รายอื่นๆ ตามมาอีก 10 กว่าแอปในจีน แต่โดยมากแล้วอยู่ไม่นาน และสามารถลอยลำเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้อย่างแอป Blued 
 


     ในประเทศที่รักร่วมเพศเป็นสิ่งต้องห้ามมาช้านานอย่างจีนแผ่นดินใหญ่ เป็นเรื่องที่คาดไม่ถึงเลยทีเดียวกับการแจ้งเกิดของแอปพลิเคชันหาคู่สำหรับชาวรักร่วมเพศโดยเฉพาะกลุ่มเกย์ นั่นก็คือแอป “Blued” ที่เพิ่งเป็นข่าวบนหน้าสื่อเซ็กชัน Startup ไปหลังจากที่เป็นแอปหาคู่เกย์แอปแรกที่ลอยลำเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ (แนสแด็ก) เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาและส่งผลให้บริษัท บลูซิตี้ โฮลดิ้งส์ ซึ่งเป็นเจ้าของแอป Blued มีมูลค่า 84.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 2,600 กว่าล้านบาท ในวันแรกที่เข้าตลาด





     “Blued” เป็นแอปหาคู่ชาวเกย์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในจีนโดยมีผู้ใช้งาน 6.4 ล้านคนต่อเดือนโดยเฉลี่ย ผู้ที่ก่อตั้งแอปดังกล่าวคือ Ma Baoli (หม่า เปาหลี่) อดีตนายตำรวจหนุ่มชาวจีนวัย 43 ปี เขาเล่าว่าระหว่างลั่นระฆังในวันที่บริษัทของเขาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์วันแรกนั้น เขาน้ำตาไหลด้วยความปลื้มปิติ ไม่ใช่เพราะมูลค่าบริษัทที่ทะยานพุ่งแต่เป็นเพราะได้รับแรงสนับสนุนอย่างมากมายจากชุมชนชาวเกย์ทั่วโลก


     ย้อนกลับไปช่วงทศวรรษ 2000 หม่าใช้ชีวิต 2 แบบ กลางวันเป็นนายตำรวจ กลางคืนแอบเป็นแอดมินเว็บเกย์แบบลับๆ แม้ว่ารักร่วมเพศจะไม่ใช่สิ่งที่ผิดกฎหมาย แต่ที่ผ่านมาสังคมจีนถือเป็นความผิดปกติทางจิตอย่างหนึ่ง และมักมีการเลือกปฏิบัติในสังคม หม่าก็เหมือนเกย์หลายคนที่แต่งงานแล้วแต่จะกล้าเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงก็เฉพาะในสังคมออนไลน์เฉพาะกลุ่มเท่านั้น





     หลังจากที่ชุมชนเกย์ที่หม่าก่อตั้งขึ้นเริ่มขยายกลุ่มใหญ่ขึ้น ความลับเกี่ยวกับตัวเขาเริ่มเปิดเผย และนั่นก็ทำให้เขาตัดสินใจลาออกจากการเป็นตำรวจเมื่อปี 2011 พร้อมกับย้ายไปปักกิ่งพร้อมมิตรสหายอีก 7 คนเพื่อตั้งบริษัท บลูซิตี้ และดำเนินธุรกิจเว็บเกย์ออนไลน์อย่างจริงจังอยู่หลายปี กระทั่งเกิดปรากฏการณ์การแพร่หลายของสมาร์ทโฟน หม่าเริ่มมองเห็นว่าโทรศัพท์มือถือจะเป็นเครื่องมือที่แผ้วทางไปสู่การสื่อสารแบบเรียลไทม์ เขาจึงหว่านเม็ดเงิน 50,000 หยวน (ราว 2.3 แสนบาท) เรียกว่าเทหมดหน้าตักเพราะเป็นเงินเก็บเกือบทั้งหมดในการพัฒนา Blued แอปพลิเคชันหาคู่สำหรับชาวเกย์ขึ้นมา


     Blued เวอร์ชันแรกพัฒนาโดยนักศึกษา 2 คนและการใช้งานยังห่างไกลความสมบูรณ์แบบ แต่แม้จะมีข้อผิดพลาดทางเทคนิกอยู่มากมาย แต่แอป Blued กลับได้รับการตอบรับและกลายเป็นไวรัล มีผู้ลงทะเบียนใช้งานกว่าครึ่งล้านราย และแล้วจู่ๆ ก็มีโทรศัพท์มาถึงเขาเสนอซื้อหุ้นบางส่วนในบริษัทในราคา 3 ล้านหยวน (ราว 15 ล้านบาท) แทนที่จะดีใจ หม่าซึ่งเป็นผู้ประกอบการมือใหม่กลับรู้สึกระแวงว่าอาจเป็นมิจฉาชีพ เพราะเขาไม่เข้าใจว่ามันมีด้วยหรือที่ใครคนหนึ่งจะยอมจ่ายเงินถึง 3 ล้านหยวนซึ่งเป็นจำนวนที่เยอะมากเพื่อซื้อหุ้นในบริษัทเล็กๆ ของเขา    





     แต่เมื่อเวลาผ่านไป หม่าเริ่มเข้าใจ และเปิดรับผู้ร่วมลงทุนมากขึ้น ธุรกิจดำเนินต่อไปด้วยดี จนถึงปี 2020 มูลค่าในตลาดของบริษัทบลูซิตี้ก็ไต่ไปสู่ 335 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1,000 ล้านบาทเศษ โดยมีผู้สนับสนุนรายใหญ่ อาทิ DCM Ventures จากซิลิคอน วัลเลย์ บริษัทชุนเหว่ย แคปิตอลในเครือเสี่ยวหมี่ และนิวเวิลด์ ดีเวลอปเมนต์ บริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่จากฮ่องกง ปัจจุบัน สำนักงานใหญ่ของบลูซิตี้ตั้งอยู่ที่กรุงปักกิ่ง และมีพนักงานในสังกัดกว่า 500 คน


     การนำร่องของแอป Blued ในสังคมจีนทำให้เกิดแอปหาคู่ชาวเกย์รายอื่นๆ ตามมาอีก 10 กว่าแอป แต่โดยมากแล้วอยู่ไม่นาน เช่น แอป Zank ซึ่งถือเป็นคู่แข่งรายสำคัญของ Blued ก็ถูกรัฐบาลปิดไปเมื่อ 3 ปีก่อน ส่วนแอป Rela ที่ได้รับความนิยมมากในกลุ่มเลสเบี้ยนก็ถูกถอดออกจากแอปสโตร์ทั้งแอนดรอยด์และแอปเปิล


     หม่าเผยว่าการตรวจสอบจากรัฐบาลถือเป็นเรื่องท้าทายสำหรับแอปพลิเคชันหรือธุรกิจที่เกี่ยวกับ LGBT เหตุผลที่แอป Blued อยู่รอดมาได้เพราะหม่าใช้กลยุทธ์ลู่ตามลม แทนที่จะแข็งข้อกับเจ้าหน้าที่ เขาเลือกโอนอ่อนผ่อนตามและให้ความร่วมมือเต็มที่เพื่อให้เป็นไปตามกฎระเบียบ “ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันในจีน การทำธุรกิจเกี่ยวกับ LGBT เป็นอะไรที่ไม่มีความแน่นอน ดังนั้น จึงต้องใช้ปัญญาในการบริหาร และจัดการกับระเบียบต่างๆ   
 




     หม่าใช้วิธีสร้างพันธมิตรกับเจ้าหน้าที่ เช่น เปิดเผยความยากลำบากของการเป็นตำรวจเกย์ที่ต้องคอยปกปิดตัวเอง เชื้อเชิญเจ้าหน้าที่ให้มาเยี่ยมชมสำนักงานของเขาในปักกิ่ง นอกจากนั้น เขายังให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในการรณรงค์และให้ความรู้เกี่ยวกับเพศศึกษาแก่สังคมชาวเกย์เพื่อควบคุมการระบาดของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และการแพร่เชื้อเอชไอวี 


     สิ่งหนึ่งที่หม่าให้ความร่วมมือกับรัฐบาลอย่างเต็มที่คือการลงทุนติดตั้งเทคโนโลยีเอไอเพื่อสอดส่องข้อความที่ผู้ใช้งานอัปโหลดลงบนแอปว่าต้องไม่มีเนื้อหาที่เกี่ยวกับเรื่องการเมือง ภาพลามกอนาจาร หรือประเด็นอ่อนไหวอื่น ๆ นอกจากใช้เทคโนโลยีคอยมอนิเตอร์แล้ว ยังมีพนักงานทำหน้าที่สอดส่องอีกแรงกันเล็ดลอด ซึ่งนั่นก็มีเสียงสะท้อนจากผู้ใช้งานว่ากฎเหล็กที่เข้มงวดไปทำให้พวกเขาไม่สามารถแสดงออกอย่างเสรี


     สำหรับแอป Blued ผู้ที่มีอายุเกิน 18 ปีเท่านั้นจึงสามารถดาวน์โหลดเพื่อใช้งาน ปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียนเพื่อใช้งาน แล้วราว 54 ล้านคน แม้จะเริ่มต้นด้วยการเป็นแอปหาคู่ แต่ Blued ก็เสริมด้วยบริการต่างๆ ตั้งแต่บริการตรวจหาเชื้อเอชไอวีไปจนถึงบริการหาแม่อุ้มบุญให้คู่เกย์ที่ต้องการมีลูก


     หลังประสบความสำเร็จในจีน บลูซิตี้ก็ขยายบริการไป 8 ประเทศ และในประเทศเอเชียที่กำลังพัฒนา แอป Blued ได้รับความนิยมมากกว่าแอป Grindr จากอเมริกาเสียอีก อย่างที่อินเดีย ยอดผู้ใช้ Blued สูงกว่า Grindr ถึง 3 เท่า ส่วนที่เวียดนาม ผู้ใช้ blued มีจำนวน 2.2 ล้านบัญชีเทียบกับ Grindr ที่มีเพียง 800,000 ราย เผ่ย โบ้ ผู้อำนวยการบริษัทออพเพนไฮเมอร์ บริษัทวิจัยอินเตอร์เน็ตในนิวยอร์กกล่าวว่าในประเทศกำลังพัฒนาเช่นในเอเชียและละตินอเมริกา ธุรกิจเกี่ยวกับเกย์ยังมีโอกาสอีกมากที่จะทำเงิน และตลาดเหล่านี้ก็เป็นเป้าหมายสำคัญของบลูซิตี้นั่นเอง
 

ที่มา
https://asia.nikkei.com/Business/Business-Spotlight/How-a-Chinese-gay-dating-app-blazed-a-trail-to-the-US-stock-market

 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup